กรุงเทพฯ--19 ต.ค.--ธนาคารเอชเอสบีซี
เอชเอสบีซี คาดการค้าในเอเชียคึกคัก
***ปริมาณการค้าในเอเชียจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวภายในปี 2568***
***เวียดนาม พม่า และกัมพูชา ขยับเป็นคู่ค้าสำคัญ***
***ภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ บั่นทอนความเชื่อมั่นทางการค้า ไม่กระทบธุรกิจ***
ธนาคารเอชเอสบีซี เผยผลสำรวจคาดการณ์การค้าโลกรายไตรมาสล่าสุด พบว่า ปริมาณการค้าในเอเชียจะเติบโตร้อยละ 96 คิดเป็นมูลค่าเกือบ 14 ล้านล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2568 และจะเป็นแรงส่งสำคัญให้การค้าโลกเติบโต โดยคาดว่าจะโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 73 ในปี 2568 ส่วนอินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และจีนแผ่นดินใหญ่ ขึ้นแท่นศูนย์กลางทางการค้าระหว่างประเทศ 5 อันดับแรก ซึ่งจะช่วยหนุนให้การค้าโลกขยายตัวจนถึงปี 2568
การค้าในเอเชียคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.8 ต่อปี จนถึงปี 2568 เทียบกับการค้าโลกที่เติบโตร้อยละ 3.8 และคาดว่าบริษัทต่าง ๆ จะต้องเติบโตสอดคล้องในอัตราเดียวกันเพื่อให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง ผลสำรวจทางการค้าของเอชเอสบีซี ยังระบุถึงดัชนีความเชื่อมั่นทางการค้า สะท้อนความเชื่อมั่นที่ลดลงของบรรดาผู้นำเข้าและส่งออกในเอเชียอีกด้วย ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ค้าในเอเชียลดลง 3 จุด สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ค้าทั่วโลกที่ลดลง 2 จุด จาก 6 เดือนแรกของปีนี้ บ่งชี้ว่าแม้จะมีนัยของการเติบโตในระยะยาว ผู้ค้ากลับเห็นว่า ปัจจัยลบที่รุมเร้าเศรษฐกิจโลกจะส่งผลกระทบต่อการค้าโลกในอีก 6 เดือนข้างหน้า
มร.โนเอล ควินน์ ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายพาณิชย์ธนกิจ ธนาคารเอชเอสบีซี ประจำภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก กล่าวว่า “การค้าระหว่างประเทศจะขยายตัวเพิ่มขึ้น แม้ว่าเศรษฐกิจในขณะนี้ยังมีความไม่แน่นอน การค้าระหว่างประเทศเป็นโอกาสที่ดีสำหรับธุรกิจที่กำลังมองหาช่องทางขยายตัว ขณะที่ระดับความเชื่อมั่นของผู้ค้าลดลงในอีก 6 เดือนข้างหน้า บริษัทต่าง ๆ ต้องรีบเตรียมพร้อมเพื่อขยายตลาดการค้าทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดในเอเชีย แปซิฟิก อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้น ธุรกิจระหว่างประเทศก็ยังเผชิญกับความเสี่ยงอยู่ ซึ่งเป็นผลจากสภาพเศรษฐกิจที่ท้าทาย แต่หากบริษัทต่าง ๆ เริ่มเตรียมการเพื่อสร้างรายได้จากการเติบโตของการค้าโลกตั้งแต่ตอนนี้ อาจจะช่วยลดทอนความเสี่ยงให้น้อยลงได้”
เอชเอสบีซี เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นทางการค้า และคาดการณ์การเติบโต ระบุว่า ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 41 ในเอเชีย คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัวภายใน 6 เดือน แต่ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83 คาดว่าปริมาณการค้าระหว่างประเทศจะเพิ่มขึ้น หรือไม่ก็อยู่ในระดับทรงตัว การที่อินโดนีเซียกลายเป็นตลาดที่มีความเชื่อมั่นทางการค้าสูงสุดในระดับโลก ธุรกิจการค้าในอินโดนีเซีย และมาเลเซีย มองว่ามีแนวโน้มที่สดใสในอนาคตอันใกล้ ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นใน 6 เดือนแรกของปีนี้ปรับสูงขึ้น ส่วนธุรกิจการค้าในสิงคโปร์ มีดัชนีความเชื่อมั่นทางการค้าอยู่ที่ -16 จีนแผ่นดินใหญ่ (-14) และอินเดีย (-11) แสดงถึงความเชื่อมั่นที่ลดลงมากที่สุด สะท้อนมุมมองในแง่ลบในระยะ 6 เดือนของบรรดาผู้นำเข้าและส่งออกในตลาดเหล่านี้
ธุรกิจการค้าในออสเตรเลีย สิงคโปร์ เวียดนาม และจีนแผ่นดินใหญ่ ยังเป็นกังวลต่อการผิดนัดชำระหนี้ของผู้ซื้อ และต้องการจะเรียกเก็บเงินล่วงหน้า หรือร่นระยะเวลาการชำระเงินให้เร็วขึ้นจากคู่ค้า ครึ่งหนึ่งของผู้ค้าทั้งหมดทั่วเอเชีย คาดว่าการขอสินเชื่อเพื่อการค้าระหว่างประเทศจะมีปริมาณคงเดิม ส่วนอีกร้อยละ 40 คาดว่าความต้องการขอสินเชื่อเพื่อการค้าจะเพิ่มขึ้น กลุ่มประเทศจีนจะยังคงเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตสูงสุดสำหรับผู้นำเข้าและส่งออกในเอเชีย และการค้าภายในภูมิภาคยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การค้าขยายตัว
แนวโน้ม
เอชเอสบีซี เปิดเผยว่า เอเชีย แปซิฟิก ยังคงเป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นเส้นทางการค้าหลักระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี และฮ่องกง และมีการค้าเพิ่มขึ้นกับบราซิล มาเลเซีย อินเดีย และเวียดนาม ซึ่งเป็นผลจากคาดการณ์ล่าสุดว่าสินค้าอาหารทั่วไป และสินค้าเกษตรจะมีความสำคัญมากขึ้น ภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก ขณะนี้ยังใช้ประโยชน์จากจุดแข็งที่กำลังดีวันดีคืนในสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม เช่น ผลิตภัณฑ์ยา และสินค้าภาคการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มสูงอีกด้วย
จีนแผ่นดินใหญ่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี และฮ่องกง เป็นประเทศคู่ค้าสำคัญ 5 อันดับแรกของเอเชีย ปริมาณการค้ากับ 5 ตลาดนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอีก 15 ปีข้างหน้า จีนแผ่นดินใหญ่จะยังคงเป็นประเทศคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของเอเชียในแง่มูลค่าทางการค้าในปี 2568 โดยมีมูลค่าการค้ารวมเพิ่มขึ้นจาก 1.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2553 เป็นกว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2568 แซงหน้าสหรัฐอเมริกาในฐานะประเทศคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุด เป็นผลจากการค้าสินค้าโภคภัณฑ์และการผลิตที่เพิ่มขึ้นในจีนแผ่นดินใหญ่ ทั้งนี้ จีนจะมีส่วนแบ่งของการค้าโลกคิดเป็น 13% ภายในปี 2568
เส้นทางการค้าที่ใหญ่ที่สุดของเอเชีย แปซิฟิก ประกอบด้วย จีนแผ่นดินใหญ่ ญี่ปุ่น เกาหลี และสหรัฐอเมริกา ผลสำรวจระบุว่า มีอีกหลายประเทศในภูมิภาคนี้ที่เริ่มมีบทบาทสำคัญ เช่น อินเดีย เวียดนาม พม่า และกัมพูชา ซึ่งกำลังพัฒนาฐานการส่งออกที่แข็งแกร่งโดยเพิ่มปริมาณสินค้าที่มีมูลค่าสูงในภาคการผลิต เส้นทางการค้าและคาดการณ์ทั้งหมดนี้เป็นผลจากการที่เครือข่ายธุรกิจการค้าระดับโลกทั่วภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก เชื่อมโยงเข้าด้วยกัน การค้าระหว่างเอเชีย แปซิฟิก และบราซิล คาดว่าจะเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว (จากมูลค่า 96.3 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2553 เป็น 206 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2568) จากการค้าถั่วเหลือง ส่วนเส้นทางการค้ายุโรประหว่างเอเชีย แปซิฟิก และโปแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ สาธารณรัฐเช็ก และมอลต้า ก็คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมากด้วย
