กรุงเทพฯ--20 ต.ค.--โฟร์ พี แอดส์ (96)
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า สุขภาพจิตของผู้ประสบภัยในพื้นที่ 36 จังหวัด ณ วันที่ 18ต.ค. 2554 จากการประเมินคัดกรอง จำนวน 93,234 ราย พบ เครียดสูง 3,857 รายซึมเศร้า 5,493 ราย เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย 765 ราย ต้องติดตามดูแลพิเศษ 1,162 ราย และจากการให้บริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตทางโทรศัพท์ ณ.ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) นับตั้งแต่ 8 ต.ค. 2554 พบประชาชนโทรเข้ามาขอรับบริการ รวม 693 ราย ปัญหาที่ขอรับบริการ ได้แก่เครียด และวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำที่เพิ่มสูงขึ้น เครียดเนื่องจากอพยพออกจากพื้นที่ไม่ได้ ตลอดจนวิตกกังวลเนื่องจากมีโรคและปัญหาสุขภาพกาย ขณะที่การออกหน่วยบริการปรึกษาด้านสุขภาพจิตในสถานการณ์ ภัยพิบัติ ณ.ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) นับตั้งแต่ 16 ต.ค.2554 ได้ให้บริการปรึกษาแล้วทั้งสิ้น 11 ราย ส่งต่อผู้ป่วย จำนวน 1 ราย ผู้รับบริการ ได้แก่ ประชาชนทั่วไป เจ้าหน้าที่/ผู้ที่มาปฏิบัติหน้าที่ ณ. สนามบินดอนเมือง ปัญหาที่เข้ามาขอรับบริการ ได้แก่ การประเมินความเครียด การจัดการความเครียดด้วยตนเอง และการดูแลจิตใจในสถานการณ์วิกฤต
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า เนื่องจากขณะนี้พื้นที่น้ำท่วมได้ขยายวงกว้างครอบคลุมในหลายจังหวัด ในสถานการณ์ที่วิกฤตเช่นนี้ การดูแลช่วยเหลือจากภาครัฐอาจจะดำเนินการได้ไม่ทั่วถึง การรอความช่วยเหลือจากภายนอกเพียงอย่างเดียว อาจทำให้มีโอกาสผิดหวัง โกรธแค้น และสิ้นหวัง เพื่อให้ทุกคนปลอดภัย จำเป็นต้องอาศัย ความเข้มแข็งของชุมชนด้วยการ "ผนึกกำลัง ร่วมใจ สู้ภัยน้ำท่วม"ซึ่งต้องดึงพลังชุมชนเข้ามาช่วยเหลือและจัดการปัญหากันเอง อย่างมีสติและมีความหวัง โดยให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนสภาวะเหยื่อจากภัยพิบัติ มาเป็นผู้ร่วมกอบกู้วิกฤติ เผชิญกับปัญหาอย่างมีสติสามารถเยียวยาฟื้นฟูสภาพจิตใจให้กับผู้ประสบภัยภายในชุมชนของตัวเองให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้กรมสุขภาพจิตได้วางแผนดูแลและฟื้นฟูจิตใจผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม ครอบคลุม ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ 1) การจัดระบบบริการสุขภาพในภาวะวิกฤตโดยระดมสรรพกำลังจากหน่วยงานนอกพื้นที่ ทั้งในและนอกกรมสุขภาพจิต จัดกิจกรรม/บริการแบบองค์รวม เชื่อมโยงร่างกาย จิตใจและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลผู้ให้ความช่วยเหลือ (Helper) 2) การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารศูนย์พักพิงเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนจาก"เหยื่อ" เป็น "ผู้กอบกู้วิกฤต" ลดโอกาสการเกิดความขัดแย้งและเกิดภาวะแทรกซ้อนจากปัญหาสุขภาพจิต และ 3) การบริหารการสื่อสารในภาวะวิกฤต ที่ส่งเสริมสุขภาพจิต โดยไม่สร้างปัญหาจากการรับข้อมูลข่าวสาร ผู้ประสบภัยสามารถขอรับบริการด้านสุขภาพจิตได้ที่หน่วยบริการสุขภาพจิตโดยความร่วมมือกับสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ประสบภัย หรือ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง www.dmh.go.th