กรุงเทพฯ--17 ต.ค.--สสวท.
ระยอง…เมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก มีชายหาดสวยงามเป็นดินร่วนปนทราย ซึ่งสามารถปลูกต้นมะพร้าวให้เจริญเติบโตเป็นอย่างดี เด็กๆ เมืองระยองคุ้นเคยกับมะพร้าวกับตั้งแต่ยังเป็นลูกเล็กเด็กแดง ทั้งยังรู้ดีว่ามะพร้าวนั้นทั้งอร่อยและมีประโยชน์ วันนี้เราตามไปดูวัยซนโรงเรียนสาธิตเทศบาลนครระยอง (วัดตรีรัตนาราม) เรียนรู้บูรณาการจากพืชในท้องถิ่นอย่างมะพร้าว ตามแนวทางของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ใช้กระบวนการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ โดยวันนี้เด็กๆ ได้ศึกษาขั้นตอนการทำน้ำมันมะพร้าวด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
เริ่มตั้งแต่นำมะพร้าวมาปอกเปลือก ชั่งมวลมะพร้าว ผ่าออกเป็นสองส่วน แล้วนำภาชนะรองรับมะพร้าว ขูดมะพร้าวโดยใช้กระต่ายขูดมะพร้าว นำน้ำมะพร้าวมาผสมกับน้ำอุ่น บีบคั้นอาหารสะสมของมะพร้าวให้เป็นครีมสีขาว แล้วลองทำน้ำมันมะพร้าวแบบสกัดร้อน ในระหว่างการลงมือทำ คุณครูได้สอดแทรกความรู้ต่าง ๆ ทางวิทยาศาสตร์ และด้านอื่น ๆ ให้เด็กๆ ได้รู้และเข้าใจมากขึ้น
กิจกรรมนี้สามารถบูรณาการได้ครบทุกวิชา ทั้งภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย สังคมศึกษา วิทยาศาสตร์ และสุขศึกษา โดยเน้นในเรื่องของโภชนาการ และการนำผลผลิตที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
การเรียนการสอนที่ดำเนินการด้วยวิธีบูรณาการ เน้นไปที่องค์รวมของเนื้อหามากกว่าองค์ความรู้ ของแต่ละรายวิชา และเน้นที่ประสบการณ์การเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นสำคัญมากกว่าคำบอกเล่าของครู การเรียนรู้แบบบูรณาการจะทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมายมากขึ้น เกิดความตระหนักว่าเรียนวิทยาศาสตร์ในเนื้อหานั้น ๆ ไปเพื่ออะไร ช่วยให้เกิดความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่เรียน กับสิ่งที่ปรากฏในชีวิตจริงให้เห็นอย่างชัดเจน
คุณครูเคียงเดือน คชสาร ครูวิทยาศาสตร์โรงเรียนสาธิตเทศบาลนครระยอง (วัดตรีรัตนาราม) บอกกับเราว่าแนวทางที่ได้รับการอบรมจาก สสวท. นั้นคือกระบวนการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ นักเรียนได้ทำการทดลองและปฏิบัติจริงจนเกิดความรู้ความเข้าใจ มีเทคนิคการใช้สื่อใกล้ตัว สิ่งที่เห็นชัดเจนคือ ผู้เรียนมีความสุขกับการเรียนมากขึ้น เกิดความเข้าใจและตอบคำถามได้ดีขึ้น
“การจัดการเรียนรู้แนวทางนี้ของครู เป็นผลมาจากได้เข้ารับการอบรมหลักสูตรการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการของ สสวท. ซึ่งนอกจากจะนำความรู้ที่ได้มาใช้จัดกิจกรรมให้แก่นักเรียนแล้ว ยังได้ขยายผลต่อให้แก่เพื่อนครูโรงเรียนอื่น”
เด็กชายกิตติกร อมรินทโรวาท (ริว) ชั้น ป. 5 บอกว่า ชอบที่จะเรียนรู้ตามแนวทางนี้เพราะไม่ต้องเรียนจากหนังสืออย่างเดียว ได้รู้จักกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ คุณครูให้ทำการทดลอง ทำให้เราสนุกกับการเรียนมากขึ้น ไม่น่าเบื่อ กิจกรรมนี้ทำให้ได้รู้ถึงวิธีการสกัดน้ำมันมะพร้าวหลายวิธี ทั้งสกัดร้อน เย็นและสกัดแบบธรรมชาติ
เด็กหญิงมุทิตา ยอดคำ (พิง) ชั้น ป. 6 เล่าว่า กิจกรรมวันนี้คุณครูได้สอนวิธีการทำน้ำมันมะพร้าว และกระบวนการหลายอย่าง จะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ในวันนี้กลับไปลองทำน้ำมันมะพร้าวที่บ้าน หนูชอบเรียนวิทยาศาสตร์แบบที่มีการทดลองค่ะ
เด็กหญิงธิติสุดา ศิริพันธ์ (ชมพู่) ชั้น ป. 6 กล่าวว่า พ่อแม่ปลูกมะพร้าวไว้ในบริเวณบ้าน แม่นำมะพร้าวมาคั้นน้ำกะทิทำขนม คุณยายก็นำมะพร้าวมาทำอาหารบ่อย ๆ หนูจะได้ลองนำวิธีการที่ได้เรียนไปทำเองที่บ้าน เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำมัน หนูชอบเรียนวิทยาศาสตร์เพราะวิทยาศาสตร์ทำให้รู้เรื่องใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยรู้ ได้ทดลอง สนุก ไม่น่าเบื่อ แถมยังกระตุ้นให้เราเกิดความคิดใหม่ ๆ
เด็กชายพรพิพัฒน์ ละม่อม (ไอซ์) ชั้น ป. 6 ซึ่งช่วยคุณครูปอกมะพร้าวอย่างคล่องแคล่ว บอกว่า ที่ทำเป็นเพราะได้ช่วยตายายปอกมะพร้าว ขูดมะพร้าวบ่อย ผมได้รู้ว่ามะพร้าวที่ผมปอกสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ซึ่งน้ำมันมะพร้าวนอกจากจะกินได้แล้ว ยังสามารถนำไปเป็นยารักษาโรคได้ด้วย ตอนนี้ผมกำลังต่อยอดทำการศึกษาทดลองทางวิทยาศาสตร์นำสารสกัดสมุนไพร เช่น ขมิ้น ไพลมาผสมกับน้ำมันมะพร้าวเพื่อใช้ทาผิวหนังด้วยครับ
สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง การดำเนินชีวิตประจำวัน การแก้ปัญหา หรือการตัดสินใจ อาจต้องใช้ความรู้ และทักษะจากหลายสาขาวิชาร่วมกัน การเรียนรู้แบบบูรณาการช่วยให้เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างองค์ความรู้ในรายวิชา และความสัมพันธ์ระหว่างองค์ความรู้วิชาต่างๆ กับชีวิตจริง นำไปสู่การเรียนรู้ที่มีความหมาย อย่างแท้จริง