กรุงเทพฯ--22 ธ.ค.--สวช.
ประเทศไทยของเราได้ถือเอา วันที่ 1 มกราคมของทุกปีเป็นวันขึ้นปีใหม่ ตามสากลนิยม ซึ่งแต่เดิมนั้นเรามีการเปลี่ยนแปลง วันขึ้นปีใหม่มา 4 ระยะแล้ว คือ ตามจารีตประเพณีของไทยแต่โบราณได้ถือวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ เป็นการสอดคล้องกับคติแห่งพระพุทธศาสนาที่ถือว่าฤดูเหมันต์เป็นการเริ่มต้นปี ต่อมาจารีตนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปตามคติพราหมณ์ จึงใช้วันขึ้น 1 ค่ำ เดือนห้า เป็นวันขึ้นปีใหม่ ครั้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการเปลี่ยนมาใช้ทางสุริยคติ จึงถือเอาวันที่ 1 เมษายนเป็นวันขึ้นปีใหม่มาตั้งแต่ พ.ศ.2432 ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงประกาศเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคมตามสากลนิยม ตั้งแต่ปี 2484 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน ตามประกาศลงวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2483 กล่าวไว้ว่า
"...อนึ่ง ได้มีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติ ปีประฏิทิน พุทธศักราช 2483 โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน พ.ศ.2483 และพระราชบัญญัตินั้นก็เป็นอันใช้ได้ ตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ.2483 เป็นอันว่า ทางรัฐนั้นได้ใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันเริ่มปีใหม่แล้ว..."
"...จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ คณะสงฆ์และอาณาประชา-ราษฎร์ทั้งมวลนิยมถือวันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ ให้ถือเป็นจารีตประเพณีของชาติแต่บัดนี้ เป็นต้น และขอให้ปีใหม่วันเริ่มขึ้นในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2484 นี้ จึงเป็นเวลารุ่งอรุณแห่งชาติ ให้ชาติไทยได้รับความเจริญและก้าวหน้าขึ้นสู่ความรุ่งโรจน์ใหญ่หลวง ให้อาณาประชาราษฎร์ทั้งปวงได้รับความร่มเย็น เป็นสุข เทอญฯ..."
ตั้งแต่นั้นมา ทางราชการและประชาชนชาวไทยจึงได้นิยมมีงานฉลอง "วันขึ้นปีใหม่" ในวันที่ 1 มกราคม กันอย่างครึกครื้นสนุกสนาน และทำสืบเนื่องมาเป็นประเพณีประจำ
โดยทั่วไปเกือบทุกชาติทุกภาษา ต่างก็มีความเชื่อถือสอดคล้องกันในเรื่องวันขึ้นปีใหม่ว่าเป็นช่วงที่ควรจะละทิ้งสิ่งต่างๆ ตลอดจนความรู้สึกในจิตใจที่ไม่ดีไปพร้อมกับปีเก่า และเริ่มต้นรับแต่สิ่งที่ดีในวันปีใหม่ โดยมีการมอบของขวัญ และพรปีใหม่ให้แก่กัน ความเชื่อเช่นนี้ในทางจิตวิทยาถือว่าเป็นการเลียนแบบธรรมชาติ ด้วยว่าโดยธรรมชาติเองก็ยังมีการคลี่คลายเบิกบานด้วยชีวิตใหม่ และโลกยังมีเวลาตกแต่งผิวพื้นใหม่ด้วยการผลิดอกออกใบแห่งพรรณพฤกษา มวลมนุษย์ก็ควรจะมีการปรับเปลี่ยนใหม่เช่นกันเพื่อให้เหมาะสมกับสมัย
สำหรับในปี 2547 ที่กำลังจะมาถึงนี้ หลายๆ คนอาจจะกำลังเตรียมของขวัญ บัตรอวยพรเพื่อมอบแก่บุคคลที่รักและระลึกถึง และหลายๆ คนก็อาจจะกำลังมองหาของขวัญหรือตั้งใจปฏิบัติสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่จะเป็นเสมือนพรพิเศษให้กับตนเอง ดังนั้น จึงขอเสนอให้ลองพิจารณาตัวอย่าง การเลือก ของขวัญ หรือ พรพิเศษ ที่ไม่ต้องเสียสตางค์ไปซื้อหามาแต่มีคุณค่ายิ่งให้ตนเอง ดังต่อไปนี้
ตั้งใจเป็นคนดี
ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็สามารถเป็นคนดีได้ในแบบฉบับของคุณ โดยอาจจะเริ่มต้นอย่างง่ายๆ ด้วยการเป็นคนมีเหตุผล รู้ว่าตนเป็นใคร มีฐานะ หน้าที่อะไรในสังคม ก็ปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามฐานะหน้าที่นั้นๆ ด้วยความพอดีทั้งทางกาย วาจา และใจ รู้จักคุณค่าของเวลา รวมทั้งปฏิบัติตัวให้เหมาะสม ถูกต้องกับขนบธรรมเนียมประเพณี เพียงเท่านี้คุณก็เป็นคนดีคนหนึ่งของสังคมได้อย่างภาคภูมิใจแล้ว...หรือพูดง่ายๆ ว่าคือการให้หลักอิทธิบาท 4 ในการเรียนและทำงานนั่นเอง
