อียูจัดเวิร์คช็อปสร้างความเข้าใจแก่ผู้ส่งออกผักผลไม้ไทย

ข่าวทั่วไป Wednesday October 19, 2011 16:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ต.ค.--Francom Asia สหภาพยุโรป (อียู) เตรียมจัดเวิร์คช็อปเพื่อส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับระเบียบสุขอนามัยพืชของสหภาพยุโรปสำหรับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในภูมิภาคอาเซียน ระหว่างวันที่ 18 — 20 ตุลาคม และจัดสัมมนาสำหรับผู้ส่งออกผักและผลไม้ไทยไปยังอียู ในวันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม ศกนี้ ณ โรงแรมโซฟิเทล เซ็นทารา แกรนด์ กรุงเทพฯ (ลาดพร้าว) ทั้งนี้ระเบียบสุขอนามัยพืชของอียูมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการนำเข้ามา และแพร่ระบาดของสิ่งมีชีวิตที่เป็นอันตรายต่อพืชในสหภาพยุโรป และหลีกเลี่ยงภาวะชะงักงันทางการค้าที่ไม่จำเป็น ความเข้าใจที่ชัดเจนในระบบและระเบียบของอียูจะเอื้อประโยชน์แก่เจ้าหน้าที่อาเซียนในการเตรียมตัวสำหรับการบูรณาการด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคที่กำลังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะนำไปสู่เงื่อนไขด้านการค้าผลิตผลทางการเกษตรที่เสรีมากขึ้น “เป้าหมายของเราคือ การทำให้อาหารที่บริโภคในสหภาพยุโรปนั้น สะอาด ปลอดภัย และถูกสุขลักษณะตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่การเพาะปลูกจนกระทั่งอาหารถึงผู้บริโภค” มร.แฮร์รี่ อาร์เลส จากคณะกรรมาธิการยุโรปด้านสุขภาพและผู้บริโภคกล่าว “นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องสุขอนามัยพืชก็มีความสำคัญมากเช่นกัน เพราะการแพร่ระบาดของสิ่งมีชีวิตที่เป็นอันตายต่อพืชต่างๆ อาจส่งผลร้ายต่อพืชผลและระบบนิเวศของสหภาพยุโรป ซึ่งนำมาสู่ความเสียหายทางเศรษฐกิจในที่สุด ดังนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ประเทศคู่ค้าของเราจะต้องมีความเข้าใจในระเบียบสุขอนามัยพืชของอียู รวมทั้งจัดทำระบบควบคุมการส่งออก และการรับรองมาตรฐานที่มีประสิทธิภาพ” ในโอกาสนี้ คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเผยแพร่ข้อมูลระเบียบสุขอนามัยพืชของอียูที่ชัดเจนและถูกต้องไปยังแวดวงธุรกิจของไทย จึงได้ประสานความร่วมมือกับกรมวิชาการเกษตร จัดสัมมนาให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการธรุกิจส่งออกไทยในวันศุกร์ที่ 21 ตุลาคมนี้ โดยสัมมนาในครั้งนี้จะเปิดกว้างสำหรับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ผลิต ผู้คัดบรรจุ ผู้ส่งออก นักวิชาการ และตัวแทนจากภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ในประเทศไทย “ในระยะที่ผ่านมา การส่งออกผักและผลไม้จากประเทศไทยไปยังอียูไม่ราบรื่นนัก เนื่องจากมีการตรวจพบการปนเปื้อนของสิ่งมีชีวิตที่เป็นอันตายต่อพืชในสินค้าส่งออก อย่างไรก็ตาม ถือเป็นสัญญาณที่ดี ที่หน่วยงานที่รับผิดชอบของไทย ได้ปรับปรุงระบบการควบคุมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นการปูทางไปสู่การทำธุรกิจส่งออกผักและผลไม้ไปยังอียูได้อย่างราบรื่นแล้ว ยังเป็นการการันตีมาตรฐานความปลอดภัยของอาหาร สู่มือผู้บริโภค และของสุขภาพพืชภายในประเทศอีกด้วย การจัดสัมมนาเรื่องระเบียบสุขอนามัยพืชในครั้งนี้จึงถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับทั้งภาครัฐและเอกชนที่จะได้เข้ามาเรียนรู้โดยตรงจากผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่ที่มากประสบการณ์ของอียู” มร.อาร์เลส กล่าว ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกผัก ผลไม้และผลิตภัณฑ์จากพืชรายใหญ่ของโลก และมีความสัมพันธ์ทางการค้าที่ดีกับสหภาพยุโรป ในปี 2553 ที่ผ่านมา ประเทศไทยส่งออกผักและผลไม้ไปยังอียูรวมมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท หรือกว่า 713 ล้านยูโร คิดเป็นร้อยละ 1 ของการนำเข้าผักและผลไม้ และผลิตภัณฑ์จากพืชของอียูจากทั่วโลก สำหรับสื่อมวลชน หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อ คุณกุลวดี สุมาลย์นพ เจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวและข้อมูลประจำสำนักคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย (โทรศัพท์02 3052600 ต่อ 2644 หรืออีเมล์ delegation-thailand-pi@eeas.europa.eu) หรือคุณวันดี เลิศสุพงศ์กิจ (โทรศัพท์ 02 2334329-30 ต่อ 19 หรืออีเมล์ wandeel@francomasia.com) ***** สหภาพยุโรปให้การสนับสนุนความช่วยเหลือทางวิชาการนี้ ผ่านโครงการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและสหภาพยุโรป ระยะที่ 2 หรือ TEC II โดยมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแบบยั่งยืน และสนับสนุนบทบาททางเศรษฐกิจของประเทศไทยบนเวทีโลก ความช่วยเหลือภายใต้โครงการนี้แบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือทุนสนับสนุนที่มอบให้แก่มหาวิทยาลัย องค์กรเอกชน หรือองค์กรภาคธุรกิจ เพื่อจัดทำโครงการต่างๆ และส่วนที่สองคือการสนับสนุนการหารือด้านนโยบาย (PDSC) ได้แก่ การให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ การจัดสัมมนา การศึกษาวิจัย และการรณรงค์เพื่อกระตุ้นให้เกิดการหารือด้านนโยบายระหว่างประเทศไทยและสหภาพยุโรป ข้อมูลประกอบ นับตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ระงับการออกใบรับรองปลอดศัตรูพืชและประกาศเพิ่มชนิดผักเข้าสู่ระบบควบคุมพิเศษรวม 5 ชนิด ได้แก่ โหระพา มะระ พริกหยวก มะเขือม่วงและผักชีฝรั่ง มาตรฐานด้านสุขอนามัยพืชโดยสหภาพยุโรป อยู่ภายใต้กฎระเบียบ 2000/29/EC ประกอบด้วยเกณฑ์และหลักปฏิบัติเพื่อป้องกันการปนเปื้อนและการแพร่กระจายของยาฆ่าแมลงที่เป็นอันตรายภายในสหภาพยุโรป กฎหมายนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยกำหนดทิศทางอุตสาหกรรมทางการเกษตรของกลุ่มพืชที่มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายภายในประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปเท่านั้น แต่ยังประกอบไปด้วยข้อกำหนดเกี่ยวกับสุขอนามัยพืชที่จะช่วยคัดกรองผักและผลไม้บางจำพวกที่นำเข้ามาจากประเทศที่สามอีกด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