กรุงเทพฯ--25 ต.ค.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น
ปลาโลมาซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีใบหน้ายิ้มโดยธรรมชาติ ขณะที่เรานั่งชมการแสดงโชว์ของโลมาอย่างสนุกสนานอยู่นั้น ทราบไหมว่าเบื้องหลังรอยยิ้มของโลมาเป็นความทุกข์ต้องฝืนทนกับการถูกบังคับ เนื่องจากธรรมชาติของโลมาซึ่งเป็นสัตว์โลกที่ฉลาดที่สุดสายพันธุ์หนึ่งนั้น มีสังคมและมักอาศัยรวมเป็นฝูงตั้งแต่ 10 ตัว จนถึงฝูงใหญ่ขนาดซูเปอร์พอดส์ 1,000 ตัวในน่านน้ำที่มีอาหารสมบูรณ์ นิสัยช่างเล่น ร่าเริง เคลื่อนไหวปราดเปรียว ว่ายน้ำได้รวดเร็ว รักอิสระ ชอบท่องไปในทะเลกว้าง เมื่อต้องถูกคุมขังในที่จำกัดและโดดเดี่ยวจะเกิดความเครียด มีพฤติกรรมที่ถูกกดดันให้ผิดเพี้ยน โดยเฉพาะหลังการแสดงโชว์มักจะถูกเก็บอยู่ในแท็งค์น้ำ หรือบล็อกคอนกรีตแคบๆ ปลาโลมายังมีระบบประสาทที่ไวต่อเสียงสูงมาก สามารถได้ยินเสียงระยะไกลหลายกิโลเมตร ดังนั้นเมื่อมีเสียงรบกวนใดๆในแทงค์ที่คุมขัง จะก้องกังวานสะท้อนไปมาสร้างความทุกข์ทรมานทั้งกายและจิตใจอย่างยิ่ง ตลอดจนทำลายระบบประสาทของปลาโลมา
ดร.วีระชัย เตชะวิจิตร์ ประธานกรรมการ โรงเรียนนานาชาติ เดอะ รีเจ้นท์(The Regent’s School ) ได้ต้อนรับคุณริชาร์ด โอ แบรี่ ดาราภาพยนตร์ผู้ได้รางวัลออสการ์ และเป็นนักรณรงค์คืนอิสรภาพให้ปลาโลมา เป็นประธานเปิดโครงการ Save the Sea & Free Dolphins ของเหล่าเยาวชนโรงเรียนนานาชาติ เดอะ รีเจ้นท์ นักเรียนได้รณรงค์ด้วยป้ายมีข้อความ เช่น ” ชีวิตในแท็งค์ช่างทุกข์ทรมาน” , “ คุณอาจคิดว่าฉันกำลังยิ้ม แต่ฉันทุกข์ เพราะหมดอิสรภาพ “ “ เราไม่สนับสนุนการจับขังโลมา “ พร้อมรวบรวมลายเซ็นลงนามใน บัตร ” เราปฏิเสธการจับและขังโลมา ” (SAY NO TO DOLPHIN CAPTURES ) เพื่อส่งมอบให้นายกรัฐมนตรีคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยมี คุณมาร์ค เบอร์แมน จากสถาบันเอิร์ธ ไอส์แลนด์ , คุณไมเคิล วอลตัน อาจารย์ใหญ่ เดอะ รีเจ้นท์ และคุณแนนซี่ ลิน กิ๊บสัน ผู้ก่อตั้ง/กรรมการบริหาร มูลนิธิรักษ์สัตว์ป่า ร่วมงานด้วย
ดร.วีระชัย เตชะวิจิตร์ ( Dr.Virachai Techavijit ) ประธานกรรมการ โรงเรียนนานาชาติ เดอะ รีเจ้นท์ (The Regent’s School) กล่าวว่า “ ทางโรงเรียนนานาชาติเดอะรีเจ้นท์ ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติจากคุณริชาร์ด โอ แบรี่ ผู้ซึ่งอุทิศตนในการเรียกร้องให้คนทั่วโลกช่วยกันต่อต้านการล่า ซื้อขายและกักขังโลมา ซึ่งการมาเยือนประเทศไทยเป็นครั้งแรกนี้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชิญชวนเยาวชนไทยให้หันมาคืนอิสรภาพให้ปลาโลมาสู่บ้านของเขา และยังได้มาบรรยายให้ความรู้ความเข้าใจและกระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์โลมา อันจะนำไปสู่การลดปัญหาภัยคุกคามสัตว์โลกในท้องทะเล และการจัดการทรัพยากรทางทะเล นักเรียนโรงเรียนนานาชาติเดอะรีเจ้นท์ มีกลุ่มกิจกรรม ACRES (Animal Concerns Research and Education Society) ซึ่งทำงานกิจกรรมเพื่อศึกษาชีวิตสัตว์ในสิ่งแวดล้อม และกลุ่มเยาวชน บริษัท โกลด์ ฟิช(มหาชน) หรือGold Fish Plc.ซึ่งเป็นบริษัทจำลองของนักเรียนที่ทำธุรกิจเพื่อสังคม ทั้ง 2 กลุ่มจึงได้นำเจตนารมณ์ของโอ แบรี่ มาสานเป็น โครงการ Save the Sea & Free Dolphins ในประเทศไทย โดยทางโรงเรียนนานาชาติเดอะรีเจ้นท์ พร้อมที่จะสนับสนุนเยาวชนเผยแพร่ความรู้สู่ชุมชนในการอนุรักษ์โลมาและสัตว์โลกเพื่อสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการศึกษาชีวิตของโลมาและสัตว์ในทะเลเพื่อความอยู่รอดของประชากรโลมาซึ่งถือเป็นดัชนีบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศทางทะเลของเรา ปลูกฝังเมตตาธรรมในจิตใจของเยาวชนและคนไทยต่อเพื่อนร่วมโลกและโลกใบนี้ของเรา โครงการ Save The Sea & Free Dolphins จะเป็นเครือข่ายความร่วมมือกับ Dolphin Project ของริชาร์ด โอ แบรี่ ด้วย“
ในอดีตคนทั่วโลกคงจะจำ ริชาร์ด โอ แบรี่ ได้เป็นอย่างดี ในฐานะผู้ฝึกโลมาแสนรู้ที่ชื่อ ฟลิปเปอร์ ในภาพยนตร์ทีวีของอเมริกัน เรื่อง ฟลิปเปอร์... โลมาเพื่อนแก้ว (Flipper) ที่โด่งดังไปทั่วโลก และเจ้าฟลิปเปอร์ได้กลายเป็นขวัญใจของเด็กๆยุคนั้นรวมทั้งเด็กไทยด้วย เขากล่าวว่า
“ 40 กว่าปี ที่ผมได้คลุกคลีกับการทำงานเกี่ยวข้องกับปลาโลมาทั้ง2ด้าน โดย 10 ปีแรกเริ่มอาชีพการจับและฝึกปลาโลมาสำหรับศูนย์สัตว์ทะเลไมอามี่ The Miami Seaquarium และ30กว่าปีหลังเป็นงานต่อต้านการล่าจับโลมา เหตุการณ์ที่พลิกชีวิตของผม ในวันหนึ่ง เคธี่ โลมาผู้สวมบทบาทเป็นฟลิปเปอร์ ในจอแก้ว ได้ตรอมใจตายในอ้อมแขนของผม ทำให้ผมได้ตระหนักว่าการจับปลาโลมามาฝึกการแสดงนั้นเป็นความผิดพลาดอย่างยิ่ง นับแต่นั้นมา ผมและภรรยาได้รณรงค์เพื่อปลดปล่อยปลาโลมาโดยก่อตั้งโครงการ Dolphin Project ในวันสิ่งแวดล้อมโลก (Earth Day)ในปี 1970 ซึ่งเป็นองค์กรที่มุ่งมั่นให้ความรู้แก่สังคม ถึงชะตากรรมของโลมาที่ถูกล่าจับ หรือถูกบังคับฝึกแสดงโชว์ เป็นการทรมานโลมาอย่างสาหัส เขาได้ช่วยเหลือปลดปล่อยปลาโลมาจำนวนมากในประเทศเฮติ โคลัมเบีย กัวเตมาลา นิคารากัว บราซิล บาฮามัสและสหรัฐอเมริกา โดยฟื้นฟูสุขภาพก่อนที่จะปล่อยปลาโลมาที่ถูกคุมขังสู่ท้องทะเล “
