ธนาคารโลก รายงานการติดตามสถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย 2546

ข่าวทั่วไป Tuesday December 23, 2003 10:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ธ.ค.--ธนาคารโลก
การจัดการกับขยะและของเสียอันตรายในประเทศไทย
รายงานการติดตามสถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย 2546 แจงประเด็นท้าทายและโอกาส
ปัจจุบันประเทศไทยผลิตขยะเป็นปริมาณถึง 22 ล้านตันต่อปี โดยเป็นขยะจากบ้านเรือน อุตสาหกรรม ธุรกิจ และโรงพยาบาล ซึ่งปริมาณขยะมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีกในปีต่อๆไปเนื่องจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งขับเคลื่อนจากการบริโภคและส่งออก โดยในรายงานการติดตามสถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทยระบุว่าหากแนวโน้มการขยายตัวยังเป็นเช่นนี้และประกอบกับอัตราการรีไซเคิลที่ยังต่ำอยู่จะทำให้ปริมาณขยะของเทศบาลเพิ่มขึ้นอีกประมาณร้อยละ 25 และของเสียอันตรายเพิ่มขึ้นอีกถึง ร้อยละ 35 ภายในสิ้นทศวรรษนี้
รายงานการติดตามสถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย ฉบับปี 2546 ซึ่งจัดพิมพ์เป็นฉบับที่ 4 ได้ติดตามแนวโน้มสถานการณ์ สิ่งแวดล้อมของประเทศและตรวจสอบประเด็นการจัดการขยะและของเสียอันตราย
ดร. ปลอดประสพ สุรัสวดี ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมกล่าวในงานประชุมเผยแพร่รายงานว่า "การจัดการขยะและของเสียอันตรายนับว่าเป็นปัญหาที่สำคัญของชุมชนเมืองและภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย ถึงแม้เราจะมีความก้าวหน้าอย่างมากในการจัดการปัญหานี้ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีภารกิจเหลืออีกมากที่จะต้องดำเนินการต่อไป"
"รายงานการติดตามสถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทยฉบับใหม่นี้มีจุดมุ่งหมายที่จะให้ภาพรวมของแนวโน้มในเรื่องขยะและของเสียอันตรายที่ชัดเจนขึ้นแก่ผู้กำหนดนโยบายและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งนำเสนอนโยบายทางเลือกเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องพิจารณานำไปพัฒนาเป็นกลยุทธ์ในการจัดการกับปัญหาที่สำคัญนี้" Ian Porter ประธานธนาคารโลกประจำประเทศ ไทยกล่าว รายงานการติดตามสถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทยระบุถึงความท้าทายในอนาคต 6 ประการ และนำเสนอทางเลือกของนโยบาย เพื่อจะสามารถเอาชนะความท้าทายเหล่านี้ การนำขยะมาแปรรูปใช้ใหม่และการลดขยะ: ในขณะที่อุตสาหกรรมประสบความสำเร็จในการสร้างตลาดสำหรับวัสดุที่จะนำไปแปรรูปใช้ใหม่(รีไซเคิล)ได้ เช่น แก้ว กระดาษ เหล็ก และพลาสติก แต่ในแต่ละปีขยะและของเสียจากครัวเรือนและธุรกิจที่ยังสามารถนำไปแปรรูปใช้ใหม่ได้อีก มากกว่า 4.5 ล้านตันซึ่งมีมูลค่าถึงประมาณ 16,000 ล้านบาทได้ถูกนำไปทิ้ง