ILCT: ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการผ่านสื่อออดิโอเท็กซ์

ข่าวกีฬา Thursday January 8, 2004 10:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ม.ค.--ที่ปรึกษากฎหมายสากล
โดย ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ
บริษัท ที่ปรึกษากฎหมายสากล จำกัด
paiboona@mail.ilct.co.th
การให้บริการผ่านสื่อออดิโอเท็กซ์ (Audio Text) ในระบบ 1900 ในประเทศไทยถือว่าได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการทำนายดวงชะตา ธุรกิจ กีฬา การศึกษา บันเทิง ร้านอาหาร หรือ วิธีปรุงอาหารผ่านสื่ออินเตอร์เน็ทหรือมือถือ ซึ่งล่าสุดสื่อออดิโอเท็กซ์ได้พัฒนาจากการใช้มือถือมาเป็นการส่งสัญญาณผ่านดาวเทียม ซึ่งทำให้ผู้ใช้บริการสื่อออดิโอเท็กซ์สามารถโต้ตอบกับหมอดูหรือนักร้องคอนเสิร์ตได้แบบเรียลไทม์ (Real Time)
ปัญหาที่มักได้รับการสอบถามจากผู้ประกอบการ คือ การให้บริการผ่านสื่อออดิโอเท็กซ์ผ่านระบบ 1900 นั้น มีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง
(1) ประการแรก คงต้องพิจารณาในเรื่องของสิทธิในการให้บริการผ่านสื่อออดิโอเท็กซ์ก่อนเป็นอันดับแรก เนื่องจาก การให้บริการผ่านสื่อออดิโอเท็กซ์ ส่วนใหญ่ในปัจจุบันเป็นการให้บริการผ่านระบบโทรศัพท์ที่ขึ้นต้นด้วยหมายเลข 1900 ซึ่งมักให้บริการหมอดูทำนายดวงโชคชะตาราศี หรือ บริการให้คำปรึกษาผ่านทางหมายเลขโทรศัพท์ บุคคลที่จะให้บริการ 1900 ได้นั้นต้องเป็นผู้ที่ได้รับสัมปทานหรือสิทธิมาจากองค์การโทรศัพท์หรือบริษัท การสื่อสารแห่งประเทศไทย จำกัด เนื่องจาก เป็นธุรกิจที่ควบคุมตามกฎหมายโทรคมนาคม ดังนั้น บริษัทเอกชนทั่วไปจึงไม่สามารถให้บริการหากำไรจากโทรศัพท์ระบบดังกล่าวได้โดยเสรี
จากหลักเกณฑ์ดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการที่จะให้บริการผ่านสื่อออดิโอเท็กซ์ในรูปแบบต่าง ๆ โทรศัพท์ 1900 จะต้องทำสัญญาขอใช้บริการจากบริษัทเอกชนที่ได้รับสัมปทานมาโดยถูกต้อง
(2) การแบ่งผลกำไรจากการให้บริการ โดยปกติการแบ่งผลกำไรจากการให้บริการผ่านสื่อออดิโอเท็กซ์ ไม่ว่าจะเป็นบริการทำนายดวงชะตาหรือบริการสอบถามหรือตอบปัญหาผ่านระบบโทรศัพท์หรืออินเตอร์เน็ทนั้น จะแบ่งผลกำไรตามเปอร์เซ็นต์โดยคิดจากยอดรายได้ของค่าบริการในระบบ 1900 เป็นนาที (โดยปกตินาทีละ 9 บาท) และรายได้ส่วนหนึ่งของค่าบริการดังกล่าวทั้งหมดจะต้องแบ่งให้กับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ซึ่งในจุดนี้ภาระภาษีที่เกิดขึ้นจากการให้บริการดังกล่าวต้องมีการวางแผนภาษีให้ถูกต้อง
(3) การทำสัญญาร่วมให้บริการกับผู้รับสิทธิในการให้บริการสื่อออดิโอเท็กซ์ ผู้ให้บริการควรต้องตรวจสอบรายละเอียดและขอบเขตของสัญญาบริการให้ใช้สิทธิช่วงให้ชัดเจนถูกต้องรวมถึงควรพิจารณาถึงข้อสัญญาในการแบ่งผลกำไรจากหมอดูหรือผู้ที่ให้บริการให้คำปรึกษาผ่านทางโทรศัพท์แต่ละรายให้ชัดเจนว่าฝ่ายใดเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือสิทธิต่าง ๆ ที่เกิดจากการให้บริการดังกล่าว
(4) การใช้สื่อโฆษณาบริการออดิโอเท็กซ์ทางอินเตอร์เน็ท ควรตรวจสอบว่าการโฆษณาดังกล่าวขัดต่อกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างอื่นหรือไม่ นอกจากนี้ หากการให้บริการผ่านสื่อออดิโอเท็กซ์ดังกล่าวมีการขายสินค้าหรือบริการแฝงก็ควรพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องแต่ละฉบับ เช่น หากมีการโฆษณาขายสินค้าที่ควบคุมน้ำหนักก็อาจจะต้องขออนุญาตตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2522 ให้ถูกต้อง
ข้อมูลดังกล่าวข้างต้นเป็นเพียงข้อเสนอแนะเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งหากท่านผู้อ่านท่านใดต้องการทำธุรกิจดังกล่าวจริงคงต้องปรึกษาทนายความผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวหรืออาจอีเมล์คำถามดังกล่าวมาสอบถามผมก็ไม่ขัดข้องครับ
-รก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