ปัจจุบัน ริชาร์ด โอ แบรี่ ทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ทะเลที่เลี้ยงลูกด้วยนมให้กับสถาบันเอิร์ธไอส์แลนด์ ( Earth Island Institute) และเป็นผู้อำนวยการของโครงการรณรงค์ช่วยปลาโลมาในญี่ปุ่น ( Save Japan Dolphins Campaign) ซึ่งได้เรียกร้องให้นานาประเทศหยุดฆ่า ล่า หรือคุมขังโลมาเพื่อการค้า เขารณรงค์อิสรภาพแก่ปลาโลมาที่ถูกจับ และยังได้ทำแคมเปญต่อต้านอุตสาหกรรมล่าปลาโลมา ซึ่งมีมูลค่าหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ โอ แบรี่ได้เดินทางไปเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับปลาโลมาทั่วโลก เพื่อที่จะบอกกับชาวโลกว่า การล่าจับและกักขังปลาโลมา เป็นสิ่งที่ทำร้ายเพื่อนร่วมโลกและสิ่งแวดล้อมของโลกเรา แม้ว่าสิ่งเหล่านั้นจะทำให้บางคนมองเขาเป็นศัตรูก็ตาม ทำให้เขาได้รับรางวัล Environmental Achievement Award จากสหประชาชาติในปี 2009
ในปี 1989 โอ แบรี่ ได้ก่อตั้งองค์กรเพื่อสังคมในชื่อ Dolphin Project ,Inc และได้แต่งหนังสือ 3 เล่มเกี่ยวกับปลาโลมา คือ Behind the Dolphin Smile และ To Free a Dolphin และเมื่อไม่นานนี้ยังได้ออกหนังสือเล่มใหม่ชื่อ Die Bucht ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตปลาโลมา และเบื้องหลังการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง The Cove ตีพิมพ์ในประเทศเยอรมัน
โอ แบรี่ ได้รับรางวัลออสการ์สาขาสารคดียอดเยี่ยมจากภาพยนตร์เรื่อง The Cove ในปี 2009 ซึ่งได้แอบซุ่มถ่ายทำในแถบชุมชน ไทจิ ซึ่งเป็นแหล่งใหญ่ของการล่าโลมาในประเทศญี่ปุ่น ภาพยนตร์นี้ตีแผ่ขบวนการล่า ฆ่าและค้าโลมาที่มีโยงใยกับธุรกิจสวนสนุกการแสดงโชว์ทั่วโลก นอกจากนี้โอแบรี่และลูกชาย ชื่อ ลินคอล์น ยังมีบทบาทเป็นทีมเบื้องหลังการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง Blood Dolphins TV Show ให้กับ ดิสคัฟเวอร์รี่ แอนิมอลแพลนเน็ต
เขาเชื่อมั่นว่าการให้ความรู้แก่เยาวชนจะเป็นอาวุธสำคัญในการรณรงค์ปลดปล่อยปลาโลมาสู่บ้านแห่งท้องทะเล และนำความรู้มาช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลของเรา
PR Agency : บ.เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น จก.(BrainAsia Communication )
Tel : 02-911-3282 Fax : 02-911-3208
Email : brainasia@hotmail.com