การใช้โอกาสจากการรีไซเคิลขึ้นอยู่กับการใช้มาตรการจูงใจที่มีประสิทธิภาพและการสร้างจิตสำนึกเพื่อการคัดแยกขยะและนำขยะมาแปรรูปใช้ใหม่ในครัวเรือน รวมทั้งการพัฒนาโครงการนำขยะแปรรูปมาใช้ใหม่ซึ่งนำโดยภาคธุรกิจเอกชนและชุมชน พร้อมกับการคุ้มครองความเป็นอยู่ของผู้ขุดคุ้ยขยะนอกระบบซึ่งดำรงชีวิตด้วยการค้าขายขยะที่สามารถนำมาแปรรูปใช้ใหม่ได้ การนำมาตรการจูงใจทางเศรษฐศาสตร์ต่างๆมาใช้ เช่น การเก็บภาษีบรรจุภัณฑ์ จะมีผลอย่างมากต่อการผลิตขยะและค่าใช้จ่าย ในการกำจัดขยะ ตัวอย่างเช่น การลดขยะที่เป็นกระดาษและพลาสติกลงเพียงร้อยละ 25 จะทำให้จำนวนขยะทั้งหมดลดลงถึง 1 ล้านตันต่อปี ส่งผลให้สามารถประหยัดเงินค่าเก็บและกำจัดขยะได้ถึง 200 - 700 ล้านบาทต่อปี
จัดเก็บและกำจัดขยะจากชุมชนอย่างปลอดภัยและคุ้มค่า: รายงานฉบับนี้ได้ระบุว่า ปัจจุบันสถานที่กำจัดขยะของอำเภอเมืองของจังหวัดหลายแห่งยังไม่ถูกสุขลักษณะทำให้เป็นภัยต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัยในพื้นที่โดยรอบ เชื้อโรคอาจจะแพร่กระจาย ผ่านแมลงหรือหนูที่เป็นพาหะ หรือโดยการดื่มหรืออาบน้ำที่มีมลพิษจากขยะ ความเสี่ยงทางสุขภาพนี้จะรุนแรงมากขึ้น
โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่า ในแต่ละปีมีขยะจากชุมชนที่เป็นอันตรายถึง 70,000 ตัน และมีขยะติดเชื้อถึง 8,000 ตัน ซึ่งขยะเหล่านี้ถูกนำไปทิ้งรวมกับขยะประเภทอื่นๆจากชุมชน ดังนั้นความท้าทายที่แท้จริงจึงอยู่ที่การหาสถานที่กำจัดขยะที่ปลอดภัยและคุ้มค่าเพื่อที่จะจัดการกับขยะของเทศบาลต่างๆซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 1,100 เทศบาล การพัฒนาสถานที่กำจัดขยะภายในเทศบาลหรือร่วมกันระหว่างจังหวัดเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่น่าสนใจและมีศักยภาพที่จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการลงทุน การดำเนินการ และการบำรุงรักษาได้ถึงปีละกว่า 180,000 ล้านบาทภายในช่วง 2 ทศวรรษหน้า และยังสามารถช่วยในด้านการกำกับดูแลได้อีกด้วย
ลดช่องว่างของกฎระเบียบในการกำจัดของเสียจากอุตสาหกรรม: ประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างมากในการจัดการของเสียจากอุตสาหกรรมด้วยการก่อสร้างศูนย์กำจัดของเสียรวม รวมทั้งความสมัครใจของบริษัทส่งออกของไทยหลายบริษัทที่ได้ปรับปรุงการปฎิบัติงานให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามการบังคับใช้กฎระเบียบการบำบัดของเสียจากอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียวนั้นอาจยังไม่เพียงพอ การลักลอบทิ้งขยะและการกำจัดขยะที่ไม่เหมาะสมก็ยังเป็นปัญหา ทั้งนี้เนื่องจากการขาดการกำกับดูแลและการควบคุมให้ใบอนุญาตผู้ขนย้ายขยะและผู้ซื้อขายขยะตลอดจนบทลงโทษที่ไม่รุนแรงพอ ความท้าทายที่สำคัญคือการบังคับใช้กฎระเบียบในการกำจัดของเสียอย่างสม่ำเสมอและครอบคลุมต่ออุตสาหกรรมและผู้รับจัดการขยะและของเสีย รวมถึงการกำกับดูแลผู้ประกอบการขนส่งและผู้ค้าขายของเสียอย่างเข้มแข็ง
