พาณิชย์ทุ่มเต็มที่ สอ.เสาะหาโกดังรับฝากสินค้าเพื่อการส่งออกให้ผู้ประกอบการติดต่อด่วน โดยเฉพาะเอสเอ็มอี-โอท็อป ผนึกสถาบันการเงิน-ทูตพาณิชย์ วางแผนช่วยหลังน้ำลด

ข่าวทั่วไป Monday October 17, 2011 15:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ต.ค.--กรมส่งเสริมการส่งออก จากกรณีน้ำท่วมในกว่า 20 จังหวัดของไทย ส่งผลทำให้วัตถุดิบสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมไม่สามารถป้อนเข้าโรงงานผลิตได้ รวมถึงเส้นทางการขนส่งถูกตัดขาด ระบบโลจิสติกส์ไม่สมบูรณ์นั้น นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากจากน้ำท่วมโดยตรงจนผลิตสินค้าต่อเนื่องไม่ได้ ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารที่มีพื้นที่เพาะปลูก เพาะเลี้ยง และ สินค้าโอท็อปที่ไม่มีโรงงานเป็นกิจลักษณะ หรือสินค้าที่ต้องใช้วัตถุดิบจากท้องที่ เช่น หนังสัตว์ รวมทั้งอุตสาหกรรมหนัก จำพวกชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดอยุธยา เช่น นิคมโรจนะ นิคมไฮเทค ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมเบา เช่น ไลฟ์สไตล์ เครื่องสำอาง ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นรายเล็กๆ จะได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากน้ำท่วมที่มีผลกับยอดสั่งซื้ออีกทีมากกว่าผลกระทบโดยตรง เช่น โรงแรมสั่งซื้อสินค้าน้อย เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงจากน้ำท่วม ซึ่งได้สั่งการให้ดำเนินการหาแนวทางการช่วยเหลือ บรรเทา ฟื้นฟูแล้ว “กรมฯ โดยสำนักโลจิสติกส์การค้าได้ประสานไปยังสมาคมต่างๆ เพื่อให้ทำการสำรวจคลังสินค้าของสมาชิกที่ยังมีพื้นที่ว่างสามารถให้บริการแก่ผู้ประกอบการที่ประสบภัยน้ำท่วมได้ และทางกรมฯ ได้รับแจ้งรายชื่อคลังสินค้าที่มีพื้นที่ว่างในการเก็บสินค้าได้ ดังนี้ เคลลี่ สยาม ซีพอร์ต(Kerry Siam Seaport), ฟาลคอน(Falcon), แอล.ซี.บี.อีเทิร์น ดีเวลลอปเม้นท์(L.C.B. Eastern Development), เจดับบิวดี ( JWD W/H), ลักกี้( Lucky), ดีดี พร็อพเพอร์ตี้( DD Property), เอส.เอ็น. แอสเซท ดีเวลลอปเม้นท์( S.N. Asset Development), อีเก้ล แอร์แอนด์ซี ไทยแลนด์( Eagle Air&Sea Thailand) และ แทค โอเซียน เฟรด(TAC Ocean Freight) และทางกรมฯ จะเร่งประสานกับองค์กรและหน่วยงานที่อาจมีพื้นที่ว่างที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ เช่น การท่าอากาศยาน การท่าเรือ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาต่อไป”นางนันทวัลย์ กล่าว สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ได้ประสานงานและประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งได้หารือกับธนาคารกสิกรไทย ซึ่งมีเครือข่ายสมาชิกผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอี — โอท็อป กว่า 400,000 ราย โดยธนาคารแจ้งว่า กำลังดำเนินการยกร่างมาตรการโครงการที่จะใช้เป็นแนวทางให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัย อาทิ การชะลอการชำระหนี้ การพักชำระเงินต้น มาตรการให้กู้ยืมเพื่อฟื้นฟูภายหลังอุทกภัย พร้อมทั้งยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับกรมฯ ในการลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งได้ประสานงานกับสคร. หรือทูตพาณิชย์ เพื่อเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ซื้อและนักธุรกิจในต่างประเทศกลับมา “ได้ดำเนินการประสานกับผู้ประกอบการในแต่ละกลุ่มสินค้า เพื่อประเมินความเสียหายเบื้องต้น ตลอดจนผลกระทบในแต่ละกลุ่มสินค้า พร้อมสรุปรายชื่อภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ โดยจะแจ้งให้กรมฯ ทราบเพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือต่อไป ผู้ประกอบการที่สนใจอยากทราบข้อมูลเพิ่มเติมสารมารถติดต่อได้ที่สำนักโลจิสติกส์การค้า กรมส่งเสริมการส่งออก โทร. 02-507-8427 หรือสายด่วน Call Center 1169” นางนันทวัลย์ กล่าว อย่างไรก็ดีในข่าวร้ายก็ยังมีข่าวดีอยู่ด้วย ล่าสุดได้รับรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโกว่า สหรัฐอเมริกาได้ต่ออายุจีเอสพี หรือ โครงการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร ให้สิทธิกับประเทศไทย โดยส่งสินค้าไปสหรัฐฯจะไม่เสียภาษีศุลกากรนำเข้า ไปจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2556 และให้มีผลบังคับย้อนหลังไปตั้งแต่ 31 ธันวาคม 2553 ซึ่งส่งผลดีต่อสินค้าไทยหลายรายงาน เช่น เฟอร์นิเจอร์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เตาอบไมโครเวฟ เลนซ์แว่นตา เป็นต้น นางอัญชลี พรหมนารท รองอธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ประสานงานกับภาคเอกชน เพื่อประเมินสถานการณ์และผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม และสั่งการให้สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ(สคร.) ชี้แจงให้ความมั่นใจกับประเทศผู้ซื้อว่า ไทยสามารถควบคุมเรื่องการส่งมอบสินค้าได้ตามปกติ แต่ยอมรับว่าสถานการณ์น้ำท่วมกระทบต่อผู้ซื้อและผู้เข้าร่วมงานแสดงสินค้าในไทยบ้างแล้ว โดยน้ำท่วมไม่น่าจะกระทบตัวเลขการส่งออกปีนี้ที่ 20% แต่อาจจะต้องทบทวนตัวเลขเป้าหมายปีหน้า ที่ตั้งไว้ 15% เพราะความเสียหายเกิดขึ้นหลายจุด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