กรุงเทพฯ--18 ต.ค.--พม.
วันนี้ (๑๘ ต.ค.๕๔) ที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย (ศปภ.) ดอนเมือง นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ออกแถลงการณ์ถึงแนวทางในการดำเนินงานให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยกล่าวว่า จากเหตุอุทกภัยที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ซึ่งขยายวงกว้างไปในเขตพื้นที่ต่างๆ หลายจังหวัด ได้สร้างความเสียหายต่อบ้านเรือน ทรัพย์สิน และนำมาซึ่งความเดือดร้อนของประชาชนเป็นจำนวนมาก ในส่วนของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ในฐานะองค์กรหลักของภาครัฐที่มีบทบาทภารกิจในการพัฒนาสังคม และเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชน จึงได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ให้ดูแลผู้ประสบภัยในศูนย์พักพิงต่างๆ ในด้านสวัสดิการ อาหาร เครื่องนอน เครื่องใช้ เพื่อบรรเทาช่วยเหลือเบื้องต้นให้กับผู้ประสบภัยยังศูนย์พักพิงต่างๆ
นายสันติ กล่าวต่อว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ยังได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ได้แก่ ๑. จัดให้ผู้ประสบอุทกภัยลงทะเบียน เพื่อทำการจำแนกในส่วนของครอบครัว,หญิง,ชาย,ผู้สูงอายุและผู้พิการ โดยมีการสอบถามประวัติส่วนตัว อาการเจ็บป่วย รวมถึงข้อจำกัดของอาหาร ๒.นำผู้ประสบภัยเข้าพักตามพื้นที่ที่ได้จัดแยกไว้ให้ โดยจัดกิจกรรมนันทนาการ สร้างสัมพันธ์ในครอบครัว กิจกรรมสร้างสรรค์เด็กและเยาวชน กิจกรรมเพื่อผู้สูงอายุและผู้พิการ และร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ในการจัดหาเจ้าหน้าที่มาพูดคุยเพื่อดูแลด้านจิตใจ ในกรณีที่เป็นผู้ป่วย ก็จะคัดแยกเพื่อส่งต่อให้โรงพยาบาลที่รับผิดชอบต่อไป ทั้งนี้ ในแต่ละศูนย์พักพิงก็จะมีการจัดบริการอาหารให้ตลอดทั้งวัน และมีกิจกรรมนันทนาการของภาคเอกชน เพื่อให้ประชาชนสามารถพำนักในศูนย์พักพิงได้ในระยะยาว นอกจากนี้ กระทรวงฯ ได้ประสานขอความร่วมมือเพื่อเปิดศูนย์พักพิงชั่วคราวเพิ่มเติม ดังนี้
๑. Terminal ๒ ท่าอากาศยานดอนเมือง รับได้ ๒,๐๐๐ คน
๒. ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ รับได้ ๕,๐๐๐ คน
๓. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี คลอง ๖ รับได้ ๒,๐๐๐ คน
๔. โรงเรียนดอนเมืองทหารอากาศ รับได้ ๑,๐๐๐ คน
๕.โรงเรียนสารวิทยา รับได้ ๑,๐๐๐ คน
๖.โรงเรียนหอวัง รับได้ ๕๐๐ คน
๗.โรงเรียนธัญรัตน์ รับได้ ๓๐๐ คน
๘.วัดอู่ข้าว รับได้ ๓๐๐ คน
๙.โรงเรียนทีปังกรรัศมีโชติ รับได้ ๒๐๐ คน
๑๐.กรมการปกครอง รับได้ ๔๕๐ คน
“ประชาชนที่มีความต้องการเข้าพักในศูนย์พักพิงดังกล่าว ให้ติดต่อผ่านศูนย์ประชาบดี ๑๓๐๐ โดยจะมีการประชาสัมพันธ์ตัววิ่งผ่านสื่อโทรทัศน์ทุกสถานี ในส่วนประชาชนที่ยังสมัครใจจะอาศัยอยู่ในบ้านเรือนของ กระทรวงฯ จะได้จัดเตรียมการขนส่งอาหาร น้ำและถุงยังชีพ ให้ทางเรือ เฮลิคอปเตอร์ และทางรถยีเอ็มซีของทหาร และในกรณีของสตรี เด็ก ผู้สูงอายุและผู้พิการ ที่ไม่สามารถอกมาจากพื้นที่ได้ ก็สามารถแจ้งศูนย์ประชาบดี ๑๓๐๐ เพื่อขอความช่วยเหลือได้เช่นกัน” นายสันติ กล่าว.