จัดให้มีการจัดการมูลฝอยติดเชื้อและของเสียอันตรายจากชุมชนอย่างปลอดภัย: ปัจจุบันมีของเสียอันตรายจากครัวเรือนและสถานประกอบการขนาดเล็กในชุมชนถึง 140,000 ตัน และมีมูลฝอยติดเชื้อจากโรงพยาบาลจำนวน 10,000 ตัน ที่ถูกกำจัดพร้อมไปกับขยะจากชุมชน หรือปล่อยลงท่อระบายน้ำเสีย หรือทิ้งโดยไม่มีการแยกประเภท การกระทำดังกล่าว ทำให้สถานที่ฝังกลบขยะที่มีการจัดการไม่เหมาะสมทั่วประเทศเป็นแหล่งอันตราย ความท้าทายเร่งด่วนคือการจัดทำแผนงาน เพื่อปรับปรุงการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อในโรงพยาบาลและการกำจัดของเสียอันตรายของเทศบาล ขณะเดียวกันในระยะยาวก็ต้องเน้นวิธีที่คุ้มค่าในการจัดตั้งระบบจัดการที่ยั่งยืนและปลอดภัย
ใช้ทรัพยากรเพื่อการจัดการขยะอย่างเหมาะสม: การปรับปรุงการบริหารจัดการขยะและของเสียอันตรายขึ้นอยู่กับการหาแหล่งเงินทุนที่ยั่งยืนสำหรับการลงทุนและค่าบริหารจัดการ ค่าธรรมเนียมที่เทศบาลจัดเก็บสำหรับการบริการเก็บขยะจะชดเชยค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการและบำรุงรักษาระบบการเก็บขยะและกำจัดขยะได้เพียงบางส่วนเท่านั้น ทั้งนี้ยังมีกลไกในการจัดหารายได้อื่นอีกที่จะสามารถช่วยในการปรับปรุงการคิดค่าบริการอย่างคุ้มทุน เช่น การเก็บค่าบริการเพิ่มในบิลค่าไฟฟ้า การเก็บภาษีบรรจุภัณฑ์ ภาษีนักท่องเที่ยว การเพิ่มค่าบริการจัดเก็บขยะ การปรับปรุงระบบการเก็บค่าบริการ การปรับปรุงระบบการจัดการขยะที่คุ้มค่าต่อการลงทุน และการสร้างสภาพแวดล้อมที่จูงใจให้ภาคธุรกิจเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนและร่วมดำเนินงานเป็นต้น
บทบาทที่มีประสิทธิภาพ: การจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนขึ้นอยู่กับบทบาทที่เอื้อต่อกันและกันของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นประชาชน ชุมชน รัฐบาลท้องถิ่น ภาคธุรกิจ และภาครัฐบาล ความริเริ่มของชุมชนที่ผ่านมานับได้ว่าประสบความสำเร็จในการให้ความรู้ความเข้าใจตลอดจนสร้างความตื่นตัวในการจัดการขยะตลอดจนส่งเสริมการนำขยะมาแปรรูปใช้ใหม่ การให้การสนับสนุนแก่ชุมชน และการพัฒนาการมีส่วนร่วมเพื่อสานต่อภารกิจที่มีการริเริ่มไว้ เช่น ธนาคารขยะ การช่วยกันทำความสะอาดชุมชน และกิจกรรมการมีส่วนร่วมและสร้างความตระหนักในระดับรากหญ้าต่างๆ เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอย่างฟุ่มเฟือยและสร้างเสริมพฤติกรรมการนำขยะแปรรูปมาใช้ใหม่
รายงานการติดตามสถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทยทั้งภาษาไทยและอังกฤษสามารถอ่านได้จากเว็บไซต์ข้างล่างนี้ โดยจะเผยแพร่ในวันอังคารที่ 23 ธันวาคม 2546 http://www.worldbank.or.th/monitor.--จบ--
-รก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