อพท. ชี้แจงความแตกต่างระหว่าง “ดาสต้าบอล” กับ “อีเอ็มบอล” ที่ใช้บำบัดน้ำเสียและการให้ความช่วยเหลือแก่ภาครัฐและประชาชน

ข่าวท่องเที่ยว Thursday October 20, 2011 16:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ต.ค.--อพท. ที่ผ่านมา องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้ดำเนินโครงการ DASTA Ball เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ ระยะเวลาของโครงการ ตั้งแต่วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๓ และสิ้นสุดโครงการภายในสิ้นเดือนธันวาคม ๒๕๕๔ ตามโครงการนี้ อพท. ได้ผลิตดาสต้าบอลไปแล้วจำนวน ๑ ล้านลูก และได้รับการตอบรับในคุณภาพการบำบัดน้ำเสียจากผู้ใช้เป็นอย่างดี เช่น กรมทรัพยากรน้ำ กรมควบคุมมลพิษ หน่วยงานราชการระดับจังหวัด ตำบลและอำเภอ รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชน และภาคเอกชน โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่หลายจังหวัดประสบอุทกภัยอย่างหนัก อย่างไรก็ตาม ยังมีหน่วยงานราชการและสื่อมวลชน ที่อาจมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับ “ดาสต้าบอล” และ “อีเอ็มบอล” ที่ใช้บำบัดน้ำเสีย พ.อ.ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า ดาสต้าบอลเกิดจากสายพันธุ์แบคทีเรียที่มีประสิทธิภาพสูงเพาะเลี้ยงจากกรมประมง และผสมเข้ากับน้ำทะเล แร่เพอร์ไลท์ น้ำหมักปลา รำละเอียดและกากน้ำตาล ผสมให้เข้ากันและปั้นเป็นก้อนกลมขนาดลูกปิงปอง ซึ่งการปั้นเป็นลูกกลมขนาดเท่าปิงปอง เพื่อให้แบคทีเรียมีบ้านยืดเกาะและสามารถรับออกซิเจนในการหายใจ และมีน้ำหนักพอจะทำให้จมลงในน้ำได้ดี จึงทนกับสภาพแวดล้อมได้ดีกว่าจุลินทรีย์บำบัดน้ำเสียทั่วไป ดังนั้น อพท. จึงได้ขอจดอนุสิทธิบัตรส่วนผสมของดาสต้าบอลเป็นการเฉพาะเรียบร้อยแล้วเมื่อปี ๒๕๕๓ แบคทีเรียใน DASTA Ball จะออกจากบอลจุลินทรีย์ไปกำจัดน้ำเน่าและกลิ่นเหม็นให้หายไปใน ๒๔ ชั่วโมง และหลังจากผ่านไป ๔๘ ชั่วโมง น้ำจะใสขึ้นอย่างเห็นได้ชัด “พอแบคทีเรียถูกโยนลงไปในน้ำขังเน่าเสีย มันจะออกไปปฏิบัติการบำบัดน้ำเสีย ด้วยการกินไนโตรเจนและสิ่งเน่าเสียเป็นอาหาร แล้วกลับเข้าบ้านก็คือแร่เพอร์ไลท์ที่มันสามารถยึดเกาะ แล้วออกไปปฎิบัติการบำบัดน้ำเสียจนหมดอายุการทำงาน ดาสต้าบอลของ อพท. จึงมีความแตกต่างจาก อีเอ็มบอล (Effective Microorganisms) ทั่วไป ทั้งในแง่หัวเชื้อจุลินทรีย์ วัตถุยืดเกาะคือแร่เพอร์ไลท์ และเทคนิคเฉพาะการปั้นบอลจุลินทรีย์ การปรับค่าความเป็นกรด-ด่างของน้ำให้เหมาะสมกับการทำงานของแบคทีเรีย ดาสต้าบอลสามารถกำจัดไนโตรเจนซึ่งเป็นส่วนประกอบของก๊าซไข่เน่าที่ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นได้ ที่ผ่านมาเราได้ใช้ดาสต้าบอลมา 2 ปีแล้ว เพื่อช่วยฟื้นฟูสภาพน้ำแหล่งท่องเที่ยวในเขตพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวที่ อพท. เข้าไปจัดรูปแบบการท่องเที่ยวตอบสนองความจำเป็นทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เช่น ในพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง” ผู้อำนวยการ อพท. กล่าว ส่วนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในขณะนี้ อพท. ดำเนินการอยู่ภายใต้ โครงการ DASTA Ball เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ อพท. จึงขอความร่วมมือจาก หน่วยงานราชการ ภาคเอกชน และสื่อมวลชน ที่ขอความอนุเคราะห์จาก อพท. นำดาสต้าบอลไปใช้บำบัดน้ำเสียหรือเป็นผู้เผยแพร่ข่าวสาร โปรดนำเสนอข่าวให้ถูกต้องว่าจุลินทรีย์ที่ใช้บำบัดนำเสียมาจากหน่วยงานใดเป็นผู้ผลิต เนื่องจากตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา อพท. ได้มีส่วนเข้าไปช่วยเหลือในภารกิจแก้ไขปัญหาน้ำเสียด้วยการส่งมอบ ดาสต้าบอล ผ่านหน่วยงานต่าง ๆ และประชาชน อยู่ตลอดเวลา แต่กลับมีการประชาสัมพันธ์ว่าเป็น อีเอ็มบอล นอกจากนี้ อพท. ไม่ได้มีการจำหน่ายดาสต้าบอลแต่อย่างใด ที่ผ่านมาเน้นผลิตและส่งมอบให้แก่หน่วยงานราชการและภาคเอกชนที่ติดต่อขอรับการช่วยเหลือ ติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ นางสาวชมพูนุท ธาราสิทธิโชค เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร สำนักบริหารกลาง โทร. ๐ ๒๓๕๗ ๓๕๘๐

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