600 นักวิชาการ ค้านยุบรวมองค์กรวิจัย

ข่าวทั่วไป Monday January 12, 2004 10:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ม.ค.--สกว.
นักวิชาการค้านยุบรวมองค์กรสนับสนุนวิจัยเหลือองค์กรเดียว เหตุระบบวิจัยควรมีความหลากหลายองค์กรเพื่อให้เกิดการแข่งขัน แต่ต้องเป็นองค์กรอิสระ มีการบริหารจัดการที่ดี เป็นมืออาชีพ ที่สำคัญต้องสามารถตรวจสอบได้ และสนองต่อนโยบายภาครัฐ พร้อมกับการสร้างกำลังคน
เมื่อวันที่ 11 ม.ค. ที่ผ่านมา ที่ รร.เฟลิกซ์ ริเวอร์แคว รีสอร์ท จ.กาญจนบุรี ในการประชุมระดมสมองเมธีวิจัยอาวุโส จากทุกสาขากว่า 50 คน และนักวิจัยร่วม 600 คน ร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนระบบวิจัยของประเทศที่จะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้
นพ. วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร นักวิจัยอาวุโสด้านสาธารณสุข กล่าว่า ระบบวิจัยของประเทศที่จะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคตต้องมีความโปร่งใส อยู่บนฐานการใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง ตรวจสอบได้ และต้องสร้างจิตสำนึกในการรับผิดชอบต่อผลงานและสังคมโดยรวม ควบคู่ไปกับการสร้างศักยภาพของนักวิจัยรุ่นใหม่เพื่อทดแทนคนรุ่นเก่า และงานวิจัยต้องเปิดเผยต่อสาธารณะให้มากขึ้น"ส่วนที่ว่าจะมีการยุบรวมองค์กรวิจัยนั้น โดยส่วนตัวคิดว่าผู้ที่เกี่ยวข้องน่าจะมีการจัดเวิร์คช็อบเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาคมวิจัยว่ามีความเห็นอย่างไร และทิศทางของระบบวิจัยของประเทศที่ควรจะเป็นนั้นเป็นอย่างไร เพราะหากมีการปรับระบบวิจัยจริง ๆ แล้วคิดว่าควรมาการปรับทั้งระบบ โดยองค์กรไหนที่มีการบริหารจัดการที่ดีอยู่แล้วก็ควรจะสนับสนุนให้มีการทำงานต่อหรือขายขอบข่ายงานให้มากขึ้น"
ที่ประชุมเห็นร่วมกันว่า นักวิจัยที่จบปริญญาเอกมาใหม่ ๆ ยังไม่มีประสบการณ์ในการทำงานวิจัยที่แก้ปัญหาประเทศได้อย่างเต็มที่ ต้องสนับสนุนผู้ที่มีศักยภาพเหล่านี้ให้ทำวิจัยร่วมกับกลุ่มคลัสเตอร์วิจัยเพื่อสั่งสมประสบการณ์ที่จะสามารถสร้างกลุ่มวิจัยใหม่ได้ภายใน 5 ปี ซึ่งวิธีการจัดการที่ สกว. ทำอยู่ในขณะนี้เป็นแนวทางหนึ่งที่จะสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่
ด้าน ศ.ดร. อมเรศ ภูมิรัตน์ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. กล่าวว่า "อยากให้ทุกคนคิดว่าการยุบรวม วช. กับ สกว. เข้าด้วยกันนั้นเพื่อให้ สกว. ซึ่งเป็นองค์กรที่มีความเข้มแข็งในเรื่องการบริหารจัดการดีอยู่แล้วจะได้เข้าไปบริหารงบวิจัยบูรณาการหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่ ทำไมเราไม่ทำให้มันใช่ ถ้าทุกคนบอกว่า สกว. มีการบริหารจัดการที่ดี ผมก็คิดว่านี่คือโอกาสที่ดี ที่ สกว. จะมีโอกาสเข้าไปมีส่วนในการบริหารวานวงิจัยที่คาดว่าน่าจะมีงบประมาณสนับสนุนค่อนข้างมาก"
"แนวคิดในเรื่องของการวิจัยบูรณาการที่รัฐบาลประกาศออกมานั้น เป็นแนวคิดที่ดี แต่ทำอย่างไรจะให้งบวิจัยบูรณาการที่เป็นแนวคิดที่ดีอยู่แล้วนี้ได้รับการบริหารจัดการจากองค์กรวิจัยที่มีความเข้มแข็งในเรื่องของการบริหารจัดการ"
ดร. เกตุ กรุดพันธุ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แสดงความคิดเห็นต่อแนวคิดนี้ว่า การที่ สกว. จะบริหารจัดการงานวิจัยได้เข้มแข็งขึ้นหรือไม่จากการยุบรวมองค์กรนั้น ขึ้นอยู่กับขอบเขตอำนาจการดำเนินการและกลไกการบริหารใหม่ที่พัฒนาขึ้น
ศ.ดร. ประเสริฐ โศภณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สกว. เป็นหน่วยงานที่มีระบบการบริหารจัดการที่ดี โดยเฉพาะภาพความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (ส.ก.อ.) ที่ร่วมมือกันสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ให้เกิดขึ้นกับประเทศ โดยดึงนักวิจัยอาวุโสมาเป็นพี่เลี้ยง ซึ่งภาพการจัดการเช่นนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในอดีต ต้องยอมรับว่าวิธีการจัดการที่ครบวงจรเช่นนี้คือจุดแข็งสำคัญที่ สกว. มี ตัวอย่างที่เราสามารถจัดประชุมของนักวิจัยทุกสาขาทั่วประเทศกว่า 600 คนในวันนี้ได้ ย่อมแสดงให้เห็นว่า สกว. ทำได้ดีในเรื่องของการจัดการ
