กรุงเทพฯ--14 ต.ค.--สินธรณี พร็อพเพอร์ตี้
สมาคมรถเช่าไทย เผยเรื่องนโยบายรถคันแรก พอใจที่รัฐบาลไม่ขยายการช่วยเหลือไปมากกว่านี้ แม้กระทบธุรกิจรถเช่า แนะรัฐให้เข้ามาช่วย แต่คาดว่าภาพรวมโตได้ 10% พร้อมเตรียมงานแรลลี่การกุศล ชิงถ้วยประทาน ปลายต.ค นี้ มอบเงินการกุศล มูลนิธิชัยพัฒนา, สภากาชาดไทย และมูลนิธิเมาไม่ขับ
สมาคมรถเช่าไทย เผยนโยบายรถยนต์คันแรก ไม่เกิน 1,500 ซีซี. ส่งผลกระทบธุรกิจรถเช่า และรถมือสองอย่างมาก เน้นอยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยดูแล หวั่นว่าจะเกิดปัญหาตามมาจากมาตรการ พอใจที่รัฐบาลไม่ขยายการช่วยเหลือไปมากกว่านี้ แต่ยังหวังว่าภาพรวมธุรกิจโตได้ไม่ต่ำกว่า 10% เร่งสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานราชการ กระทรวงต่างประเทศและการท่องเที่ยวฯ และกิจกรรมเพื่อสังคม ล่าสุดจัด แรลลี่การกุศล ครั้งที่ 7 ชิงถ้วยประทาน พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ วันที่ 29 — 30 ตุลาคม เส้นทางกรุงเทพฯ — หัวหิน
คุณแก้วใจ เผอิญโชค แมคโดนัลด์ นายกสมาคมรถเช่าไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมของธุรกิจรถเช่า ซึ่งแหล่งของลูกค้าจะเป็นในส่วนของชาวต่างชาติและผู้ประกอบการภายในประเทศ ซึ่งคาดว่าในปีนี้และปีหน้าตลาดของชาวต่างชาติจะหดตัวลง ผลมาจากเศรษฐกิจของทางยุโรปหลายชาติและอเมริกาเกิดภาวะหดตัวอย่างรุนแรง ส่งผลให้สัดส่วนของชาวต่างชาติลดลง ซึ่งทางผู้ประกอบการธุรกิจรถเช่าต่างปรับตัวเปลี่ยนไปเจาะกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการ หรือเจ้าของบริษัทต่างๆ ที่หันมาเช่าใช้แทนมากกว่าการซื้อใช้ เนื่องจากสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาไปได้มาก และมีความคล่องตัวในการขยายธุรกิจได้เร็วกว่า จึงทำให้ยอดการเติบโตของธุรกิจรถยนต์เช่ามีจำนวนมากขึ้นประมาณ 10-15%
ผลจากการที่รัฐบาลได้ประกาศใช้นโยบายทางด้านภาษี โดยกำหนดเป็นมาตรการกระตุ้นทางด้านกลุ่มรถยนต์แบบประหยัด เพื่อต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยกำหนดให้ผู้ที่ซื้อรถยนต์คันแรกจะได้รับการลดภาษีรถยนต์คันแรกนั้น ต้องเป็นผู้ซื้อตั้งแต่วันนี้ - 31 ธันวาคม 2555 และเป็นรถที่ผลิตในประเทศ ขนาดไม่เกิน 1,500 ซีซี และราคาไม่เกินหนึ่งล้านบาท และรถกระบะที่ผลิตในประเทศไทยเช่นกัน ทั้งแบบตอนเดียว แคป หรือสี่ประตู โดยรัฐจะคืนเงินเท่าภาษีรถคันแรก จ่ายให้ตามจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้ ก็มีเงื่อนไขอื่นๆ จากนโยบายหรือมาตรการกระตุ้นนี้ ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์อย่างมากมาย รวมไปถึงธุรกิจรถเช่าก็ได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้ เนื่องจากผู้ประกอบการรถเช่าจะมีรายได้ที่ตกลงไปจากการขายรถที่รับคืนมาจากการปล่อยเช่า ซึ่งโดยปกติรถที่รับคืนมาทางผู้ประกอบการ จะขายรถที่ผ่านการเช่าไปแล้วให้กับผู้เช่าเดิมหรือขายให้กับเต็นท์รถมือสองในราคาซากรถ
ซึ่งตรงนี้เองที่ทำให้ธุรกิจรถเช่าจะได้รับผลกระทบ เพราะว่าราคาซากรถที่ขายจะถูกปรับลดลงไปมาก เนื่องจากส่วนลดภาษีที่ได้รับคืนไม่เกิน 100,000 บาท เป็นตัวค้ำราคาอยู่ ทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการมากขึ้น จากภาระค่าซ่อมแซม ค่าปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ต่างๆ ค่าภาษี ค่าประกันภัย และรถยนต์ทดแทน ส่งผลให้ราคาขายซากรถและราคาขายที่เป็นรถมือสองจะปรับลดลงไม่ต่ำกว่า 10-20% ทั้งนี้ ในภาพรวมทางสมาคมฯ อยากให้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือบริษัทรถเช่าด้วย เพราะถูกผลกระทบจากนโยบายนี้โดยตรง เช่น นำส่วนลดนี้ไปเป็นการลดหย่อนภาษีนิติบุคคลได้หรือไม่ รัฐบาลควรที่จะส่งเสริมธุรกิจรถเช่าและรถมือสองให้สามารถยืนหยัดได้ เพราะถือว่าเป็นธุรกิจอีกด้านหนึ่งของอุตสาหกรรมรถยนต์
