กรุงเทพฯ--18 ต.ค.--ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย
ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อยแจ้งผลการดำเนินงานก่อนการสอบทาน งวด 9 เดือน ปี 2554 มีรายได้รวม 4.97 พันล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 856.1 ล้านบาท พร้อมรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเติบโตขึ้น 10.1% และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเติบโตขึ้น 16.6%
นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของธนาคารและบริษัทย่อยก่อนการสอบทาน สำหรับงวด 9 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2554 มีกำไรสุทธิจำนวน 856.1 ล้านบาท ลดลง 37.5 ล้านบาท หรือ 4.2% เมื่อเปรียบเทียบผลกำไรสุทธิจำนวน 893.6 ล้านบาทของงวดเดียวกันปี 2553 สาเหตุหลักจากกำไรพิเศษในปี 2553 จากการขายอาคารสำนักงานใหญ่ที่สาทร และกำไรจากการขายหุ้นในบริษัทย่อย แต่เมื่อเปรียบเทียบโดยหักรายการเหล่านี้ออกแล้ว กำไรจะเพิ่มขึ้น 149.2%
สำหรับรายได้จากการดำเนินงานงวด 9 เดือน ปี 2554 อยู่ที่ 4.97 พันล้านบาท เทียบงวด 9 เดือน ปี 2553 จำนวน 4.84 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 127.2 ล้านบาท หรือ 2.6% จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธินั้นเพิ่มขึ้น 322.8 ล้านบาท หรือ 10.1% สะท้อนจากการขยายสินเชื่อ ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น 97.9 ล้านบาท หรือ 16.6% ส่วนใหญ่มาจากรายได้ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับการให้สินเชื่อและรายได้จาก Bancassurance เพิ่มขึ้น
“โดยภาพรวมผลประกอบการออกมาน่าพอใจ จากการขยายตัวของสินเชื่อทุกกลุ่ม โดยเฉพาะสินเชื่อเอสเอ็มอีและสินเชื่อธุรกิจ ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยและรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการเพิ่มขึ้น จนทำให้รายได้จากการดำเนินงาน 9 เดือนของปีนี้ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งธนาคารจะพยายามรักษาการเติบโตต่อไปเพื่อให้ผลการดำเนินงานทั้งปีเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้” นายสุภัค กล่าว
ขณะที่รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมและบริการลดลง 293.6 ล้านบาท หรือ 28.2% เนื่องจากธนาคารมีกำไรจากรายการพิเศษจากการขายอาคารสำนักงานใหญ่ที่สาทร กำไรจากการขายหุ้นในบริษัทย่อย กำไรจากการไถ่ถอนเงินฝากที่มีอนุพันธ์แฝง ในงวด 9 เดือนปี 2553 หากหักรายการพิเศษนี้ออก รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมและบริการจะเพิ่มขึ้น 79.1%
เงินให้สินเชื่อสุทธิจากรายได้รอตัดบัญชีของกลุ่มธนาคารงวด 9 เดือน อยู่ที่ 112.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.6% เมื่อเทียบกับเงินให้สินเชื่อ ณ 31 ธันวาคม 2553 ส่วนใหญ่มาจากการขยายตัวของสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์และสินเชื่อเอสเอ็มอี ขณะที่ยอดเงินฝากและตั๋วแลกเงินอยู่ที่ 125.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.6 พันล้านบาท หรือ 12.2% จากสิ้นปี 2553 ซึ่งมีจำนวน 111.4 พันล้านบาท จากการขยายตัวของสินเชื่อและเงินฝากข้างต้น ทำให้อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากรวมตั๋วแลกเงินของกลุ่มธนาคาร อยู่ที่ 89.8% ขณะที่อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากรวมตั๋วแลกเงินเฉพาะธนาคารอยู่ที่ 87.9%
อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin — NIM) ปรับลดลงจากงวด 9 เดือน ปี 2553 ที่ 3.85% เป็น 3.63% ในงวด 9 เดือน ปี 2554 เนื่องจากการแข่งขันด้านเงินฝากอย่างสูง ทำให้ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้น ประกอบกับการปรับตัวเพิ่มขึ้นของสินเชื่อระยะสั้น ซึ่งเป็นสินเชื่อที่มีรายได้ดอกเบี้ยรับไม่สูง
ด้านสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ณ ไตรมาส 3 ปี 2554 อยู่ที่ 3.8 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้น (NPL ratio) อยู่ที่ 3.3% ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2553 อยู่ที่ 2.7% โดยมีสาเหตุหลักจากสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นในลูกค้าบางรายซึ่งธนาคารได้ดำเนินการแก้ไขลูกหนี้รายดังกล่าวแล้ว
อัตราส่วนเงินสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ 30 กันยายน 2554 อยู่ที่ 72.4% ลดลงจากสิ้นปี 2553 ซึ่งอยู่ที่ 91.4% เนื่องจากสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้นในงวด 9 เดือน ปี 2554 อย่างไรก็ตาม ธนาคารมีนโยบายในการเพิ่มคุณภาพสินทรัพย์ประกอบกับสินเชื่อเหล่านั้นมีหลักประกันมากกว่ายอดหนี้จึงไม่ต้องตั้งสำรองมากนัก อัตราส่วนดังกล่าวจึงลดลง
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสำหรับงวด 9 เดือน ปี 2554 เปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2553 เพิ่มขึ้นจำนวน 263.9 ล้านบาทหรือ 7.5% สาเหตุส่วนใหญ่มาจากค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงานและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอื่น เช่น ค่าใช้จ่ายโฆษณาเพิ่มขึ้น
สำหรับเงินกองทุนของธนาคาร ณ สิ้นวันที่ 30 กันยายน 2554 มีจำนวน 18.8 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยง13.8% โดยเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่ 8.1%