กรุงเทพฯ--21 ต.ค.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์
คณะอุตสาหกรรมเกษตร ม.อ. วิจัยการแปรรูปอาหารเก็บไว้รับประทานได้นาน หวังรับมือภัยพิบัติ ล่าสุด จัดทำเมนูข้าวผัดเก็บได้นาน 1 เดือน จำนวน 5,000 ชุด ส่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยอุทกภัยในเขตภาคกลาง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสาวคนธ์ วัฒนจันทร์ ผู้จัดการศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรเพื่อการส่งออก หรือ ADCET มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า คณะอุตสาหกรรมอาหาร ม.อ.ได้ทำการศึกษาวิจัยการแปรรูปอาหารรองรับสถานการณ์อุทกภัยในเขตภาคใต้ โดยคิดค้นเมนูข้าวผัดที่ลดสัดส่วนขององค์ประกอบประเภทเนื้อและไข่ ที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาเคมีที่มีผลทำให้อาหารเน่าเสีย มาบรรจุในภาชนะปิดสนิท ผ่านการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ บรรจุลงในถุงยังชีพพร้อมน้ำดื่มที่ผลิตโดยคณะอุตสาหกรรมการเกษตร ที่มีการปิดฉลากบอกวันหมดอายุ และข้อควรระวังในการบริโภคที่ชัดเจน ทำให้ง่ายต่อการแจกจ่าย เพื่อรองรับเหตุการณ์อุทกภัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
“โครงการแปรรูปอาหารดังกล่าว มีเป้าหมายที่ต้องการเก็บอาหารไว้ให้นานที่สุด รองรับกับภาวะวิกฤติอุทกภัยในเขตพื้นที่ภาคใต้ที่มักเกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน แต่จากเหตุการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคกลางในขณะนี้ ม.อ.จึงเร่งให้การช่วยเหลือด้วยการนำผลงานวิจัยข้าวผัดที่เก็บได้นานถึง 1 เดือนมาช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน แม้ว่าผลงานวิจัยชิ้นนี้ยังไม่สมบูรณ์มากนัก โดยเฉพาะในเรื่องของสูตรอาหารที่มีเพียงเมนูเดียว แต่มั่นใจได้ในด้านความปลอดภัยและอายุการเก็บรักษาที่ยาวนานกว่าอาหารประเภทอื่นๆ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสาวคนธ์ กล่าว
ทั้งนี้ ในเบื้องต้น ม.อ.ได้จัดผลิตถุงอาหารยังชีพที่มีเมนูข้าวผัดที่เก็บได้นาน 1 เดือน ร่วมกับปลาแห้งทอด จำนวน 5,000 ชุดพร้อมน้ำดื่ม นำไปแจกจ่ายช่วยเหลือผู้ที่ประสบอุทกภัยในเขตพื้นที่ภาคกลาง เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ และกำลังรับบริจาคเงินเพื่อผลิตอาหารยังชีพเพิ่มเติม โดยในอนาคต จะขอทุนสนับสนุนวิจัยเพิ่มเติม เพื่อคิดสูตรอาหารให้มีความหลากหลาย รวมถึงการพัฒนาชนิดพันธุ์ข้าวที่เหมาะสม การศึกษาวิจัยเรื่องอายุการเก็บ การเปลี่ยนแปลงคุณภาพ และบรรจุภัณฑ์ โดยมุ่งหวังให้สามารถเก็บอาหารได้นานมากขึ้น ไม่เน่าเสีย เพื่อให้ผู้บริโภคหรือผู้ประสบภัยได้รับอาหารยังชีพที่มีรสชาติและคุณภาพที่ดีขึ้น