กรุงเทพฯ--18 ต.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือไอแบงก์ เร่งจัดทำมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ภายใต้โครงการ “ยิ้มสู้ฟื้นฟูอาชีพช่วยเหลือผู้ประสบภัย” โดยมี 3 มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
ตามที่ได้เกิดเหตุอุทกภัยขึ้นภายในประเทศอย่างฉับพลันเป็นบริเวณกว้าง ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะในพื้นที่ทั้งทางภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลางรวมถึง กทม.ซึ่งน้ำเริ่มเข้าท่วมหลายเขตแล้วในปัจจุบัน โดยเกิดความเสียหายแล้ว รวม 30 จังหวัด ในฐานะที่กระทรวงการคลังซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือ ไอแบงก์ จึงได้มอบนโยบายในการเร่งหามาตรการเพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในครั้งนี้อย่างเร่งด่วนและทันท่วงที โดยได้ออกโครงการ ”ยิ้มสู้ฟื้นฟูอาชีพช่วยเหลือผู้ประสบภัย” เพื่อต้องการแบ่งเบาภาระและให้การช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบแก่ประชาชนโดยทั่วไปและลูกค้าของธนาคารทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1.เพื่อใช้ในการซ่อมแซม ปรับปรุง รื้อถอน หรือสร้างใหม่ในทรัพย์สินและหรือสิ่งปลูกสร้างใดๆของผู้ที่ได้รับความเสียหายทั้งทางตรงและทางอ้อม
2.เพื่อใช้เป็นเงินช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉินอันเนื่องมาจากได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ
3.เพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องทางรายได้และธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ
โดยการจัดโครงการดังกล่าวได้เตรียมออกมาตรการในการช่วยเหลือ รวม 3 มาตรการด้วยกัน คือ
มาตรการที่1 สำหรับลูกค้ารายเดิมที่ไม่ประสงค์จะขอวงเงินสินเชื่อที่ได้รับความเสียหายทั้งทางตรงและทางอ้อม จะได้รับการพักชำระทั้งเงินต้นและกำไร (พักชำระหนี้) เป็นเวลา 3 เดือน หลังจากนั้นเดือนที่ 4 — 6 ชำระเฉพาะอัตรากำไรเท่านั้น ส่วนเดือนที่ 7- 24 ชำระหนี้ตามปกติ โดยคิดอัตรากำไรต่ำกว่าสัญญาเดิม 1% และหลังจากเดือนที่ 25 หรือเข้าปีที่ 3 ธนาคารจะคิดอัตรากำไรตามปกติ
มาตรการที่ 2 สำหรับลูกค้ารายเดิมที่ประสงค์จะขอวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติม สามารถแบ่งประเภทสินเชื่อ ได้ดังนี้
- สินเชื่อเพื่อก่อสร้าง ซ่อมแซม/ต่อเติม ที่อยู่อาศัยและสินเชื่อเพื่อการก่อสร้าง ทรัพย์สินและสินเชื่อวงเงินทุนระยะยาว สามารถปลอดการชำระเงินต้นสูงสุดได้ไม่เกิน 6 เดือน และคิดอัตรากำไรเริ่มต้นที่ SPRL — 1.50% ในปีแรก
- สินเชื่อวงเงินทุนหมุนเวียน และเบิกถอนเงินสด วงเงินสินเชื่อเกิน และไม่เกิน 20 ล้านบาท คิดอัตรากำไรเริ่มต้นที่ SPRR — 0.5% ในปีแรก
- สินเชื่อวงเงินเอนกประสงค์ กรณีใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน สามารถปลอดการชำระเงินต้นสูงสุดได้ไม่เกิน 6 เดือน และคิดอัตรากำไรเริ่มต้นที่ 5% ในปีแรก และกรณีใช้บุคคลค้ำประกัน สามารถปลอดการชำระเงินต้นสูงสุดได้ไม่เกิน 3 เดือน และคิดอัตรากำไรเริ่มต้นที่ 1% ใน 3 เดือนแรก
