ฟิทช์: สถาบันการเงินไทยน่าจะรองรับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยได้

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 21, 2011 14:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ต.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) คาดว่าสถาบันการเงินไทยน่าจะได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบ 50 ปี ของประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตามผลกระทบดังกล่าวยังไม่มีผลในทางลบต่ออันดับเครดิตในทันที เนื่องจากตามมุมมองในขณะนี้ของฟิทช์ ระดับของความเสียหายต่อสินเชื่อในส่วนของภาคสถาบันการเงิน โดยรวมน่าจะยังคงอยู่ในระดับปานกลาง จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ธนาคารพาณิชย์มียอดสินเชื่อคงค้างในพื้นที่ที่ประสบปัญหาอุทกภัยอย่างรุนแรงใน 10 จังหวัด ของภาคกลาง อยู่ที่ 2.97 แสนล้านบาท หรือประมาณ 3.7% ของสินเชื่อทั้งระบบ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2554 หากนับรวมอีก 20 จังหวัดใกล้เคียงที่ประสบปัญหาเช่นกันแต่มีระดับความเสียหายที่น้อยกว่า ยอดสินเชื่อคงค้างรวมอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นระดับไม่เกิน 1 ล้านล้านบาทหรือ 13.4% ของสินเชื่อทั้งระบบ แม้ว่าระดับของสินเชื่อที่อาจได้รับผลกระทบในปัจจุบันยังคงอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ ยอดความเสี่ยงดังกล่าวอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อีกหากปัญหาอุทกภัยลุกลามไปยังเขตกรุงเทพฯชั้นนอกและในเขตนิคมอุตสาหกรรมที่สำคัญใกล้เคียง ลูกหนี้สินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและย่อม (SME) น่าจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในครั้งนี้ เนื่องจากเป็นกลุ่มลูกหนี้ที่กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัย ฟิทช์คาดว่าสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคารพาณิชย์ไทยน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามระดับของตัวเลขสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ดังกล่าวอาจจะยังไม่ปรับตัวสูงขึ้นมากนักในระยะสั้น เนื่องจากการที่ ธปท. ได้มีการเสนอมาตรการที่จะให้มีการผ่อนผันชั่วคราวสำหรับการจัดชั้นลูกหนี้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ในกรณีที่ธนาคารได้เข้าให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่ลูกหนี้ที่ประสบอุทกภัย นอกจากนี้สถานการณ์ของอุทกภัยที่ยืดเยื้อ รวมทั้งระดับของการฟื้นฟูและการซ่อมแซมความเสียหายที่ล่าช้า อาจมีผลให้ระดับของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นไปอีกในปี 2555 โดยรวมธนาคารพาณิชย์น่าจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการที่ต้องตั้งสำรองหนี้สูญเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ที่มีอัตราส่วนสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ เช่น ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (‘BBB’/Stable) และสำหรับปี 2555 ผลกระทบจากการตั้งสำรองหนี้สูญน่าจะเพิ่มสูงขึ้นไปอีก อย่างไรก็ตาม ระดับเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ไทยที่ยังคงแข็งแกร่ง โดยมีเงินกองทุนชั้นที่ 1 เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 11% สำหรับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 7 แห่ง สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคล โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน ก็มีความความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเช่นกัน ณ ปัจจุบัน จากการประเมินความเสียหายเบื้องต้น พบว่าธนาคารพาณิชย์ไทยที่ประกอบธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์มีระดับของสินเชื่อประเภทนี้ในจังหวัดที่ประสบปัญหาอุทกภัยคิดเป็น 3% - 10% ของพอร์ตสินเชื่อ ถึงแม้ว่าตัวเลขดังกล่าวอาจปรับตัวสูงขึ้นได้อีก หากปัญหาอุทกภัยลุกลามเข้ามาในเขตกรุงเทพฯ ในกลุ่มของธนาคารไทยที่ดำเนินธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) (‘A+(tha)’/Stable) มีความเสี่ยงจากการตั้งสำรองหนี้สูญที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากธนาคารมีอัตราส่วนสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (‘BBB’/Stable) ซึ่งมีสัดส่วนสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ทั้งรถยนต์เก่าและรถยนต์ใหม่ รวมทั้งสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน อยู่ในระดับที่สูง น่าจะมีความเสี่ยงจากการที่ต้องเผชิญความเสี่ยงจากการตั้งสำรองหนี้สูญที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตามธนาคารทั้งสองแห่งยังคงมีระดับเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง ซึ่งน่าจะสามารถรองรับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้ ในส่วนของกลุ่มสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ซึ่งดำเนินธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล (non-bank consumer finance company) ฟิทช์คาดว่า บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ จำกัด (มหาชน) หรือ AEONTS (‘BBB+(tha)’) อาจจะได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยในระดับที่สูงกว่า เนื่องจากสินเชื่อส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน และมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ต่ำ ถึง ปานกลาง และโดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่เป็นพนักงานโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างมากจากปัญหาอุทกภัยในครั้งนี้ ฟิทช์เชื่อว่าบริษัทมีความเสี่ยงที่จะประสบปัญหาเรื่องของอัตราผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 3 — 6 เดือนข้างหน้า ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัท อย่างไรก็ตาม AEONTS ยังมีระดับเงินทุนและสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง โดยบริษัทมีอัตราส่วนส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์ที่ 14% และ อัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องที่ 20% ณ สิ้น เดือนมิถุนายน 2554 ซึ่งปัจจัยดังกล่าวน่าจะช่วยให้บริษัทสามารถรองรับผลกระทบได้ในระดับหนึ่ง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