กรุงเทพฯ--18 ต.ค.--แบงค์คอก ไรเตอร์
นาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้แถลงความก้าวหน้าในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยฯ ตามนโยบายนายกรัฐมนตรี ว่า ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการรองรับเหตุฉุกเฉินของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อทำหน้าที่ปฏิบัติและประสานงาน โดยมีรองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นประธาน และมีผู้แทนจาก กรมอุตุนิยมวิทยา สำนักงานสถิติแห่งชาติ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ร่วมเป็นคณะทำงาน และมีผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เป็นเลขานุการ
นอกจากนี้ยังได้จัดผู้แทนจากกรมอุตุนิยมวิทยาและศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เข้าปฏิบัติงานที่ศูนย์สนับสนุนอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) ณ กระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2554 ที่ผ่านมา เพื่อประสานติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ กำหนดข้อสั่งการพร้อมแจ้งเตือนภัยให้หน่วยงานต่างๆ และประชาชนทราบ ตลอดจนได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดเข้ารายงานตัวต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อปฏิบัติงานในส่วนการประมวลข้อมูลสถานการณ์และการช่วยเหลือประชาชน เพื่อรายงานรัฐบาลผ่าน ศอส.
“ในการดำเนินงานของกระทรวงฯ ได้ดำเนินการในลักษณะบูรณาการแบบ One Stop Service ตามมาตรการ 2P 2R คือ 1.ด้านการเฝ้าระวัง โดยได้ประสานการปฏิบัติและแลกเปลี่ยนข้อมูลการเตือนภัยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอดเวลา เพื่อเป็นข้อมูลในการแจ้งเตือน รวมทั้งได้เฝ้าระวังสภาวะอากาศและประเมินข้อมูลที่อาจจะเกิดผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยให้ความสำคัญกับการเตือนภัยล่วงหน้า และได้แจ้งข่าวในรูปของประกาศหรือการแจ้งเตือนผ่านหน่วยงานในพื้นที่ ทั้งสื่อมวลชน วิทยุ-โทรทัศน์ รวมถึงข้อความสั้น (SMS) วิทยุสื่อสาร Social Network , website เป็นต้น พร้อมกันนี้ยังได้มอบหมายให้ บมจ.ทีโอที และบมจ.กสทฯ ตรวจสอบและเตรียมความพร้อมโครงข่ายและเครือข่ายสื่อสารโทรคมนาคมหลักให้สามารถรองรับสถานการณ์ได้ ทุกพื้นที่ รวมทั้งวางระบบสื่อสารสำรองในภาวะฉุกเฉิน คือ ระบบสื่อสารผ่านดาวเทียมเคลื่อนที่ ในพื้นที่เฝ้าระวังเป็นการล่วงหน้า ตลอดจนได้ติดต่อซักซ้อมการแจ้งเตือนภัยระหว่างศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กับศูนย์เตือนภัยภาคประชาชน คือ ประชาชนผู้มีจิตอาสาและกลุ่มวิทยุสมัครเล่นเอาไว้ด้วย
2. ด้านการแจ้งเตือนภัย เมื่อมีความชัดเจนว่าจะเกิดภัยพิบัติ กรมอุตุนิยมวิทยาและศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ จะติดตามสถานการณ์และแจ้งเตือนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งกระชับความชัดเจนเกี่ยวกับลักษณะภัยและพื้นที่ พร้อมประเมินสถานการณ์เพื่อการแจ้งเตือนทุก 3 - 6 ชั่วโมง รวมถึงแจ้งผลการวิเคราะห์ผลกระทบในมิติของความรุนแรงและพื้นที่ ตลอดจนการคาดการณ์เพื่อประโยชน์ ในการบรรเทาและช่วยเหลือ รวมทั้งวางระบบการสื่อสารสำรองผ่านเครือข่ายประชาชนผู้มีจิตอาสาและวิทยุสมัครเล่น ตามนโยบายการเตรียมพร้อมแห่งชาติเพื่อใช้ในพื้นที่วิกฤติที่ไม่สามารถติดต่อสื่อสารด้วยเครือข่ายอื่นได้ รวมถึงเฝ้าระวังและติดตามเหตุการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังได้ประสานการบรรเทาภัยและการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในกรณีที่การติดต่อระหว่างประชาชนกับหน่วยบรรเทา สาธารณภัยมีปัญหาหรือไม่สามารถติดต่อกันได้ โดยการเปิดศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน ตลอด 24 ชั่วโมงที่หมายเลข 192
