กรุงเทพฯ--5 ม.ค.--ที่ปรึกษากฎหมายสากล
โดย ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ
บริษัท ที่ปรึกษากฎหมายสากล จำกัด
paiboona@mail.ilct.co.th
หนังสือพิมพ์ เอเชียน วอลท์ สตรีท เจอร์นัล (Asian Wall Street Journal) ฉบับลงวันที่ 16 ธันวาคม 2546 ได้ตีพิมพ์เกี่ยวกับเรื่องสิทธิบัตรเทคโนโลยีการเผยแพร่ภาพและเสียงผ่านสื่อต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่สนใจของชาวอเมริกันเป็นอย่างมาก และอาจมีผลกระทบต่อธุรกิจการเผยแพร่ภาพและเสียงผ่านสื่อต่าง ๆ ทุกประเภททั่วโลกไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ ทีวี คอมพิวเตอร์ ฯลฯ กล่าวคือ บริษัท อคาเชีย รีเซิร์ช คอร์ป. (Acacia Research Corp.) อ้างว่าบริษัทตนเป็นเจ้าของสิทธิบัตรเทคโนโลยีการรับ-ส่งข้อมูลภาพ เสียงและการรับส่งข้อมูลผ่านระบบวีดีโอดิจิตอลทางสื่อประเภทต่าง ๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกา 5 สิทธิบัตรและสิทธิบัตรทั่วโลกมากกว่า 17 ประเทศ อคาเชีย วางแผนที่จะเรียกเก็บค่าใช้สิทธิ (royalty fee) ในสิทธิบัตรเทคโนโลยีการเผยแพร่ภาพและเสียงจากยาฮู (Yahoo) และ วอลท์ดิสนีย์และบริษัทที่เผยแพร่ออกอากาศผ่านทางอินเตอร์เน็ททั่วโลก โดยอัตราค่าใช้สิทธิในสิทธิบัตรของตนคิดเป็นอัตรา 4% ของรายได้จากการเผยแพร่ภาพและเสียงผ่านทางอินเตอร์เน็ทและสื่อประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภายในโรงแรม สถานี เคเบิ้ลทีวีผ่านดาวเทียม หรือ ระบบใด ๆ ทุกประเภท โดยอคาเชีย ได้เริ่มส่งหนังสือบอกกล่าวไปยังสื่อต่าง ๆ ให้ชำระค่าใช้สิทธิบัตรของตนโดยอ้างว่า บริษัท ดอทคอม รวมถึงบริษัทสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัย โรงแรมต่าง ๆ ได้ละเมิดสิทธิบัตรในการเผยแพร่ภาพและเสียงของตน ดังนั้น จึงต้องชำระค่าใช้สิทธิ ในสิทธิบัตรดังกล่าว มิจฉะนั้น จะดำเนินคดีตามกฎหมาย
จริง ๆ แล้วเรื่องราวเช่นนี้ เคยเกิดขึ้นเมื่อสองปีที่แล้วตอนที่บริษัท บีที หรือ (BT - British Telecom) ฟ้องร้องผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ทรายหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกาว่าละเมิดสิทธิบัตรในเทคโนโลยีไฮเปอร์ ลิงค์ (Hyper Link) และเรียกร้องค่าเสียหาย ท้ายที่สุดศาลอเมริกันมีคำพิพากษาว่า บีที ไม่มีสิทธิในการอ้างสิทธิบัตรในเทคโนโลยีการเชื่อมต่อระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์หรือไฮเปอร์ ลิงค์ เนื่องจาก สิทธิบัตรของ บีที เป็นการส่งข้อมูลสื่อสารในระบบคอมพิวเตอร์แบบเก่าจึงไม่มีสิทธิที่จะอ้างสิทธิบัตรการเชื่อมต่อระบบคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันเพื่อเรียกร้องค่าใช้สิทธิเพิ่มเติมแต่อย่างใด ข้อที่น่าพิจารณา คือ หากคดีดังกล่าวเกิดขึ้นในประเทศไทย สิทธิบัตรเกี่ยวกับการเผยแพร่ภาพและเสียงดังกล่าวจะสามารถจดทะเบียนสิทธิบัตรในประเทศไทยได้หรือไม่
โดยหลักทั่วไปตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 การยื่นจดสิ่งประดิษฐ์เพื่อได้รับความคุ้มครองสิทธิบัตร ต้องมีองค์ประกอบที่ใช้ในการจดสิทธิบัตรกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา ดังนี้
มาตรา 5 ภายใต้บังคับมาตรา 9 การประดิษฐ์ที่ขอรับสิทธิบัตรได้ต้องประกอบด้วยลักษณะดังต่อไปนี้
(1) เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่
(2) เป็นการประดิษฐ์ที่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น และ
(3) เป็นการประดิษฐ์ที่สามารถประยุกต์ในทางอุตสาหกรรม
จากหลักเกณฑ์ดังกล่าว หาก อคาเชีย ต้องการได้รับความคุ้มครองสิทธิบัตรในสิ่งประดิษฐ์การเผยแพร่ภาพและเสียงดังกล่าว อคาเชีย ต้องพิสูจน์ว่าเทคโนโลยีการเผยแพร่ภาพและเสียงดังกล่าวมีความใหม่หรือมีการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น ในกรณีที่อคาเชียได้ยื่นจดทะเบียนสิทธิบัตรในต่างประเทศแล้ว อคาเชียต้องยื่นจดสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ภายในประเทศไทย ภายในระยะเวลา 12 เดือน นับจากวันที่จดทะเบียนสิทธิบัตรครั้งแรกในต่างประเทศ มิจฉะนั้น สิทธิบัตรดังกล่าวจะไม่สามารถจดทะเบียนได้เพราะขาดความใหม่
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสิทธิบัตรดังกล่าวจะได้รับการจดทะเบียนในประเทศไทย กฎหมายสิทธิบัตรของไทย อเมริกาและหลักสากลก็มีหลักเกณฑ์ในเรื่องของการป้องกันการผูกขาดในเรื่องของเทคโนโลยี ซึ่งมีระบุไว้ในมาตรา 51 ของกฎหมายสิทธิบัตรของไทย ที่ให้อำนาจอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาในการนำสิทธิบัตรที่รับจดทะเบียนออกให้บุคคลอื่นเพื่อใช้ประโยชน์ในการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง หรือ วิจัย ได้ หรือ นำสิทธิบัตรดังกล่าวออกใช้เพื่อประโยชน์แก่สาธารณชนโดยเจ้าของสิทธิบัตรจะได้รับค่าตอบแทนตามสมควร
สุดท้ายนี้ คงต้องดูกันว่า ศาลอเมริกันจะว่าอย่างไร จะวินิจฉัยแนวเดียวกันกับคดี บีที หรือไม่ ความเห็นส่วนตัวของผมคิดว่า อคาเชียไม่น่าจะมีสิทธิเด็ดขาดในเทคโนโลยีดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว มิจฉะนั้น คงโกลาหลกันน่าดู อย่างไรก็ตาม คงต้องพิจารณาข้อถือสิทธิ (claim) ของสิทธิบัตรดังกล่าวเป็นหลัก สิ่งที่เห็นชัดเจนจากกรณีนี้ คือ ในยุคดิจิตัลการแข่งขันทางการค้าค่อนข้างสูง ดังนั้น ใครสามารถครอบครอง ผูกขาดหรือควบคุมสื่อเทคโนโลยีได้ บุคคลนั้นจะเป็นผู้ทำกำไรสูงสุดครับ--จบ--
-รก-