ศ.นพ. สิริฤกษ์ ทรงวิไล คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ตนอยากเห็นหน่วยงานวิจัยใหม่ที่เกิดขึ้น มีความแข็งแกร่งในเรื่องของการบริหารจัดการแบบ สกว. โดยส่วนตัวมองว่าการยุบรวม วช. กับ สกว. นั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่สำคัญคือ เมื่อยุบรวมแล้วระบบบริหารจัดการที่แข็งแกร่งของ สกว. จะคงอยู่หรือไม่ ปัจจุบันระบบการประเมินของ สกว. นั้น วช. เริ่มนำไปใช้บ้างแล้ว แต่ทำอย่างไรจะให้มีการนำไปใช้มากขึ้น
รศ.นพ. วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ปัญหาที่นักวิจัยพูดถึงอยู่ในขณะนี้คิดว่าไม่ได้อยู่ที่การยุบ สกว. หรือไม่ยุบรวม แต่สิ่งที่นักวิจัยไทยกำลังกังวลมากที่สุดคือ "การบริหารจัดการงานวิจัย" เพราะหากมีการทุ่มงบประมาณการวิจัยมากขึ้นแต่ระบบบริหารจัดการไม่มีประสิทธิภาพ ความเสียหายจะเกิดขึ้นกับประเทศ
"เราไม่ได้ปกป้อง สกว. เพราะคนที่ทำงานให้กับ สกว. นั้นเก่งอยู่แล้ว หาก สกว. ถูกยุบผมเชื่อว่านักวิจัย สกว. ไม่มีใครตกงาน เพราะหน่วยงานที่เกิดใหม่ก็ต้งอเอาคนเหล่านี้ไปทำงาน แต่พวกเรากลัวว่าเมื่อยุบรวมแล้วจะทำให้ระบบบริหารจัดการไม่ดีก็ได้ หรือแม้กระทั่งเมื่อ สกว. ใหญ่ขึ้นด้วยการไปรวมกับ วช. แล้ว ต้องทำหน้าที่บริหารจัดการงานวิจัยทั่วประเทศ สกว. อาจจะทำได้ไม่ดีก็ได้ เพราะฉะนั้นการที่มีหน่วยยงานวิจัยหน่วยงานเดียวแล้วผูกขาดทั้งหมด ผมคิดว่าอันนี้ไม่ดีสำหรับนักวิจัย เพาะทำให้นักวิจัยไม่มีทางเลือกและไม่ก่อให้เกิดการแข่งขัน"
ศ.นพ. วิจารณ์ พานิช ผู้อำนวยการสถาบันจัดการความรู้เพื่อสังคม (ส.ค.ส.) กล่าวว่า ความสนใจในเรื่องนี้ไม่ควรอยู่ที่ สกว. แต่ควรสนใจภาพที่ใหญ่กว่า คือประเทศต้องการสร้างความรู้ และใช้ความรู้เป็นพื้นฐานการพัฒนา เพราะฉะนั้นเมื่อมองอย่างนี้แล้วคิดว่า อย่างไรก็ต้องมีการปรับโครงสร้างองค์กรวิจัยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่ควรมีการยุบรวมองค์กร แต่จำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างระบบวิจัยชาติด้ยการให้มีองค์กรสนับสนุนการวิจัยเพิ่มขึ้น อาจจะต้องมีการแตกตัว หรือสร้างองค์กรใหม่ และหาคนที่มีความสามารถมาทำงานและมีวิธีการที่ดี
"ผมคิดว่าต้องให้ความสำคัญกับการจัดการงานวิจัยในหลาย ๆ ระดับ ไม่ใช่เฉพาะแง่การให้ทุนสนับสนุนการวิจัยเท่านั้น แต่ต้องพยายามหาจุดแข็งว่ามีอยู่ที่ไหน อย่างไร และดึงคนเหล่านั้นให้มาช่วยกันทำงานในระบบวิจัยของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะนี้ ศูนย์กลางของความสนใจอยู่ที่งานวิจัยบูรณาการ ที่อยากให้เกิดความสำเร็จให้ได้ เพราะฉะนั้นในขณะนี้จะเห็นว่าโมเดลของ สกว. เป็นที่ยอมรับแม้กระทั่ง วช. ก็นำรูปแบบไปใช้แต่ยังไม่ได้สามารถเข้าถึงบริบทและแก่งของการบริหารจัดการ จึงต้องมีคนที่มีประสบการณ์ไม่ว่าจะเป็นคนของ สกว. หรือเครือข่าย ซึ่งเป็นคนที่มีฉันทะและความสามารถนอกเหนือไปจากงานวิจัย ก็สามารถเข้าไปช่วยได้ ผมมองอย่างนั้น อย่ามองว่าเป็นคู่แข่งหรือความขัดแย้งระหว่างองค์กร"
ศ.นพ. วิจารณ์ กล่าวสรุปว่า งานวิจัยบูรณาการเป็นความคิดที่ดีที่คนเก่งคนมีความสามารถจะต้องเข้าไปช่วยกันบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ และประสบผลสำเร็จ เพื่อให้ความคิดที่ดีเกิดประโยชน์กับประเทศชาติอย่างแท้จริง มิเช่นนั้นก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายกับประเทศได้ในที่สุด
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ สกว. โทร. 0-1910-8675 (คุณวิมลพร)--จบ--
-รก-

แท็ก รีสอร์ท  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