3. ด้านการฟื้นฟู สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร บมจ.ทีโอที บมจ.กสทฯ ได้สนับสนุนบุคลากรและเจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือในการปรับปรุงและซ่อมแซมอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสาร คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อื่นๆ ให้แก่หน่วยงานราชการและประชาชน ส่วนบจ.ไปรษณีย์ไทย ได้สนับสนุนการขนส่งสิ่งของในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ตลอดช่วงเวลาการบรรเทาและการฟื้นฟู นอกจากนั้นกระทรวงฯ ยังทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานการบรรเทาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในกรณีที่การติดต่อมีปัญหา หรือไม่สามารถติดต่อระหว่างประชาชนกับหน่วยบรรเทาสาธารณภัยได้
4. ด้านการแก้ปัญหา กระทรวงฯ และศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ได้กำกับการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ต่างๆ เป็น 3 ลักษณะ คือ พื้นที่ประสบภัย ได้แก่ จ.อุตรดิตถ์ ได้กำกับดูแลการติดต่อสื่อสารโดยให้ บมจ.ทีโอที เข้าพื้นที่และวางระบบสื่อสารโทรศัพท์ทางสายเพื่อการติดต่อระหว่างเจ้าหน้าที่และประชาชนในจุดที่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งพื้นที่ที่ยังเข้าไม่ได้ คือ บ้านต้นขนุน ตชด ๓๑๒ น้ำไผ่ น้ำปาด ห้วยคอม พร้อมทั้งวางระบบอินเทอร์เน็ตไร้สายและ e-Conference ที่ อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ นอกจากนี้ยังได้สนับสนุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าให้บางพื้นที่ที่สามารถดำเนินการได้ ส่วนศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ให้รับหน้าที่ติดต่อกับประชาชนและประสานงานกับหน่วยช่วยเหลือผ่านหมายเลข 192 รวมทั้งติดตามสถานการณ์เพื่อสนับสนุนหน่วยงานบรรเทาทุกข์และช่วยเหลือประชาชน
พื้นที่เสี่ยงภัย คือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ได้ติดตามสถานการณ์น้ำฝนและน้ำในแม่น้ำ ลำห้วย เพื่อแจ้งพื้นที่ให้แจ้งเตือนภัยทางเครือข่าย “หอกระจายข่าว” และทางสัญญาณเตือนภัย โดยประสานงานตรงกับผู้รับผิดชอบในการบริหารสถานการณ์ ซึ่งขณะนี้น้ำ ได้เอ่อล้นฝั่ง บางพื้นที่ได้ไหลเข้าท่วมแล้ว และฝนยังคงตกอย่างต่อเนื่อง ส่วนบางพื้นที่ได้ปักธงแดง แสดงสถานการณ์อันตรายแล้ว
และ พื้นที่เฝ้าระวัง คือ ภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน และภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ได้ติดตามสภาวะอากาศและปริมาณฝนซึ่งกำลังตกหนักในพื้นที่ จ.ระนอง จ.พังงา จ.สตูล และภาคใต้ตอนล่าง เพื่อประสานหน่วยงานในพื้นที่ให้เฝ้าระวัง รวมทั้งให้ผู้มีจิตอาสารีบรายงานสถานการณ์ตามช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลง และประสานงานบมจ.ทีโอที เตรียมเข้าพื้นที่เสี่ยงเพื่อเตรียมความพร้อมของเครือข่ายการติดต่อสื่อสารสำรอง” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว