กรุงเทพฯ--19 ต.ค.--มหาวิทยาลัยแม่โจ้
หากจะพูดถึงเรื่อง “น้ำท่วม” ในปัจจุบัน คงจะไม่เชยจนเกินไป กลับจะเป็นหัวข้อในวงสนทนาที่ทันสมัยด้วยซ้ำไป เนื่องด้วยในห้วงเวลาที่ผ่านมา ใน ปี พ.ศ. 2554 ปํญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นแทบจะทั่วประเทศในขณะนี้ เป็นปัญหาที่ท้าทายการทำงานของรัฐบาลเป็นยิ่งนัก เนื่องจากส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจ และ ส่งผลกระทบถึงประชาชนโดยตรง ไม่เพียงเท่านั้น สัตว์เลี้ยงก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน
ผลกระทบที่เกิดกับสัตว์ อาจแบ่งได้ตามลักษณะการหลากมาของน้ำ ได้แก่ ผลกระทบที่มาจากน้ำป่าไหลหลาก ในกรณีนี้มักส่งผลทำให้สัตว์ตายจากการจมน้ำ เนื่องจากความแรง ความเชี่ยวกรากของน้ำ สัตว์ส่วนใหญ่จะต้านทานไม่ไหว โดยเฉพาะ ในไก่ สุกร สุนัข แมว รวมถึง โค บางพื้นที่ อาจมีของแถมเป็นดินโคลน และ ท่อนซุงด้วย ส่วนผลกระทบที่มาจากน้ำท่วมประเภทน้ำท่วมขัง จะมีผลกับสัตว์ในระยะยาว ขึ้นกับว่า น้ำท่วมขังนั้นกินระยะเวลายาวนานเท่าไร ยิ่งระยะเวลายาวนานมาก ก็จะยิ่งส่งผลกระทบมาก ผลที่เห็นได้ประการแรก คือ การขาดพื้นที่ที่ใช้ในการเลี้ยงสัตว์ เนื่องจาก จะต้องนำสัตว์ขึ้นไปอยู่บนที่สูง น้ำท่วมไม่ถึง เช่น ตามข้างถนน บนหลังคาบ้าน ฯลฯ ซึ่งมักพบในสัตว์กลุ่ม สุนัข แมว โค กระบือ ส่วนสัตว์ที่เลี้ยงในระบบฟาร์มอย่าง สุกร ไก่ ซึ่งมักเลี้ยงในปริมาณมากๆอยู่ในพื้นที่ที่จำกัด จึงยากต่อการเคลื่อนย้ายในเวลาที่เกิดน้ำท่วม น้ำหลาก ซึ่งถือเป็นภาวะฉุกเฉินอย่างหนึ่ง ผลประการต่อมา ได้แก่ ปํญหาการขาดแคลนอาหารสัตว์ ซึ่งจะเห็นได้ชัด ในสัตว์กลุ่มที่ต้องใช้พืชอาหารสัตว์เป็นหลักในการดำรงชีวิต เช่น โค กระบือ แพะ แกะ ม้า เพราะ พื้นที่แปลงหญ้า ทุ่งนา ถูกน้ำท่วมขัง , การขาดแคลน น้ำดื่ม น้ำกินที่สะอาดสำหรับสัตว์ โดยผลดังกล่าวข้างต้น จะส่งผลในระยะยาวต่อสัตว์ ทำให้สัตว์เกิดความเครียด ภูมิต้านทานโรคลดต่ำลง ง่ายต่อการติดเชื้อโรค อาทิ โรคคอบวม ในโค กระบือ ซึ่งมักพบในช่วงที่ โค กระบือ เกิดความเครียด และทำให้โค กระบือ ถึงแก่ความตายได้ , โรคปากและเท้าเปื่อยใน โค กระบือ และ สัตว์กีบคู่อื่นๆ ซึ่งติดต่อและระบาดได้อย่างรวดเร็ว , โรคทางระบบทางเดินหายใจในสัตว์ทุกชนิด เช่น หวัด ปอดบวม สำหรับในไก่ อาจพบไก่ป่วยตายด้ยโรคอหิวาต์ โรคนิวคาสเซิล โรคหลอดลมอักเสบ เป็นต้น ส่วนในสุกรโดยเฉพาะลูกสุกรเล็กๆที่ได้รับความเครียด มักแสดงอาการท้องร่วง ถ่ายเหลว และมักถึงแก่ความตายได้ง่าย สำหรับในสุกรขุน สุกรใหญ่ ต้องระมัดระวังโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สเตรปโตคอคคัส ซูอิส ซึ่งภาวะความเครียดจะเป็นปัจจัยโน้มนำทำให้สุกรติดเชื้อได้ง่ายขึ้น โดยที่ตัวสุกรอาจไม่แสดงอาการป่วยให้เห็นอย่างเด่นชัด แต่เชื้อสามารถปนเปื้อนมากับ เนื้อและเลือดของสุกรได้ และสิ่งที่สำคัญ คือ โรคนี้สามารถติดต่อมาสู่คนได้ โดยคนจะติดโรคได้จากการกิน เนื้อและเลือดของสุกร แบบดิบๆ หรือ สุกๆดิบๆ เช่น ลาบ หลู้ เป็นต้น ซึ่งในคนมักเรียกโรคนี้ว่า โรคหูดับ
ท่านผู้อ่านท่านใดสนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ น.สพ. ไพโรจน์ พงศ์กิดาการ คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยี มห าวิทยาลัยแม่โจ้ จ. เชียงใหม่ 50290 โทร. 053-873938-9 ในวันและเวลาราชการ
ข้อมูลโดย... อาจารย์ พิชัย สมบูรณ์วงศ์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ และสมศักดิ์ ศิริ นักวิชาการเกษตร งานถ่ายทอดเทคโนโลยี ฝ่ายนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตรมหาวิทยาลัยแม่โจ้ โทร. 053-873938-9