ตั้งใจเรียน หรือทำงานให้ประสบความสำเร็จ
ปัจจุบันการเรียน หรือการทำงานมีการแข่งขันกันสูง ดังนั้นการจะเรียน หรือทำงานให้ประสบความสำเร็จจึงต้องอาศัยปัจจัยหลายประการ นั่นคือ ต้องรัก หรือพอใจในวิชาที่เรียน หรืองานที่ทำก่อน จากนั้นก็ต้องพากเพียร เอาใจใส่ ใช้สติปัญญาไตร่ตรอง แก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วยความตั้งใจอย่างเต็มที่ก็จะประสบความสำเร็จได้ ดังคำกล่าวที่ว่า "รัก-พากเพียร-เอาใจใส่ เป็นเรื่องของ ความขยัน ส่วนการพิจารณาแก้ไขข้อบกพร่องเป็นเรื่องของ ความฉลาด...คนขยันแต่ขาดปัญญา มักประสบปัญหาในการทำงาน คนขยันมีวิจารณญาณทำกิจการใดก็สำเร็จ" เป็นของขวัญกล่องใหญ่ที่ต้องใช้ความตั้งใจสูง
ตั้งใจใช้เงินอย่างรู้คุณค่า
เงิน เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมากที่จะอำนวยความสุขสบายแก่ชีวิต เพราะฉะนั้นจึงเป็นเหตุทำให้ใครหลายคนยอมทำงานหนักเพื่อให้มีเงินมากถึงขั้นร่ำรวย เทคนิคพื้นฐานที่ใช้ในการสร้างความร่ำรวยจึงเริ่มที่การขยันทำมาหากิน รู้จักเก็บหอมรอมริบ รักษาเงินที่หามาได้ หากจะใช้จ่ายก็ให้เหมาะสมกับฐานะของตนไม่หรูหรา ฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น นอกจากนี้แล้วก็ควรคบมิตร หรือคนที่สามารถให้คำแนะนำ สนับสนุนเกื้อกูล แก่อาชีพของเราได้ด้วย หากทำได้เช่นนี้แล้วความเป็นเศรษฐีก็คงอยู่ไม่ไกล
ตั้งใจมีจิตใจที่ดี ด้วยการทำบุญ กุศล
คนเรามักนิยมทำบุญ กุศล ก็เพื่อความสบายใจ และให้เกิดความสุขความเจริญ ทั้งนี้เพราะการทำบุญ ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยทำให้คนมีจิตใจดี สะอาด เนื่องจากทำให้เราละความโลภ โกรธ หลง ไปได้บ้าง วิธิการทำบุญมี 3 วิธีใหญ่ๆ ได้แก่
1. ให้ทาน เป็นการแบ่งปันสิ่งของแก่คนอื่นเพื่อละความโลภ เห็นแก่ได้
2. รักษาศีล เพื่อควบคุมกาย วาจา ให้เรียบร้อย
3. เจริญภาวนา เป็นการอบรมจิตใจให้มั่นอยู่ในความดี และสร้างความฉลาดแก่จิต เพื่อละความหลงงมงาย ยึดติดในสิ่งผิดๆ
ให้ วัคซีนใจ แก่ตนเอง
การใช้ชีวิตของสังคมไทยในปัจจุบันนับวันจะมีความเครียดสูงขึ้น เพราะต้องพบเจอปัญหานานาประการอยู่ตลอดเวลา ทำให้คนเราเจ็บป่วยทางใจมากขึ้น เราจึงควรมีวิธีป้องกัน และเลือกดำเนินชีวิตเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันใจของเราเอง ให้สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข นั้นคือ
การดูแล รักษาจิตใจของตนให้แข็งแรง โดยอาจเริ่มต้นจากดูแลรักษาสุขภาพกายให้แข็งแรง ไม่ป่วยง่ายจากนั้นก็ทำจิตใจ อารมณ์ให้สดชื่นแจ่มใสอยู่เสมอ มีชีวิตชีวา ยิ้มง่าย หัวเราะง่าย ไม่มองตนเองและผู้อื่นในแง่ร้ายเกินไป รู้จักจัดการกับอารมณ์ของตนเองได้ หรือที่เรียกว่าเป็นผู้มี "วุฒิภาวะทางอารมณ์" และที่สำคัญที่สุดเมื่อเกิดเหตุการณ์ร้าย ปัญหาอุปสรรค ต้องรู้จักที่จะดูแล ฟื้นฟู และให้กำลังใจตนเอง เพื่อให้เข้มแข็งสามารถต่อสู้แก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างกล้าหาญ อย่าท้อถอย ยอมแพ้โดยง่าย หรือเสียใจมากเกินไปจนกระทั่งคิดทำร้ายตนเองหรือผู้อื่นเพราะเมื่อผ่านพันสถานการณ์ที่เลวร้ายไปได้ ก็จะเป็นประสบการณ์ชีวิตที่มีคุณค่าต่อเราตลอดไป
เชื่อมั่นได้ว่า การให้ของขวัญ และพรปีใหม่ แก่ตนเองเช่นนี้ จะทำให้ตลอดทั้งปี 2547 และปีต่อๆ ไปของคุณ มีแต่ความสุขความเจริญ ไม่เพียงแต่คุณเท่านั้น แต่จะแผ่รัศมีแห่งความสุขอบอวลไปถึงบุคคลที่อยู่รอบๆตัวคุณด้วย และหากคุณคิดว่าของขวัญกล่องนี้ หรือคำอวยพรปีใหม่นี้เป็นสิ่งที่ดีแล้วละก็...เชิญชวนคนที่คุณรัก หรือคนรู้จักมาร่วม ให้ของขวัญ และพรกับตนเองตั้งแต่วันปีใหม่ 1 มกราคม 2547 นี้กันเถิด
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กองกลาง สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม
โทร. 0 2247 0028 ต่อ 2204/2205--จบ--
-นท/รก-