กรุงเทพฯ--20 ต.ค.--กรมธนารักษ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังกังวลกับสถานการณ์น้ำท่วมที่อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี เร่งประสานงานทุกฝ่าย ระดมพลเตรียมให้ความช่วยเหลือเป็นการด่วน รองรับผู้ประสบภัยที่เดือดร้อนมาพักพิงชั่วคราว ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ และขอเชิญชวนผู้ใจบุญสละเวลาร่วมเป็นอาสาสมัคร หรือบริจาคเงินสด สิ่งของ โดยเฉพาะผ้าเช็ดตัว กะละมัง ขวดนมเด็ก ผ้าอ้อมสำเร็จรูปของเด็กและผู้ใหญ่ ยังต้องการอีกจำนวนมาก
วันนี้ (20 ตุลาคม 2554) ณ กระทรวงการคลัง นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงสถานการณ์การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ของศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย กระทรวงการคลัง ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ ว่า เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี และพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ยังน่าเป็นห่วง ภายหลังที่มีการประกาศจากศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ดังนั้น เพื่อรองรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จึงสั่งการให้ทุกฝ่าย ทุกหน่วยงานในสังกัดระดมกำลังคนเป็นการด่วนและจะต้องเป็นเจ้าหน้าที่ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมด้วย ให้เข้าไปช่วยเหลือผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนปฏิบัติหน้าที่ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวของศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ หากหน่วยงานใดมีเครือข่ายที่พร้อมให้ความช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นด้านกำลังคน หรือบริจาคสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น อาหาร เงินสด ก็สามารถเข้าไปได้ทันที ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ของกรมธนารักษ์ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รอรับบริการอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง
ด้านนายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ปัจจุบันมียอดผู้ประสบภัยมาพักอาศัยชั่วคราว ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะมีจำนวนเพิ่มขึ้น การดูแลเรื่องที่พักอาศัย อาหาร ตรวจสุขภาพ สาธารณูปโภค และป้องกันความปลอดภัย จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก เพื่อให้ทุกคนได้รับความสะดวกสบาย ได้รับความปลอดภัยและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ดังนั้น ระบบการคัดกรองประชาชนที่เข้าพักอาศัยจึงต้องเข้มแข็ง ซึ่งมีทีมนักสังคมสงเคราะห์ และนักจิตวิทยา ของมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กสหทัยมูลนิธิองค์กรช่วยเหลือเด็ก (Save the Children) ร่วมกันทำงาน ทำให้ทุกฝ่ายที่ปฏิบัติงานในพื้นที่มีความคล่องตัวในการทำงาน บริการประชาชนด้วยความรวดเร็ว และเป็นระเบียบอย่างไรก็ตาม ด้วยจำนวนผู้ประสบภัยที่เพิ่มขึ้นสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นบางอย่างจึงไม่เพียงพอ โดยเฉพาะเด็กเล็ก และผู้สูงอายุที่ยังต้องการอีกจำนวนมาก คือ ขวดนมเด็ก ผ้าอ้อมสำเร็จรูปของเด็กและผู้ใหญ่ ผ้าเช็ดตัว ขัน และกะละมังซักผ้า
อย่างไรก็ดี นอกจากจะมีเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานราชการ องค์กรเอกชน ภาคประชาชน เข้าช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องทำให้การปฏิบัติงานเป็นไปด้วยความสะดวก ราบรื่น สิ่งสำคัญที่ได้เห็นในสถานการณ์เช่นนี้คือ
ผู้ประสบภัยที่พักอาศัย ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ซึ่งเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนอยู่แล้ว เมื่อเจ้าหน้าที่ทำงานกันอย่างหนักตลอดทั้งวัน ต่างขอร่วมเป็นอาสาสมัครช่วยทำงาน เช่น รับลงทะเบียน คัดแยกสิ่งของ และดูแลเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ในยามวิกฤติพี่น้องคนไทยไม่เคยทิ้งกันจริงๆ นายวิรุฬ กล่าวในตอนท้าย
รายงานความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยของศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร โดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงการคลัง กรมธนารักษ์ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ประจำวันพฤหัสบดีที่ 20 ตุลาคม 2554 เวลา 12.00 น. ดังนี้
สถานการณ์ทั่วไป (ตั้งแต่วันที่ 16 — 20 ตุลาคม 2554)
- ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมที่นิคมอุตสาหกรรมนวนคร ศูนย์ธรรมศาสตร์รังสิต มหาวิทยาลัยราชภัฎวไลยอลงกรณ์ และพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยรอบ และอำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ที่ได้รับความเดือดร้อนขณะนี้มาอาศัยพักพิงชั่วคราวจำนวน 639 คน แบ่งออกเป็น เด็กชาย 48 คน เด็กหญิง 70 คน ผู้ใหญ่ชาย 235 คน ผู้ใหญ่หญิง 255 คน ผู้สูงอายุ (60 ปี ขึ้นไป) ชาย 11 คน หญิง 19 คน ผู้พิการหญิง 1 คน ผู้พิการชาย ไม่มี ส่วนผู้อพยพที่ขอกลับ จำนวน 20 คน
- ยอดผู้ป่วยมีจำนวน 173 ราย โรคที่พบได้แก่ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ 60 ราย โรคเบาหวาน 5 ราย โรคความดันโลหิตสูง 4 ราย ภาวะเครียด 2 ราย ปวดท้อง 25 ราย ไข้หวัด 10 ราย ท้องเสีย 5 ราย โรคผิวหนังอักเสบและเชื้อรา 48 ราย ล้างแผล 14 ราย อีกทั้งมีสัตว์เลี้ยงที่ต้องดูแล จำนวน 15 ตัว แบ่งเป็น สุนัข 14 ตัว กระต่าย 1 ตัว
สำหรับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือและร่วมบริจาคสิ่งของสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้โทร. 0 2143 1444 (20 คู่สาย) ตลอด 24 ชั่วโมง หรือ http://www.dad.co.th/coverpage/flooding