มาตรการที่ 3 สำหรับลูกค้ารายใหม่ที่ประสงค์จะขอวงเงินสินเชื่อ สามารถแบ่งประเภทสินเชื่อ ได้ดังนี้
- สินเชื่อเพื่อก่อสร้าง ซ่อมแซม/ต่อเติม ที่อยู่อาศัยและสินเชื่อเพื่อการก่อสร้างทรัพย์สินและสินเชื่อวงเงินทุนระยะยาว สามารถปลอดการชำระเงินต้นสูงสุดได้ไม่เกิน 6 เดือน และคิดอัตรากำไรเริ่มต้นที่ SPRL — 0.50% ในปีแรก
- สินเชื่อวงเงินทุนหมุนเวียน และเบิกถอนเงินสด วงเงินสินเชื่อเกิน และไม่เกิน 20 ล้านบาท คิดอัตรากำไรเริ่มต้นที่ SPRR ในปีแรก
- สินเชื่อวงเงินเอนกประสงค์ กรณีใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือบุคคลค้ำประกัน สามารถปลอดการชำระเงินต้นสูงสุดได้ไม่เกิน 3 เดือน และคิดอัตรากำไรเริ่มต้นที่ 2% ใน 3 เดือนแรก
ทั้งนี้ ระยะเวลาในการผ่อนชำระเริ่มต้นตั้งแต่ 1 ปี — 30 ปี ขึ้นอยู่กับประเภทของวงเงินสินเชื่อ โดยธนาคารเริ่มให้บริการแล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป (ปัจจุบัน SPRL = 7.75 % SPRR = 8.50%)
“และล่าสุดได้มอบนโยบายให้ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยดำเนินการช่วยเหลือโรงครัวอาหารฮาลาล 2 แห่ง บริเวณอนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตำบลภูเขาทอง ซึ่งเป็นศูนย์อพยพผู้ประสบอุทกภัยที่มีมุสลิมกว่า 2,000 คน และบริเวณศูนย์ราชการบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีมุสลิมที่ต้องการอาหารฮาลาลอยู่ประมาณ 1,500 คน โดยโรงครัวอาหารฮาลาลดังกล่าวจะจัดอาหาร 3 มื้อให้กับผู้ประสบอุทกภัยทุกวันจนกว่าน้ำในพื้นที่ดังกล่าวจะลด” รมช.คลังกล่าว
“นอกจากออกมาตรการช่วยเหลือน้ำท่วมในครั้งนี้แล้ว ไอแบงก์ก็ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยโดยการมอบเงินบริจาคในโครงการคลังรวมใจช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมเป็นเงิน 500,000 บาท พร้อมด้วยถุงยังชีพฮาลาล อีกเป็นจำนวน 5,500 ถุง เป็นเงินประมาณ 1,488,000 บาท ผ่านกระทรวงการคลัง เพื่อนำไปช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัยในจังหวัดลพบุรี และจังหวัดตาก ในสัปดาห์ที่ผ่านมา อีกทั้งยังได้สนับสนุนงบประมาณให้กับศูนย์ผู้ประสบภัยน้ำท่วม (ศปภ.) จำนวน 1,000,000 บาท และยังได้มอบถุงยังชีพฮาลาลในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนต่างๆ พร้อมกับบริจาคเงินให้แก่คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดอ่างทอง รวมเป็นเงินกว่า 3,300,000 บาท” รมช.คลังกล่าวทิ้งท้าย
สนใจมาตรการช่วยเหลือโครงการ “ยิ้มสู้ฟื้นฟูอาชีพช่วยเหลือผู้ประสบภัย” สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สาขาของธนาคารทั้ง 82 แห่งทั่วประเทศ หรือติดต่อ Call Center 1302
....ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารคุณธรรม อุ่นใจเมื่อใช้ไอแบงก์...