กรุงเทพฯ--20 ต.ค.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศผลอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 2,500 ล้านบาทของ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A” พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทที่ระดับ “A” เช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Stable” หรือ “คงที่” บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ไปใช้ชำระเงินกู้สถาบันการเงินและใช้เป็นทุนในการขยายการดำเนินงานตามแผน อันดับเครดิตสะท้อนถึงผลงานของบริษัทในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร ตลอดจนการดำเนินธุรกิจแบบครบวงจรในกลุ่มผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และนโยบายการขยายธุรกิจในรูปการร่วมทุน ทั้งนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทที่ค่อนข้างต่ำ รวมถึงความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ด้วย แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของ
ทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงดำรงสถานะการเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารได้ต่อไป ทั้งนี้ การลงทุนร่วมกับผู้ร่วมทุนชาวญี่ปุ่นจะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และช่องทางการส่งออก ในขณะที่รายได้จากผลิตภัณฑ์อาหารจะช่วยลดความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ของบริษัทได้บางส่วน
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทเบทาโกรก่อตั้งในปี 2510 โดยกลุ่มตระกูลแต้ไพสิฐพงษ์ และปัจจุบันมีสถานะเป็นหนึ่งในผู้นำในกลุ่มเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารของไทย ณ เดือนพฤษภาคม 2554 ตระกูลแต้ไพสิฐพงษ์ถือหุ้นในบริษัททั้งโดยตรงในสัดส่วน 14.33% ของหุ้นทั้งหมด และถือหุ้นทางอ้อมผ่านบริษัทแม่คือ บริษัท เบทาโกร โฮลดิ้ง จำกัด อีก 69.45% ธุรกิจของบริษัทแบ่งออกเป็น 6 สาย ประกอบด้วย ธุรกิจเครือภูมิภาคและอาหารสัตว์ ธุรกิจไก่ ธุรกิจสุกร ธุรกิจอาหาร ธุรกิจสุขภาพสัตว์ และธุรกิจอื่น ๆ ระหว่างปี 2549-2553 รายได้จากธุรกิจไก่มีสัดส่วนมากที่สุดคิดเป็น 41% ของรายได้รวมของบริษัท ตามมาด้วยธุรกิจอาหารสัตว์ (37%) และธุรกิจสุกร (13%) รายได้จากการขายภายในประเทศของบริษัทคิดเป็น 86% ของรายได้รวมในปี 2553 ในขณะที่รายได้จากการส่งออกมีสัดส่วน 14%
ตั้งแต่การร่วมทุนกับบริษัทญี่ปุ่นครั้งแรกในปี 2523 บริษัทก็ยังคงดำเนินนโยบายดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการร่วมทุนกับหุ้นส่วนชาวญี่ปุ่น การขยายธุรกิจผ่านการร่วมทุนนอกจากจะเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสำหรับการส่งออกแล้ว ยังเป็นประโยชน์แก่บริษัทในการปรับปรุงการดำเนินงานและรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้วย โดยเฉพาะเทคโนโลยีการเลื้ยงสุกร SPF (Specific Pathogen Free) ซึ่งเป็นการเลี้ยงสุกรให้ปลอดจากโรคและสารตกค้าง ผลสำเร็จจากการร่วมทุนทำให้บริษัทเติบโตโดยลำดับจนเป็นผู้นำในการผลิตเนื้อสุกรคุณภาพสูงในประเทศไทยและมีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 2 ในธุรกิจเนื้อไก่ ปัจจุบันบริษัทดำเนินธุรกิจไก่และสุกรแบบครบวงจรตั้งแต่อาหารสัตว์ไปจนถึงการแปรเป็นอาหารสำเร็จรูป การดำเนินธุรกิจแบบครบวงจรส่งผลให้สินค้าของบริษัทมีมาตรฐานในระดับสากลทั้งในด้านความปลอดภัยและการตรวจสอบย้อนกลับ ตลาดส่งออกหลักของบริษัทคือประเทศญี่ปุ่นและกลุ่มประเทศประชาคมยุโรป โดยสินค้าที่ส่งออกไปประเทศญี่ปุ่นส่วนใหญ่เป็นการส่งออกผ่านทางผู้ร่วมทุนของบริษัท
