กรุงเทพฯ--18 ต.ค.--มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์
ทีมวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ SCG คว้ารางวัล “นักเทคโนโลยีดีเด่นประจำปี พ.ศ.2554” จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ระบุเป็นงานวิจัยที่มีประโยชน์มากต่อวงการแพทย์และวงการอุตสาหกรรมของประเทศ ชี้รางวัลนี้ตั้งขึ้นเพื่อให้คนในสังคมไทยเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีควบคู่ไปกับวิทยาศาสตร์พื้นฐาน และเป็นแรงกระตุ้นให้นักวิทยาศาสตร์ไทยมีกำลังใจในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศต่อไป
ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า รางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นจัดขึ้นเพื่อต้องการส่งเสริมความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของประเทศไทย และยกย่อง เชิดชูผู้ที่มีผลงานด้านเทคโนโลยี เพื่อเป็นแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่ยึดถือเป็นแบบอย่างต่อไป เพราะคนที่มีคุณภาพและความสามารถสูงเป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย
รองศาสตราจารย์ ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ประธานคณะกรรมการตัดสินรางวัลรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นและรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ กล่าวถึงเกณฑ์ที่ใช้ในการตัดสินรางวัลว่ามี 3 เกณฑ์หลักๆ คือ 1. ด้านประมาณและสาระโดยต้องเป็นผลงานที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อประเทศไทย 2. ระดับของการพัฒนาโดยจะพิจารณาว่าผลงานนี้สามารถใช้ประโยชน์ได้จริงแค่ไหน และ 3. พิจารณาถึงผลกระทบของสังคมไทยที่ไม่ใช่เฉพาะทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่รวมทั้งด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อมและการป้องกันภัยด้วย
โดยในปีนี้ได้รับความสนใจจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเป็นจำนวนมาก งานวิจัยที่เสนอชื่อเข้ามามีคุณภาพสูงมาก ทั้งเนื้อหาสาระและระดับความน่าสนใจที่ก่อให้เกิดประโยชน์ให้แก่สังคมไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะนักเทคโนโลยีดีเด่นทั้ง 2 รางวัลมีผลงานที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้สูงสุดทั้งในวงการอุตสาหกรรมและวงการแพทย์ ส่วนนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ทั้ง 2 ท่านก็มีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาต่อไปได้ในอนาคต
สำหรับในปีนี้ผู้ที่ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นมี 2 รางวัลคือ ทีมวิจัยจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้คิดค้นวัคซีนรักษาโรคภูมิแพ้จากไรฝุ่นขึ้นภายใต้ “โครงการพัฒนาการผลิตวัคซีนโรคภูมิแพ้จากไรฝุ่นที่ได้มาตรฐานของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล” และตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลศิริราชสามารถเพาะเลี้ยงไรฝุ่นคุณภาพดีได้ปริมาณมาก โดยเฉพาะไรฝุ่นในสายพันธุ์ Dermatophagoides pteronyssinus หรือ Dp และ Dermatophagoides farinae หรือ Df ซึ่งพบมากในประเทศไทย และสามารถเก็บเกี่ยวให้บริสุทธิ์ได้สูงกว่า 99 เปอร์เซ็นต์ และนำไรฝุ่นสายพันธุ์ดังกล่าวมาผลิตน้ำยาสกัดจากสารก่อภูมิแพ้และวัคซีนสำหรับตรวจและรักษาโรคภูมิแพ้ ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการตรวจรักษาผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ในประเทศ และทำให้สามารถตรวจรักษาผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ได้ทั่วถึงยิ่งขึ้น
