กรุงเทพฯ--15 ต.ค.--สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี
14 ตุลาคม 2554 โรงแรมรีเจนท์ พาเลซ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี : ศูนย์ประสานงานสื่อสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชนภาคอีสาน(ศสอ.) ร่วมกับ สสย.มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก และ สสส. จัดเวทีตุ้มโฮมพลังเครือข่ายอีสาน ผลักดันกองทุนสื่อดี เชิญเครือข่ายสื่อหลายจังหวัดอีสานล่างร่วมระดมสมองร่างตุ๊กตา พรบ.สื่อสร้างสรรค์ฉบับใหม่ หวังเป็นกองทุนหนุนคนทำสื่อดีผลิตงานสร้างสรรค์แทนที่สื่อร้ายที่กำลังครอบงำสังคมอย่างหนัก
เนื้อหาของการประชุมครั้งนี้มีเป้าหมายอยู่สองอย่าง คือ 1.เป็นการให้ความรู้กับเครือข่ายถึงสถานการณ์ด้านสื่อในปัจจุบันและชี้ให้เห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นหากการจัดตั้งกองทุนนี้สำเร็จ 2.เป็นการหาแนวร่วมและแกนนำในการขยายแนวคิดนี้ให้ออกสู่วงกว้างมากขึ้น นั่นจะนำไปสู่การล่ารายชื่อ 1 หมื่นรายชื่อเพื่อเสนอร่าง พรบ.ต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งในช่วงเช้าได้รับเกียรติจาก อ.อิทธิพล ปรีติประสงค์ ผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล ได้มานำเสนอรูปแบบการดำเนินงานด้านสื่อสร้างสรรค์ที่เป็นระบบของต่างประเทศ ซึ่ง อ.อิทธิพล ในบางประเทศที่เจริญแล้วจะมีการทำวิจัยก่อนผลิตรายการจริงว่าสิ่งที่นำเสนอนั้นมีผลอย่างไรต่อผู้ชม ส่วนในประเทศไทยการทำสื่อยังเป็นแบบอิสระและมุ่งไปในทางธุรกิจจึงทำให้เกิดผลเสียต่อผู้รับสื่อที่ไม่มีวิจารณญาณในการรับชม หากมีกองทุนสื่อสร้างสรรค์ขึ้นมาก็จะมีการจัดระบบการผลิตสื่อให้มีความเหมาะสมต่อผู้รับสื่อ โดยอาจจะเป็นการสนับสนุนในรูปแบบ ให้เปล่า ให้ยืม ให้กู้ หรือร่วมลงทุนก็ได้ ตรงนี้จะต้องมีการพิจารณากันอีกที
นอกจากนั้นยังมีการเสวนาในหัวข้อ "สื่อดีพัฒนาเด็กและเยาวชนได้อย่างไร" มีตัวแทนจากหลายฝ่ายขึ้นแสดงความคิดเห็นโดยทุกคนบนเวทีเชื่อว่าสื่อที่ดีจะสามารถพัฒนาเด็กและเยาวชนได้อย่างแน่นอน
"ปัญหาที่ทำให้สื่อในปัจจุบันครอบงำเด็กและเยาวชนเกิดจากพ่อแม่ผู้ปกครองต้องออกไปทำงานนอกบ้านแล้วฝากให้ทีวีเลี้ยงลูก ซึ่งในปัจจุบันแม้จะมีการจัดเรตติ้งแต่เด็กก็ยังไม่สามารถแยกแยะได้อยู่ดี สิ่งนี้จะทำให้เด็กสมาธิสั้น เมื่อเขาโตขึ้นจะถูกชักจูงไปในทางเสียหายได้ง่ายขึ้น ฉะนั้นการปูพื้นฐานที่ดีจากพ่อแม่จึงเป็นเรื่องที่ดี โดยทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดี สร้างบรรยากาศภายในบ้านให้เป็นแหล่งเรียนรู้โดยเฉพาะเรื่องของการอ่าน ที่เชื่อว่ามีส่วนอย่างมากที่จะสามารถพัฒนาเด็กได้ดีที่สุด" อ.นพพร พันธุ์เพ็ง นักจัดรายการวิทยุชื่อดัง กล่าว
ส่วนในช่วงบ่ายมีการแบ่งกลุ่มตามลักษณะงานที่ทำอยู่เพื่อช่วยกันระดมแนวคิดในการจัดตั้งกองทุนสื่อ ทั้งเรื่องหน้าตา หน้าที่หรือโครงสร้างของกองทุนที่ควรจะเป็น ถึงแม้ในรายละเอียดที่ผ่านการระดมของแต่ละกลุ่มจะแตกต่างกันไปบ้างก็ตาม แต่ประเด็นหลักที่ประชาชนอยากเห็นกองทุนทำก็คือการสนับสนุนคนทำสื่อดีให้มีพลังในการทำงาน โดยเฉพาะเรื่องการสนับสนุนงบประมาณ ซึ่งหนึ่งในผู้เข้าร่วมจากจังหวัดอุบลราชธานีเสนอตัวเป็นพื้นที่นำร่องหากมีการจัดตั้งกองทุนจริงแต่หลังจากการนำเสนอในวันนี้แล้วทีมงานจะเอาข้อมูลกลับไปประมวลผลและทำเป็นฐานข้อมูลเรื่องความต้องการของคนในพื้นที่ เพื่อไปรวมกับพื้นที่อื่นๆที่จะมีการระดมความคิดเห็นไปทั่วประเทศซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปีหน้า
สำหรับบรรยากาศวันนี้มีประชาชนให้ความสนใจเดินทางมาร่วมจากหลายจังหวัดราว 80 คนซึ่งเกินเป้าที่ตั้งไว้ว่าอาจมีคนเข้าร่วมประมาณ 40 คน แต่ก็นับเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ประชาชนในวงการสื่อเกิดความตื่นตัวในการจัดตั้งกองทุนสื่อสร้างสรรค์ในครั้งนี้
ศสอ./ รายงาน