มร. ควินน์ กล่าวว่า “การที่ศูนย์กลางของธุรกิจระหว่างประเทศย้ายจากตลาดพัฒนาแล้วไปยังตลาดเกิดใหม่ บริษัทต่าง ๆ ที่มุ่งหวังเติบโตธุรกิจจากตลาดการค้าระหว่างประเทศ ต้องมีพันธมิตรธุรกิจที่มีศักยภาพ เพื่อเป็นประตูสู่ความสำเร็จ เอชเอสบีซี มีความพร้อมอย่างเต็มที่จะเชื่อมโยงธุรกิจการค้าทั่วโลกด้วยเครือข่ายธุรกิจพาณิชย์ธนกิจที่ครอบคลุมของเรา เพื่อให้มั่นใจว่าธุรกิจจะมีศักยภาพที่ดีที่สุดในการคว้าโอกาสจากการค้าระหว่างประเทศ”
ผลสำรวจทางการค้าของเอชเอสบีซี ยังระบุถึง
- ประเทศที่มีอัตราการเติบโตด้านนำเข้าและส่งออกรวดเร็วที่สุด 10 อันดับแรกของโลก
- การเปลี่ยนแปลงส่วนแบ่งทางการค้าของ 37 ประเทศสำคัญในการค้าโลก
- ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวโน้มทางการค้า และเส้นทางการค้า รวมทั้งการเติบโตทางการค้าของบราซิล และการค้าภายในภูมิภาค
- การแจงแจงดัชนีความเชื่อมั่นทางการค้า
คาดการณ์การเติบโตทางการค้าจำแนกเป็นรายประเทศ/ภูมิภาค
ประเทศ/ภูมิภาค ภายในปี 2568
อินเดีย 156%
จีนแผ่นดินใหญ่ 146%
อินโดนีเซีย 144%
ออสเตรเลีย 129%
ไทย 117%
เกาหลีใต้ 115%
เวียดนาม 114%
สิงคโปร์ 110%
ศรีลังกา 102%
ฮ่องกง 92%
มาเลเซีย 88%
ฟิลิปปินส์ 87%
นิวซีแลนด์ 83%
ญี่ปุ่น 61%
ละตินอเมริกา 100%
เอเชีย 96%
ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ 85%
ยุโรป 77%
โลก 73%
อเมริกาเหนือ 55%
ดัชนีความเชื่อมั่นทางการค้าจำแนกเป็นรายประเทศ/ภูมิภาค
ประเทศ/ภูมิภาค ครึ่งหลังของปี 2554 (เปลี่ยนแปลงจากครึ่งแรกของปี 2554)
อินโดนีเซีย 144 (+21)
อินเดีย 129 (-11)
เวียดนาม 115 (-1)
ดัชนีเอเชีย 112 (-3)
มาเลเซีย 106 (+9)
สิงคโปร์ 105 (-16)
ออสเตรเลีย 100 (-7)
จีนแผ่นดินใหญ่ 100 (-14)
ฮ่องกง 95 (-6)
ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ 132 (+14)
เอเชีย 112 (-3)
โลก 112 (-2)
ละตินอเมริกา 111 (-8)
อเมริกาเหนือ 104 (-6)
ยุโรป 103 (-6)
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ วรนันท์ สุทธปรีดา, สาวิตรี หมวดเมือง โทรศัพท์ 0-2614-4609, 0-2614-4606
หมายเหตุถึงบรรณาธิการ:
1. ธนาคารเอชเอสบีซีในประเทศไทย
เอชเอสบีซีเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกในประเทศไทย เปิดสำนักงานให้บริการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2431 ธนาคารเอชเอสบีซีเปิดให้บริการด้านการเงินและการธนาคารเต็มรูปแบบ ทั้งบริการด้านเงินฝาก สินเชื่อธุรกิจ พาณิชย์ธนกิจ ธุรกิจสถาบันการเงิน บริการด้านบริหารเงินและตลาดทุน บริการดูแลและรับฝากหลักทรัพย์ บริการการค้าและเครือข่ายธุรกิจระหว่างประเทศ และบริการด้านการชำระเงินและบริหารเงินสดแก่ลูกค้าประเภทองค์กร ตลอดจนบริการลูกค้ารายย่อยและธนบดีธนกิจแก่ลูกค้าประเภทบุคคล
2. เอชเอสบีซี โฮลดิ้ง พีแอลซี หรือ กลุ่มเอชเอสบีซี
กลุ่มเอชเอสบีซี เป็นสถาบันผู้ให้บริการด้านการเงินและการธนาคารที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ปัจจุบันมีเครือข่ายสาขาประมาณ 7,500 แห่งในกว่า 80 ประเทศและเขตปกครองทั้งในยุโรป เอเชีย แปซิฟิก ตะวันออกกลาง อเมริกา และแอฟริกา ให้บริการแก่ลูกค้าจำนวน 100 ล้านคนทั่วโลก มีสินทรัพย์รวม 2,691 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2554) ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งกลุ่มเอชเอสบีซี