ในปี 2553 บริษัทมียอดขาย 50,441 ล้านบาท และมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จำนวน 4,393 ล้านบาท รายได้จากธุรกิจไก่คิดเป็น 39% ของรายได้รวม ในขณะที่ธุรกิจอาหารสัตว์มีสัดส่วน 37% ธุรกิจสุกรมีสัดส่วน 15% ธุรกิจไส้กรอกและลูกชิ้น 4% และอื่น ๆ อีก 1% แม้ลูกค้าหลักของบริษัทจะเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและร้านอาหาร แต่บริษัทก็ให้ความสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์และสร้างตราสินค้าเพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาผลิตภัณฑ์พื้นฐานของบริษัทซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งนี้ ในระหว่างปี 2549-2553 ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีมูลค่าเพิ่มคิดเป็นสัดส่วน 16%-20% ของยอดขายรวมของบริษัทในแต่ละปี
ผลประกอบการของบริษัทในปี 2551-2553 อยู่ในระดับที่ดีตามวัฎจักรขาขึ้นของอุตสาหกรรม โดยยอดขายเพิ่มขึ้นเป็น 50,441 ล้านบาทในปี 2553 หรือเพิ่มขึ้น 7.85% จากปี 2552 ด้วยปัจจัยสนับสนุนหลักคือปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นในธุรกิจเครือภูมิภาคและอาหารสัตว์ ทว่าอัตรากำไรขั้นต้นลดลงเล็กน้อยจาก 14.58% ในปี 2552 เป็น 12.63% ในปี 2553 เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น บริษัทมีการจัดซื้อวัตถุดิบโดยการทำสัญญาสั่งซื้อล่วงหน้าและการทำสัญญาอนุพันธ์ในตลาดล่วงหน้าเพื่อบริหารจัดการต้นทุน ผลประกอบการของบริษัทในครึ่งแรกของปี 2554 ยังคงแข็งแกร่ง รายได้รวมเติบโต 14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 27,582 ล้านบาท อัตรากำไรขั้นต้นยังอยู่ระดับสูงที่ 14.7% ในครึ่งแรกของปี 2554 เนื่องจากราคาผลิตภัณฑ์ที่ยังอยู่ระดับสูงและการบริหารจัดการต้นทุน ราคาเนื้อไก่และหมูอ่อนตัวลงเล็กน้อยในเดือนตุลาคม 2554 เนื่องจากอุทักภัยในหลายพื้นที่ในประเทศไทย อย่างไรก็ตามอุทกภัยครั้งนี้คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อบริษัทไม่มากนักเนื่องจากฐานการผลิตหลักไม่ประสบปัญหาอุทกภัย มีฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่และฟาร์มหมูหนึ่งแห่งของบริษัท และฟาร์มของผู้รับจ้างเลี้ยงรายย่อยที่จังหวัดนครสวรรค์ประสบปัญหาน้ำท่วมแล้ว ขณะที่คาดว่าราคาสัตว์บกจะปรับตัวขึ้นหลังจากปัญหาอุทกภัยคลี่คลายลง
โครงสร้างเงินทุนของบริษัทนับว่าอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ โดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนปรับตัวดีขึ้นตามลำดับจาก 73.58% ในปี 2551 เป็น 54.72% ในปี 2552 และ 51.14% ในปี 2553 เนื่องจากบริษัทมีนโยบายชำระหนี้โดยใช้เงินทุนจากการดำเนินงาน นอกจากนี้ เงินกู้รวมก็ลดลงจาก 13,199 ล้านบาทในปี 2551 เป็น 9,180 ล้านบาทในปี 2553 ในขณะเดียวกัน อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมก็ยังอยู่ในระดับสูงที่ 39.14% ในปี 2553 แม้ว่าจะลดลงจาก 46.55% ในปี 2552 ก็ตาม
บริษัทมีแผนลงทุนจำนวน 2,000 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2554-2556 เพื่อขยายกำลังการผลิตทั้งในธุรกิจโรงงานอาหารสัตว์และผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปที่ดำเนินงานกับผู้ร่วมทุน รวมทั้งขยายช่องทางการจัดจำหน่าย ทั้งนี้ คาดว่าบริษัทจะมี EBITDA ปีละประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท ซึ่งทำให้บริษัทมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเพียงพอที่จะรองรับแผนการลงทุนที่วางไว้ได้ — จบ
บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) (BTG)
อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ A
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
หุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2561 A
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable (คงที่)