และ ดร.เกรียงไกร สุขแสนไกรศร วิศวกรใหญ่ ฝ่ายวิศวกรรมและเทคนิค บริษัท เอสซีจี ซีเมนต์ จำกัด ที่ร่วมมือกับบัณฑิตวิทยาลัยด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) พัฒนาพลังงานทางเลือกที่เรียกว่า SCG Fluidized Bed Gasifier ที่ออกแบบขึ้นเพื่อรองรับกระบวนการผลิตก๊าซเชื้อเพลิงจากเชื้อเพลิงทดแทน และเชื้อเพลิงคุณภาพต่ำชนิดต่างๆ และนำไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในประเทศ ช่วยให้ประเทศไทยสามารถประหยัดงบประมาณการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศที่มีราคาสูงได้ 5 - 7 เท่า โดยปัจจุบันโครงการนี้ได้ขยายเข้าไปใช้ใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรมคืออุตสาหกรรม กระดาษ อุตสาหกรรมซีเมนต์และอุตสาหกรรมเซรามิก ซึ่งสามารถทดแทนการใช้ น้ำมันเตา ถ่านหิน หรือแก๊สธรรมชาติได้จำนวนมาก
ส่วนรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ในปีนี้มี 2 รางวัลคือ ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ หัวหน้าห้องปฏิบัติการไมโครอะเรย์แบบครบวงจร ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่ร่วมมือกับนักวิจัยของห้องปฏิบัติการไมโครอะเรย์แบบครบวงจร เพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิตไมโครอะเรย์ในประเทศไทย ถือเป็นเทคโนโลยีพื้นฐาน ใช้สำหรับการตรวจวิเคราะห์เชื้อชนิดต่างๆจากตัวอย่างจำนวนมากๆได้ในการตรวจเพียงครั้งเดียว ทำให้ประหยัดเวลาในการตรวจ และมีราคาถูกมีประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอาหารส่งออกและอุตสาหกรรมเกษตรเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังสามารถนำไปใช้พัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรโดยเฉพาะกุ้งกุลาดำ ช่วยแก้ไขปัญหาการเลี้ยงกุ้งของเกษตรกรได้อย่างตรงจุด ส่งผลให้สามารถฟื้นฟูและปรับปรุงอุตสาหกรรมการเลี้ยงและส่งออกกุ้งกุลาดำได้อย่างยั่งยืน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภินิติ โชติสังกาศ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับวิศวกรรมปฐพี 2 กลุ่ม กลุ่มงานแรกคือ เครื่องมือวัดหน่วยแรงของน้ำในช่องว่างดิน การวัดศักย์แรงดูดในดิน และการทดสอบที่เกี่ยวข้อง โดยมีการนำไปใช้ในงานวิจัยพื้นฐานและวิจัยประยุกต์ที่เกี่ยวข้องกับสมบัติทางกลศาสตร์ของดินและการไหลของน้ำในดิน รวมทั้งเผยแพร่สู่เครือข่ายนักวิจัยทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นที่สนใจอย่างมากเนื่องจากราคาถูกและใช้งานได้สะดวก และกลุ่มงานที่ 2 คือ ระบบเตือนภัยดินถล่มและการพัฒนาเกณฑ์การเตือนภัยดินถล่มและแนวทางการปรับปรุงเสถียรภาพของลาดดิน ที่สามารถนำผลการตรวจวัดแรงดันน้ำในดิน และการเคลื่อนตัวของลาดดิน ประยุกต์สู่เกณฑ์การเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากการใช้ปริมาณน้ำฝนในการเตือนภัยเพียงอย่างเดียว
รองศาสตราจารย์.ดร.ศักรินทร์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยนิยมนำเข้าเทคโนโลยีมาจากต่างประเทศ ส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดโลกมีข้อจำกัด ที่สำคัญคือทำให้คุณค่าของคนในประเทศต่ำลงไปด้วย แต่ปัจจุบันการลงทุนวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยเริ่มเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มภาคเอกชนหลายแห่งที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้น เพราะไทยไม่สามารถแข่งขันได้เรื่องแรงงานราคาถูกอีกต่อไป จึงมีความจำเป็นที่ต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นใช้เองรวมถึงบุคลากรทางด้านเทคโนโลยี เพื่อให้ก้าวทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก