กบข. ร่วมกับ ธอส. ขยายระยะเวลาการยื่นกู้โครงการบ้าน ธอส. ครั้งที่ 2

ข่าวทั่วไป Monday January 5, 2004 11:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ม.ค.--กบข.
กบข. ร่วมกับ ธอส. ขยายระยะเวลาการยื่นกู้โครงการบ้าน ธอส. เพื่อที่อยู่อาศัยข้าราชการสมาชิก กบข. ครั้งที่ 2 ออกไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2547
นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการคณะกรรมการ กบข. เปิดเผยถึงเรื่องการขยายระยะเวลาในการยื่นกู้ โครงการบ้าน ธอส. เพื่อที่อยู่อาศัยข้าราชการสมาชิก กบข. ครั้งที่ 2 ว่า หลังจากที่ กบข. ได้ร่วมมือกับ ธอส. จัดสวัสดิการเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยดังกล่าว ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษระยะยาว มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2546 ที่ผ่านมา จนถึงเวลานี้ซึ่งใกล้จะสิ้นสุดโครงการแล้วว่า ที่ผ่านมายังมีสมาชิก กบข. อีกจำนวนหนึ่งราว 6,000 - 8,000 ราย ที่ยังไม่สามารถมายื่นกู้ในช่วงเวลาดังกล่าวได้ทัน ดังนั้นเพื่อเป็นการสนองตอบความต้องการให้กับสมาชิก กบข. กลุ่มดังกล่าว กบข. และ ธอส. จึงได้พิจารณาขยายระยะเวลาการยื่นกู้ในโครงการดังกล่าวออกไปจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2547 และขยายระยะเวลาในการทำนิติกรรมออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2547 เช่นเดียวกัน ดังนั้นหากสมาชิก กบข. ท่านใดที่ต้องการใช้สวัสดิการเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยในครั้งนี้ โปรดยื่นเอกสารเพื่อดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวด้วย
อนึ่งสำหรับสมาชิกกบข.รายใดที่ได้ยื่นกู้ในโครงการดังกล่าวไว้เรียบร้อยแล้ว ควรเร่งทำนิติกรรมให้แล้วเสร็จภายใน สิ้นปี 2546 นี้ เนื่องจาก สิทธิประโยชน์ทางภาษี และค่าธรรมเนียมบางรายการอาจมีการปรับเปลี่ยนภายในสิ้นปีนี้ หากต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อไปได้ที่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือที่ศูนย์บริการข้อมูลสมาชิก กบข. โทร 1179 กด 6
เรื่องราวน่ารู้จาก กบข.
ความหมายของ " หน่วยลงทุน " ในกองทุนรวม
เมื่อได้ทำความรู้จักกับกองทุนรวม และตัดสินใจแล้วว่าจะลงทุนในกองทุนนั้น จะต้องเริ่มจากการไปซื้อ " หน่วยลงทุน " ซึ่งในแต่ละกองทุนรวมจะมีการกำหนดขนาดของกองทุนไว้ เป็นมูลค่ารวมทั้งหมด และแบ่งออกเป็นหน่วยย่อย ด้วยมูลค่าเท่า ๆ กัน เรียกว่า " หน่วยลงทุน " เช่น โครงการกองทุนรวม ก. เสนอขายหน่วยลงทุน จำนวน 5,000,000 หน่วย มูลค่า 50,000,000 บาท มูลค่าที่ตราไว้หน่วยละ 10 บาท หมายความว่า โครงการกองทุนรวม ก. เสนอขายหน่วยลงทุนหน่วยละ 10 บาท
และถ้าไปซื้อหน่วยลงทุน หากเป็นกองทุนปิด ผู้ขายจะออก " ใบหน่วยลงทุน " ให้ไว้เป็นหลักฐาน สำหรับใช้เป็นเอกสารในการโอน กรณีต้องการขายเปลี่ยนมือภายหลัง แต่ถ้าเป็นกองทุนแบบเปิด หลักฐานที่จะได้รับ คือ " หนังสือรับรองสิทธิในหน่วยลงทุน" หรือ " สมุดบัญชีแสดงสิทธิในหน่วยลงทุน " ซึ่งจะคล้ายกับสมุดบัญชีเงินฝากที่สามารถนำไปปรับข้อมูลให้เป็นปัจจุบันเพื่อตรวจสอบตัวเลขที่เปลี่ยนแปลงในบัญชีได้เมื่อต้องการ
เก็บมาฝากสมาชิก กบข.
กู้เงินไปลงทุน
ในสภาพเศรษฐกิจทุกวันนี้ มีหลายคนบอกว่า ดอกเบี้ยเงินกู้ไม่สูงมากนัก ไม่ว่าจะเป็นการกู้เพื่อที่อยู่อาศัย หรือการนำเงินอนาคตมาใช้ในปัจจุบัน โดยสารพัดบริการเงินกู้ที่มีในปัจจุบันนั้น แล้วเราควรจะกู้เงินออกมาเพื่อไปลงทุนดีหรือไม่ เพราะดอกเบี้ยส่วนต่างที่ (คาดว่า) จะได้ในเวลานี้ดูว่าจะสูงและน่าจะเป็นการลงทุนที่ดี
เป็นธรรมชาติอยู่แล้วว่า แรงดึงดูดของโลกย่อมดึงดูดของให้ลงสู่พื้น เปรียบได้กับเงินที่มีธรรมชาติเช่นกันว่า เงินย่อมไหลไปสู่ที่ๆ ได้ผลตอบแทนการลงทุนดีเป็นธรรมดา ดังนั้น คนจึงเริ่มมีแนวคิดว่า กู้เงินไปลงทุนดีกว่า เพราะน่าจะได้ผลตอบแทนที่ดี
สำหรับการกู้เงิน ไม่ว่าจะกู้จากแหล่งใดก็ตามเพื่อนำไปลงทุนในเครื่องมือการลงทุนมากมายหลายประเภทนั้น "ย่อมเกิดผลดีตราบเท่าที่ผลตอบแทนลงทุนสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้" สิ่งเหล่านี้เราอาจเห็นได้จากสภาวะปัจจุบันที่ตลาดหุ้นกำลังเติบโต มีผู้คนอยากเข้าไป ลงทุนมากมาย และเมื่อใครได้รู้ได้เห็นว่ามีคนได้ผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นจำนวนมากมายในเวลาไม่นานนัก ก็อาจจะเกิดกิเลสว่า เพียงแต่เรามีเงินก้อนบ้าง เพียงเอาไปลงทุนอาจได้กำไรเช่นกัน ดังนั้น จึงมีคนคิดจะกู้เงินไปลงทุนไม่น้อย และอย่างที่บอกไว้แล้วว่า การกู้เงินไปลงทุนย่อมเกิดผลดีตราบที่ผลตอบแทนการลงทุนสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ดังนั้นพิจารณาให้รอบคอบด้วย
ในทางกลับกัน เมื่อภาวะเศรษฐกิจไม่เป็นใจ อะไรๆ ที่ล้มเหลว การกู้เงินเพื่อไปลงทุนอาจไม่ใช่ทางที่เหมาะสม เพราะเงินกู้ที่เราได้มา ก็ต้องเอาบ้าน เอาที่ดิน หรือสินทรัพย์อื่น ๆ ไปค้ำประกันไว้ เมื่อผลตอบแทนจากการลงทุนก็ไม่ได้ ดอกเบี้ยเงินกู้ก็ต้องจ่าย เมื่อไม่มีจ่ายก็ต้องถูกยึดทรัพย์นั้นๆ ไป กลายเป็นทุกข์อย่างยิ่ง
ทางที่ดีที่สุดสำหรับการลงทุนคือ เราควรเก็บออมเงินไว้ สำหรับใช้จ่ายให้เพียงพอ เมื่อออมเงินได้มากแล้ว ก็ศึกษาเรื่องการลงทุน เรื่องความเสี่ยง การยอมรับความเสี่ยงของตัวเรา แล้วค่อยไปลงทุน เริ่มต้นทีละเล็กน้อย แล้วค่อยเรียนรู้จากประสบการณ์ที่อาจจะมีทั้งบวกและลบ เพื่อให้เราไม่ผิดซ้ำอีก จะทำให้เราเป็นนักลงทุนที่มีความชำนาญได้ไม่ยาก
หากท่านมีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ :-
ศูนย์บริการข้อมูลสมาชิกโทร. 1179 กด 6 เพื่อติดต่อกับเจ้าหน้าที่โดยตรง
หรือ email: member@gpf.or.th
หรือฝ่ายสมาชิกสัมพันธ์กบข. ตู้ปณ. 19 ปณฝ. กระทรวงการคลัง กรุงเทพฯ 10411--จบ--
-รก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