กรุงเทพฯ--20 ต.ค.--Siam PR Consultant
งานประชุมสมาพันธ์นักเคมีเครื่องสำอางนานาชาติ 2011 (ครั้งที่ 21) หรือ IFSCC 2011 พร้อมเปิดงานอย่างเป็นทางการในระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม — 2 พฤศจิกายน 2554 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ รวมนักวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางแถวหน้าจากทั่วโลกนำเสนองานวิจัยสุดล้ำ พร้อมยกขบวนกิจกรรมเพื่อสุขภาพและความงามเพียบ ทั้งการออกร้านจัดแสดงผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม งานสัมมนาฟรีสำหรับประชาชนทั่วไปกว่า 20 หัวข้อที่น่าสนใจ พร้อมอวดผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางภูมิปัญญาไทยจาก 10 สมุนไพรไทยสู่สายตาชาวโลก มั่นใจมีผู้เข้าร่วมงานจากทั่วโลกกว่า 3,500 คน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวประเทศไทย หวังต่อยอดอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยให้ก้าวไกลสู่สากล
รศ. ดร. พรรณวิภา กฤษฎาพงษ์ ประธานคณะกรรมการจัดงานประชุมสมาพันธ์นักเคมีเครื่องสำอางนานาชาติ 2011 กล่าวว่า งานประชุมสมาพันธ์นักเคมีเครื่องสำอางนานาชาติ 2011 (ครั้งที่ 21) หรือ IFSCC 2011 เป็นการจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติที่ได้รวบรวมบุคลากรกลุ่มวิชาชีพในอุตสาหกรรมเคมีเครื่องสำอาง ทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักเคมี ในวงการอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง และความงามจากสมาคมที่เป็นสมาชิกสมาพันธ์ 47 สมาคม จาก 58 ประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย มาร่วมนำเสนอผลงานวิจัย เผยแพร่ แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความรู้ทางด้านวิชาการ เทคโนโลยีในอุตสาหกรรมเคมีเครื่องสำอางระดับโลก โดยในปีนี้ ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดงานเป็นครั้งแรก ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม — 2 พฤศจิกายน 2554 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ภายใต้แนวคิดการจัดงานคือ 3 E ได้แก่ Effective, Economic, Ecological หรือ ประสิทธิภาพ ประหยัด และปกป้องสิ่งแวดล้อม
รศ. ดร. พรรณวิภา กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากประชุมวิชาการระดับนานาชาติแล้ว งานประชุมสมาพันธ์นักเคมีเครื่องสำอางนานาชาติ 2011 ในครั้งนี้ ได้เปิดกว้างให้บุคคลทั่วไปสนใจเข้าร่วมงาน โดยภายในงานจะมีกิจกรรมมากมาย อาทิ การออกร้านจัดแสดงผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาและติดตามเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเจรจาซื้อขาย ขยายตลาดไปสู่ต่างประเทศ การอบรมสัมมนาฟรีให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพและความงามกับประชาชนทั่วไปกว่า 20 หัวข้อที่น่าสนใจ เช่น ศาสตร์ชะลอวัย 2011 ยกกระชับใบหน้าแก้ปัญหาหย่อนคล้อยด้วยคลื่นเสียง เคล็ดลับการเลือกรับประทานอาหารเสริม การล้างพิษด้วยวิธีคีเลชั่น เป็นต้น ในขณะเดียวกัน ยังมีรายการสัมมนาที่นำเสนอผลงานวิจัย และความรู้ในวงการเคมีเครื่องสำอางที่จะเป็นประโยชน์ต่อวงการศึกษา นักวิจัย และผู้ประกอบการ สามารถนำความรู้มาต่อยอดในการทำธุรกิจ หรือค้นคว้าศึกษาวิจัยเพิ่มเติมได้อีกด้วย
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการนำผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางภูมิปัญญาไทยจาก 10 สมุนไพร ได้แก่มังคุด ทุเรียน ลำไย ลูกสมอ ปอสา มะหาด ใบและลูกยอ รังไหม ข้าว และดอกบัว มาให้ผู้เข้าร่วมงานได้ชมและทดลองผลิตภัณฑ์ ที่สำคัญในพิธีเปิดงานซึ่งจัดขึ้นในช่วงค่ำของวันที่ 31 ตุลาคม จะมีไฮไลท์การแสดงแฟชั่นโชว์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก 10 สมุนไพรไทยดังกล่าวอีกด้วย โดยงานในครั้งนี้คาดว่าจะได้รับความสนใจจากนักเคมีเครื่องสำอางทั้งไทยและต่างชาติ นักศึกษา และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมงานตลอดระยะเวลาการจัดงานประมาณ 3,500 คน สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวไทยจากการเดินทางมาดูงานของนักเคมีเครื่องสำอางจากนานาชาติทั่วโลก พร้อมทั้งยกระดับวงการเคมีเครื่องสำอางไทยให้ประจักษ์สู่สายตาชาวต่างชาติ รศ. ดร. พรรณวิภา กล่าว
นางภคพรรณ ลีวุฒินันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท นู สกิน เอ็นเตอร์ไพร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะอุปนายกสมาคมนักเคมีเครื่องสำอางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สมุนไพรไทยเป็นที่ยอมรับ และเลื่องลือในหมู่ชาวต่างชาติถึงคุณสมบัติเพื่อสุขภาพและความงาม อีกทั้ง นักวิจัย นักเคมี และบุคลากรในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยมีความรู้ ความสามารถในการพัฒนาและต่อยอดคุณสมบัติจากธรรมชาติเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพมาตรฐานระดับสากล ยกตัวอย่างผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงที่ค้นพบสาระสำคัญในเมล็ดลำไยที่มีฤทธิ์ในการต่อต้านอนุมูลอิสระอันเป็นสาเหตุของการเกิดริ้วรอย ซึ่งล่าสุดทางบริษัท นู สกิน ประเทศไทยได้นำสูตรดังกล่าวมาพัฒนามาเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าสูตรสกัดจากเมล็ดลำไยภายใต้แบรนด์ Scion (ซีออน) และจากการเปิดตัวครั้งแรกในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคดีเกินคาด สามารถสร้างยอดขายได้กว่า 15,000 ชิ้น โดย นู สกิน ได้หักรายได้ 1 บาทจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ซีออนแต่ละชิ้น บริจาคผ่านโครงการพลังแห่งความดี เพื่อสมทบทุนการศึกษาให้แก่นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
ดังนั้น งาน IFSCC 2011 ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ ถือเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ประเทศไทยได้แสดงศักยภาพ และความพร้อมของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยไปสู่ตลาดโลก การเผยแพร่คุณประโยชน์ของสมุนไพรไทยให้เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย การสนับสนุนผู้ประกอบการ บุคลากรในวงการอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยเพิ่มพูนความรู้ ได้ศึกษาแนวทางการทำตลาด และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ถูกใจผู้บริโภค งาน IFSCC 2011 จึงเป็นงานหนึ่งที่คนในวงการอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทย และประชาชนทั่วไปที่ต้องการอัพเดทเทรนด์สุขภาพและความงามพลาดไม่ได้ นางภคพรรณ กล่าว