กรุงเทพฯ--19 ต.ค.--เอ.พี.ฮอนด้า
ฮอนด้าเวฟ ครองเจ้าตลาดรถครอบครัว สะท้อนความไว้วางใจจากคนไทยไม่เปลี่ยนแปลงตลาดรถจักรยานยนต์ไทยไตรมาสสามชะลอตัว หลังประสบปัญหาภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปี แต่ยังคงเติบโตกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2553 ด้วยยอดจดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 540,944 คัน เติบโตกว่าไตรมาสสามปีก่อนหน้าอยู่ถึง 115% ด้านฮอนด้าเติบโตกว่าตลาดรวมด้วยยอดจดทะเบียนทั้งสิ้น 373,803 คัน ปรับตัวสูงขึ้น 119% ในขณะที่รถครอบครัวครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดโดยมีฮอนด้าเวฟครองความเป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มอย่างเหนียวแน่น ด้วยยอดจำหน่ายสะสมตั้งแต่ไตรมาสแรกจนถึงเดือนกันยายนที่สูงถึง 645,748 คัน สะท้อนถึงความไว้วางใจจากผู้ใช้ทั้งในเรื่องของความประหยัดและความทนทาน
นายสุชาติ อรุณแสงโรจน์ กรรมการบริหารและผู้จัดการทั่วไปฝ่ายขาย บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด เปิดเผยถึงสภาพตลาดรถจักรยานยนต์ไทยตลอดไตรมาสสามและเดือนกันยายนว่า “ฤดูมรสุมและปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของตลาดรถจักรยานยนต์ไทยมากพอสมควรในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายนที่ผ่านมาซึ่งเป็นไตรมาสที่สามของปี แนวโน้มยอดจดทะเบียนไม่คึกคักเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรก แต่ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี และความต้องการรถจักรยานยนต์เพื่อการใช้งานในหลายพื้นที่ยังส่งผลให้ตลาดในไตรมาสที่สามเติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยปรับตัวสูงขึ้น 115% จากยอดจำหน่ายทั้งสิ้น 540,944 คัน เพิ่มขึ้น 69,520 คัน โดยมีฮอนด้าเป็นผู้นำตลาดด้วยยอดจดทะเบียนในไตรมาสที่สามรวมทั้งสิ้น 373,803 เพิ่มขึ้น 60,376 คัน หรือปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 119%
ทั้งนี้ยอดจดทะเบียนของตลาดรวมเฉพาะในเดือนกันยายนอยู่ที่ 172,176 คัน มากกว่าปีที่แล้ว 19,808 คัน ปรับตัวสูงขึ้น 113% โดยฮอนด้ามียอดจดทะเบียนสูงที่สุดที่จำนวน 119,625 คัน เพิ่มขึ้น 16,952 คัน ปรับตัวสูงขึ้น 117% เมื่อเทียบกับเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา นับว่าแนวโน้มของการเติบโตของรถจักรยานยนต์ฮอนด้ายังคงสูงกว่าตลาดโดยรวมเช่นเคย”
“ด้านประเภทรถที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในช่วงไตรมาสที่สามเป็นกลุ่มรถประเภทครอบครัว ด้วยอัตราส่วนครองตลาดเฉลี่ยมากกว่า 50% จากยอดจดทะเบียนทั้งสิ้น 275,630 คัน โดยมีฮอนด้าเป็นผู้นำอันดับหนึ่งในตลาดกลุ่มนี้ด้วยส่วนแบ่งตลาดที่ 83% มียอดจดทะเบียนระหว่างเดือนกรกฏาคมถึงเดือนกันยายนรวมทั้งสิ้น 228,513 คัน ในขณะที่ฮอนด้าเวฟยังเป็นรถที่มียอดจดทะเบียนสูงที่สุดเป็นอันดับหนึ่งไม่เปลี่ยนแปลง โดยมียอดจดทะเบียนในช่วงเวลาเดียวกันทั้งสิ้น 221,318 คันและมียอดจำหน่ายตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนกันยายนรวมกันมากถึง 645,748 คัน สะท้อนให้เห็นถึงความไว้วางใจที่ผู้ใช้มีต่อรถรุ่นนี้ที่มีข้อดีในเรื่องของความประหยัดน้ำมันสูงสุด และสมรรถนะที่ดีเยี่ยมจากเครื่องยนต์หัวฉีด PGM-FI รวมถึงความทนทานไร้ปัญหาจุกจิกกวนใจในระยะยาว”
นายสุชาติยังได้กล่าวเพิ่มเติมถึงตลาดรถจักรยานยนต์ไทยในเดือนตุลาคมว่า “สำหรับเดือนตุลาคมซึ่งเป็นเดือนแรกของไตรมาสสุดท้ายของปี เป็นที่คาดการณ์ว่าตลาดโดยรวมจะยังคงชะลอตัวต่อไปอีกระยะหนึ่งอันเนื่องมาจากสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่มีความรุนแรงและได้ส่งผลกระทบไปสู่ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรมการผลิต หรือภาคเกษตรกรรมที่ได้รับความเสียหายเป็นอย่างหนักในหลายพื้นที่ ส่งผลต่อกำลังซื้อของประชาชนค่อนข้างมาก”
สำหรับรายงานตัวเลขตลาดรวมรถจักรยานยนต์ทุกประเภทประจำเดือนกันยายน 2554 มีปริมาณการจดทะเบียนป้ายวงกลมทั้งสิ้น 172,176 คัน แบ่งเป็นรถแบบครอบครัว 86,246 คัน คิดเป็นอัตราส่วน 50% จากตลาดรวมทั้งหมด รถแบบ เอ.ที. 79,773 คัน คิดเป็นอัตราส่วน 46% รถแบบออฟโรด 2,377 คัน คิดเป็นอัตราส่วน 1% รถแบบสปอร์ต 2,183 คัน คิดเป็นอัตราส่วน 1% รถแบบครอบครัวกึ่งสปอร์ตและรถแบบอื่นๆ รวมกัน 1,637 คัน คิดเป็นอัตราส่วน 1%
ทั้งนี้เมื่อนำยอดจดทะเบียนมาแบ่งแยกตามประเภทผู้ผลิตพบว่าในเดือนกันยายนที่ผ่านมา รถจักรยานยนต์ฮอนด้ามียอดจดทะเบียนทั้งสิ้น 119,625 คัน เทียบเท่าสัดส่วนครองตลาดที่ 69% ตามด้วย ยามาฮ่า 39,553 คัน สัดส่วนครองตลาด 23%, ซูซูกิ 7,249 คัน สัดส่วนครองตลาด 4% และคาวาซากิ 2,591 คัน หรือ 2%, ไทเกอร์ 120 คัน, และอื่นๆอีก 2,886 คัน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณธัญลักษณ์ ไชยปะ
ฝ่ายสื่อสารการตลาด ส่วนงานบริหารธุรกิจ บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด
โทร.0-2757-6111 ต่อ 2503, 2508