กรุงเทพฯ--13 ต.ค.--ก.พลังงาน
นายพิชัย มีบัญชาให้กระทรวงพลังงานจัดตั้งวอร์รูม ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด หลังลงพื้นที่ตรวจเช็คระดับน้ำในเขื่อนภูมิพล
นายพชร นริพทะพันธุ์ โฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้มอบหมายให้นายณอคุณ สิทธิพงศ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในที่ประชุมเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วม การดำเนินการเพื่อช่วยเหลือส่วนที่เกี่ยวข้องของกระทรวงพลังงาน โดยได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย กรมธุรกิจพลังงาน เพื่อร่วมหารือ โดยมีประเด็นหลัก 4 ด้าน ได้แก่
ด้านที่ 1 เป็นเรื่องของการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง ทั้งน้ำมัน และ LPG ซึ่งในเบื้องต้นทราบว่ามีปัญหาที่หลักกิโลเมตรที่ 21-39 ทางหลวงสายเอเชีย แต่เนื่องจากมีทางเบี่ยง จึงทำให้ไม่มีปัญหาการขาดแคลน ด้านที่ 2 ด้านการติดตามสถานการณ์เชิงพื้นที่ ซึ่งครอบคลุมถึงการปิดจำหน่ายสถานีบริการน้ำมัน ซึ่งปัจจุบันปิดบริการ จำนวน 30 แห่ง ใน 10 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ จังหวัดอยุธยา จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดชัยนาท จังหวัดพิจิตร จังหวัดสุโขทัย จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดอ่างทอง ด้านที่ 3 ด้านการเฝ้าระวังระดับน้ำในเขื่อน โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพลที่ใกล้เต็ม และได้มีการสั่งการไปยัง กฟผ. ถึงกลยุทธ์ในการระบายน้ำของเขื่อนสิริกิติ์ ที่จะทำให้น้ำน่านลดลง เพื่อให้ระบายน้ำจากแม่น้ำยมออกไปได้ และด้านที่ 4 ได้มีการสั่งการให้ปตท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวบรวมตัวเลขการช่วยเหลือจัดทำบัญชีเข้าออกของอุปกรณ์ที่จะต้องนำไปช่วยเหลือ เพื่อให้เกิดการกระจายการช่วยเหลืออย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ได้มีการมอบหมายให้นายศิริศักดิ์ วิทยอุดม รองปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นผู้ประสานงานหลักในการติดตามสถานการณ์ภาพรวม และได้มอบหมายให้นายอำนวย ทองสถิตย์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการ เป็นผู้แทนหลักในการรวบรวมข้อมูลเชิงพื้นที่ ซึ่งนายอำนวย ได้แยกพื้นที่เป็น 4 ประเภท ตามแนวทางของกรมป้องกันสาธารณะภัย สำหรับความช่วยเหลือล่าสุดของกลุ่ม ปตท. ต่อผู้ประสบอุทกภัย ประกอบด้วย
- ถุงยังชีพ จำนวน 1,000 ชุด (ปตท.มอบให้นายกรัฐมนตรีที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ดอนเมือง)
- ถังก๊าซขนาด 7 กิโลกรัม จำนวน 50 ใบ (ปตท.มอบให้นายกรัฐมนตรีที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ดอนเมือง)
- ถังก๊าซขนาด 48 กิโลกรัม จำนวน 40 ใบ (มอบให้กับโรงครัวในพื้นที่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อทำอาหารแจก)
- เรือ จำนวน 1,000 ลำ
- สนับสนุนงบสำหรับเครื่องกรองน้ำ จำนวน 5,000 เครื่อง
- น้ำมันเบนซิน สำหรับเรือ จำนวน 1,000 ลิตร (มอบให้กองอำนวยการศูนย์อพยพ ศูนย์ราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อเติมเรือกู้ภัยในการอพยพประชาชนอย่างเร่งด่วนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ)
- ข้าวกล่อง จำนวน 12,000 กล่อง (วันที่ 9 และ 10 ตุลาคม 2554 วันละ 6,000กล่อง เป็นเบื้องต้น มอบให้กองอำนวยการศูนย์อพยพ ศูนย์ราชการ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)