ปัจจุบันสมาคมรถเช่าไทยมีสมาชิกอยู่ประมาณ 40 ราย ซึ่งนับว่ามีอัตราส่วนการให้บริการด้านธุรกิจรถเช่าที่เกี่ยวกับรถยนต์และรถตู้ มีส่วนแบ่งการตลาดทั่วประเทศรวมๆ ประมาณ 30% ถือว่าเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นประมาณ 15% เมื่อเทียบจาก 1-2 ปีก่อน โดยช่วงหลังค่อนข้างมีข่าวเกี่ยวกับอาชญากรรมเกี่ยวกับรถเช่ามากขึ้น สมาคมรถเช่าไทย จึงได้ร่วมมือกับทางศูนย์ป้องกันและปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์ กองบัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการสกัดจับผู้กระทำความผิดอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ซึ่งทางสมาคมฯ ก็ต้องขอขอบคุณสำนักงานตำรวจแห่งชาติมากที่ได้ช่วยเหลือติดตามรถยนต์กลับคืนมา
นอกจากนี้ทางสมาคมฯ ยังรับความไว้วางใจจากหน่วยงานของรัฐ เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มอบหมายให้สมาคมฯ เป็นแม่งานในการจัดโครงการไทยเที่ยวไทย โดยกำลังจะจัดประกวดการตั้งชื่อโครงการ ตอนนี้ใช้ชื่อโครงการว่า “ขับรถเที่ยวให้สนุก แวะเติมความสุขให้ทั่วไทย” กำหนดจัดระหว่างเดือนพฤษภาคม — ตุลาคม 2555 รวมไปถึงสมาคมฯ ได้ร่วมรณรงค์เรื่องยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว แผนการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ลดภาวะโลกร้อน เช่น รณรงค์เรื่องแนวคิด “7 Greens: ท่องเที่ยวสดใส ใส่ใจสิ่งแวดล้อม”
การเข้าร่วมประชุมกับกระทรวงการต่างประเทศ หารือประเด็นการเปิดเสรีภาคการค้าบริการ ภายใต้ JTEPA (Japan-Thailand Economic Partnership Agreement) หรือ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย — ญี่ปุ่น โดยมีจุดหมาย คือ การเปิดเสรีสินค้า บริการ และการลงทุนให้แก่กันและกัน ในระดับที่ต่างฝ่ายต่างรับได้ โดยมีกลไกแก้ปัญหาหากการเปิดเสรีส่งผลกระทบรุนแรง และสำหรับสินค้าบริการ การลงทุนที่ฝ่ายใดยังไม่พร้อมเปิดในขณะนี้ ยังสามารถเปิดเจรจาทบทวนเพิ่มเติมใหม่ได้ในอนาคต และความร่วมมือรวม 9 สาขา คือ เกษตร ป่าไม้ และประมง / การศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์/ การสร้างเสริมสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ / บริการการเงิน / เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) /วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี พลังงาน และสิ่งแวดล้อม / วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) / การท่องเที่ยว / การส่งเสริมการค้าและการลงทุน ซึ่งมีเรื่องครัวไทยสู่โลก อุตสาหกรรมเหล็ก ยานยนต์ สิ่งทอ และการประหยัดพลังงานเป็นหลัก โดยที่ความตกลงนี้มีกลไกทบทวนปรับปรุงในอนาคต หากฝ่ายใดต้องการบอกเลิกก็สามารถทำได้เพียงแค่แจ้งอีกฝ่ายล่วงหน้า 1 ปี และอีกกิจกรรมการกุศลที่สำคัญซึ่งทางสมาคมดำเนินงานขึ้นทุกปี คือการจัดกิจกรรมแรลลี่การกุศลของสมาคมฯ ที่จัดต่อเนื่องทุกปี ในปีนี้ได้จัดเป็นรูปแบบของการแข่งขันแรลลี่การกุศล สมาคมรถเช่าไทย ครั้งที่ 7 ชิงถ้วยประทาน พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ระหว่างวันเสาร์ที่ 29 — วันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม เส้นทางกรุงเทพฯ — หัวหิน จ. ประจวบคีรีขันธ์ (ค่าสมัคร 7,000 บาท/คัน) รถเข้าแข่งขันประมาณ 60 คัน ซึ่งในปีนี้ถือเป็นปีพิเศษ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 84 พรรษา จึงจะนำเงินที่ได้จากการจัดแรลลี่การกุศล มอบให้แก่มูลนิธิชัยพัฒนา นอกเหนือจากที่จะบริจาคให้แก่สภากาชาดไทย และมูลนิธิเมาไม่ขับ ตามที่ได้บริจาคให้ทุก ๆ ปี
คุณแก้วใจ กล่าวต่อท้ายว่า สำหรับตลาดรถเช่าของประเทศไทยมีมูลค่าทางการตลาดประมาณ 2.0 — 2.2 หมื่นล้านบาทต่อปี ส่วนการขยายตัวของมูลค่าสินทรัพย์รวมในตลาดรถเช่า ประเภทรถตู้และรถยนต์ น่าจะมีอัตราเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10-15 จากปีก่อน ที่คาดว่าจะมีรถเช่าที่ให้บริการทั่วประเทศประมาณ 120,000 คัน ที่มีมูลค่าสินทรัพย์ทางธุรกิจโดยรวมประมาณ 1.5 แสนล้านบาท