ฟิทช์คงอันดับเครดิตของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 18, 2011 11:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ต.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-term Foreign Currency Issuer Default Rating (IDR)) ของธนาคารแสตนดาร์ดชาร์เตอ์ด (ไทย) จำกัด มหาชน (SCBT) ที่ ‘BBB+’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Rating) ที่ ‘AAA(tha)’ โดยธนาคารมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดแสดงอยู่ด้านล่าง อันดับเครดิตสากล อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตสนับสนุนของ SCBT สะท้อนถึงการถือหุ้นและการให้การสนับสนุนของ Standard Chartered Bank (SC; ‘AA-’/Stable) ทั้งนี้สัดส่วนการถือหุ้น 99.9% ของ SC เป็นนโยบายการลงทุนระยะยาว และ SC ได้มีการควบคุมการบริหารงานผ่านทางคณะกรรมการและคณะผู้บริหารของ SCBT เมื่อพิจารณาถึงชื่อเสียงและฐานะทางการเงินของ SC ฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ SCBT จะได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น หากมีความจำเป็น ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือหุ้นของ SC หรือระดับการสนับสนุน อาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของ SCBT นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงของอับดับเครดิตของ SC จะส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของ SCBT เช่นกัน อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของ SCBT ถูกจำกัดโดย เพดานอันดับเครดิตของประเทศไทย (Country Ceiling) ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของเพดานอันดับเครดิตของประเทศ อาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของ SCBT ในขณะเดียวกันอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Rating) ของธนาคารถูกจำกัดโดยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลซึ่งมีประมาณสูง นอกจากนี้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินอาจได้รับผลกระทบเชิงลบจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของ SCBT ซึ่งสะท้อนได้จากสินเชื่อที่เติบโตอย่างสูง หรือจากการที่สินเชื่อมีการกระจุกตัวเพิ่มขึ้นมาก และ/หรือ การที่เครือข่ายธุรกิจ (franchise) ของธนาคารอ่อนแอลง ผลการดำเนินงานโดยรวมของ SCBT ปรับตัวแข็งแกร่งขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 โดยธนาคารมีกำไรสุทธิและอัตราส่วนกำไรสุทธิต่อสินทรัพย์ (ROA) ปรับตัวดีขึ้นเป็น 1.9 พันล้านบาท และ 1.3% ตามลำดับ (เทียบกับ 1.6 พันล้านบาท และ 1.2% ในครึ่งแรกของปี 2553) ทั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากปริมาณสินเชื่อที่สูงขึ้น (เพิ่มขึ้น 13% จากครึ่งปีแรกปี 2553) โดยมีสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ดีเป็นปัจจัยสนับสนุน นอกจากนี้ อัตราส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็น 3.1% (เทียบกับ 2.9% ณ สิ้นปี 2553) ทั้งนี้ส่วนหนึ่งสะท้อนถึงการปรับตัวเพิ่มขึ้นของสินเชื่อบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งมีผลตอบแทนสูง ในระยะยาว ฟิทช์คาดว่า SCBT จะสามารถรักษาความแข็งแกร่งของเครือข่ายธุรกิจลูกค้ารายใหญ่ (wholesale banking) ของธนาคารไว้ได้ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากเครือข่ายธุรกิจในภูมิภาคที่แข็งแกร่ง และความชำนาญในธุรกิจของกลุ่ม อย่างไรก็ตามในธุรกิจสินเชื่อรายใหญ่ของ SCBT น่าจะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นโดยเฉพาะจากธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่ ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดในการขยายสินเชื่อของธนาคารในอนาคต สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน คาดว่าจะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นในระดับปานกลาง ในช่วง 2-3 ปี ข้างหน้า ซึ่งสอดคล้องกับ กลยุทธ์ของธนาคารที่มีเป้าหมายในการปรับสัดส่วนระหว่างสินเชื่อบุคคลประเภทไม่มีหลักประกันและประเภทมีหลักประกัน ให้มีความสมดุลมากขึ้น ในขณะที่การปรับสัดส่วนสินเชื่อดังกล่าว น่าจะส่งผลดีต่อกำไรและอัตราส่วนต่างดอกเบี้ย แต่ธนาคารอาจมีความเสี่ยงในด้านการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น ในช่วงที่สภาวะเศรษฐกิจอ่อนแอ ในขณะเดียวกันคุณภาพสินทรัพย์ของ SCBT ปรับตัวดีขึ้น โดยธนาคารยังคงมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในระดับต่ำที่ 1.7 พันล้านบาท หรือ 1.7% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2554 ซึ่งเป็นผลจากการปรับลดพอร์ตสินเชื่อบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน และสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง นอกจากนี้อัตราส่วนสำรองต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งที่ 201.3% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2554 และน่าจะช่วยรองรับความเสี่ยงในเรื่องของการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่อาจปรับตัวสูงขึ้นได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงในด้านคุณภาพสินทรัพย์อาจปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจโลก แต่ทั้งนี้ฟิทช์ยังคงเชื่อว่า ด้วยสัดส่วนหลักทรัพย์ค้ำประกันต่อสินเชื่อที่ปรับตัวดีขึ้น เงินกองทุนที่แข็งแกร่ง และการปรับสมดุลของสินเชื่อส่วนบุคคลของธนาคาร น่าจะช่วยรองรับความเสี่ยงในด้านคุณภาพสินทรัพย์ได้ในระดับหนึ่ง ด้วยอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (รวมตั๋วแลกเงิน หรือ BE) ที่ใกล้เคียง 80% และการถือครองสินทรัพย์สภาพคล่องที่มีคุณภาพสูง ที่ส่วนใหญ่เป็นพันธบัตรรัฐบาล (มีสัดส่วนเป็น 38% ของเงินฝาก) น่าจะช่วยลดความเสี่ยงในด้านสภาพคล่องของธนาคารได้ นอกจากนี้ฟิทช์เชื่อว่าการที่ธนาคารสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนภายในกลุ่ม รวมทั้งการที่ธนาคารยังมีวงเงินสำหรับการบริหารสภาพคล่องจาก SC จะช่วยลดความเสี่ยงในด้านสภาพคล่องได้เพิ่มเติมอีก เงินกองทุนชั้นที่ 1 และเงินกองทุนรวมของ SCBT ยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งที่ 16% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2554 SCBT ซึ่งเดิมคือ ธนาคารนครธน ก่อตั้งในปี 2476 โดยตระกูลหวั่งหลี ด้วยผลจากวิกฤติการทางการเงินปี 2540 ทำให้รัฐบาลเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในธนาคารนครธน และต่อมา SC ได้เข้าซื้อกิจการของธนาคาร SCBT เป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 8 ของประเทศไทย ทั้งนี้ธนาคารมีสัดส่วนการตลาดต่ำกว่า 2% อันดับเครดิตของธนาคารแสตนดาร์ดชาร์เตอ์ด (ไทย) ที่ได้รับการคงอันดับมีดังนี้ - อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ ‘BBB+’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ - อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ ‘F2’ - อันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวที่ ‘A’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ - อันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1’ - อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ ‘bbb+’ (‘B/C’) - อันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘2’ - อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ - อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’ - อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นของโครงการหุ้นกู้ระยะสั้นไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันที่ ‘F1+(tha)’ ติดต่อ Primary Analyst พชร ศรายุทธ Associate Director +662 655 4761 บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด 55 ถนนวิทยุ ลุมพินี ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 Secondary analyst วสันต์ ผลเจริญ +662 655 4758 กรุงเทพฯ Committee Chairperson Jonathan Cornish Managing Director +852 2263 9901

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