กรุงเทพฯ--25 ต.ค.--สถาบันรหัสสากล
สถาบันรหัสสากล เดินเครื่องเต็มสูบสนับสนุน ผลักดันให้เกิดบุคลากรไทยที่มีศักยภาพ เปิดเวทีความคิดสร้างสรรค์ด้านเทคโนโลยีบาร์โค้ด เตรียมต่อยอดพัฒนาในเชิงธุรกิจในอนาคต พร้อมส่งเสริมสู่การพัฒนาในระดับสากลสร้างความมั่นใจสู่ผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ กับเวทีพัฒนาด้านบุคลากรไทยที่มีศักยภาพ ภายใต้โครงการประกวดออกแบบบาร์โค้ดบนบรรจุภัณฑ์ ครั้งที่ 2 ปี 2554
สถาบันรหัสสากล หรือ GS1 Thailand เดินหน้าหาบุคลากรที่มีคุณภาพด้านการออกแบบการประกวดออกแบบบาร์โค้ด เพื่อต่อยอดความคิดสร้างสรรค์จากการประกวด และนำผลงานไปใช้ประโยชน์ได้จริงในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ในอนาคต รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ในตลาด อีกทั้งยังถือเป็นเวทีที่เปิดโอกาสทางความคิดให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ ทั้งในกลุ่มของนักศึกษาและประชาชนทั่วไปที่มีแนวความคิดสร้างสรรค์ ส่งผลงานมาเข้าร่วมประกวดออกแบบบาร์โค้ดบนบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเป็นโอกาสครั้งสำคัญในส่วนของภาคการศึกษา ภาคธุรกิจ ที่จะมีส่วนในพัฒนาการใช้บาร์โค้ดระบบมาตรฐานสากลกับกลุ่มธุรกิจต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและสวยงาม พร้อมทั้งภาคการศึกษาที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของสัญลักษณ์บาร์โค้ด จึงให้การตอบรับโครงการออกแบบบาร์โค้ดเป็นอย่างดี ในหลายมหาวิทยาลัยได้กำหนดให้ผลงานที่ส่งประกวดเป็น Project หนึ่ง ในวิชาการเรียนการสอน
นายมังกร ธนสารศิลป์ ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันรหัสสากล กล่าวว่า สถาบันรหัสสากล หรือ GS1 Thailand GS1 เป็นองค์กรระดับสากลที่จัดตั้งมาตรฐาน และให้การสนับสนุน เทคโนโลยีต่างๆไม่ว่า จะเป็น Barcode & Identification, ECOM, GDSN, EPC/RFID ไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม และภาคธุรกิจทั่วโลก สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจได้อย่างมีศักยภาพ โดยมุ่งเน้นในเรื่องของ Global Language of business และการเชื่อมโยงข้อมูลของแต่ละหน่วยธุรกิจใน Supply chain ให้สามารถติดต่อสื่อสาร และแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างคู่ค้าทั่วโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมเป็นส่วนในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจในประเทศให้มีการเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ
นายมังกร กล่าวอีกว่า ระบบเทคโนโลยีบาร์โค้ดในปัจจุบันถือเป็นการใช้ภาษาเดียวกันทั่วโลก เพื่อให้ง่ายต่อธุรกิจ ในอุตสาหกรรมทุกภาคส่วน ลดการผิดพลาดจากการขนส่ง ซึ่งการคิดค้น สร้างสรรค์เทคโนโลยีบาร์โค้ดจึงไม่หยุดนิ่งมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เหมาะกับตลาด สินค้าที่จะนำไปใช้ ตลอดจนรองรับความต้องการของภาคธุรกิจที่ต้องการเทคโนโลยีบาร์โค้ดเข้าไปมีบทบาทในบรรจุภัณฑ์ของตนเอง ซึ่งการบริโภคสินค้าแต่ละชนิดนั้น นอกจากคุณภาพของผลิตภัณฑ์จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ผู้บริโภคใช้ในการเลือกซื้อสินค้าแล้ว รูปแบบบรรจุภัณฑ์ก็ถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ผู้บริโภคคำนึงถึงไม่แพ้กัน ซึ่งบาร์โค้ด ก็เป็นส่วนสำคัญที่อยู่บนบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ดังนั้นหากบาร์โค้ดเหล่านี้มีการออกแบบให้สวยงาม จะทำให้บาร์โค้ดเหล่านี้ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับบรรจุภัณฑ์
“โครงการประกวดออกแบบบาร์โค้ดฯจึงเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่สถาบันรหัสสากล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้เห็นถึงความสำคัญของการออกแบบสัญลักษณ์บาร์โค้ด จึงได้มีการจัดโครงการ “การประกวดออกแบบบาร์โค้ดบนบรรจุภัณฑ์” ขึ้นเพื่อให้นิสิต นักศึกษา และบุคคลทั่วไปได้มีโอกาสสร้างสรรค์ผลงาน และเผยแนวความคิดในการออกแบบสัญลักษณ์บาร์โค้ดบนบรรจุภัณฑ์ เพื่อสามารถเป็นอีกหนึ่งช่องทางเพื่อตอบโจทย์ของตลาดในปัจจุบัน โดยผลงานต่าง ๆ เหล่านี้ยังมีโอกาสที่จะเกิดมูลค่า โดยสถาบันรหัสสากลจะเป็นช่องทางในการพัฒนาต่อยอด เพื่อนำไปใช้งานในเชิงธุรกิจทั้งในและต่างประเทศในอนาคต” นายมังกร กล่าวสรุป
นางพิชญา วัชโรทัย ผู้อำนวยการสถาบันรหัสสากล หรือ GS1 Thailand กล่าวว่า โครงการประกวดออกแบบบาร์โค้ดบนบรรจุภัณฑ์ปี 2554 ถือเป็นการจุดไฟทางความคิดให้กับกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ และภาคประชาชนที่ให้ความสนใจในระบบเทคโนโลยีบาร์โค้ด เนื่องจากเทคโนโลยีบาร์โค้ดเป็นตัวแปรสำคัญในการนำไปสู่การพัฒนาภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรมต่างๆ โดยผ่านหมายเลขประจำตัวสินค้าที่ไม่ซ้ำซ้อน สามารถบ่งชี้สินค้าได้ถูกต้อง แม่นยำและรวดเร็ว จึงช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลสินค้ากันได้ทั้งระบบซัพพลายเชน ตั้งแต่ระดับการผลิต ไปจนถึงมือผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นเทคโนโลยีบาร์โค้ดจึงเพิ่มความถูกต้องรวดเร็ว ความสะดวก และเสริมสร้างความปลอดภัยจากการใช้สินค้าและบริการให้แก่ผู้บริโภค
“ดังนั้นปัจจุบัน บาร์โค้ดเข้ามามีบทบาทและถูกใช้เป็นภาษาที่เป็นสากลในการติดต่อสื่อสารระหว่างคู่ค้าหรือกลุ่มธุรกิจต่างๆ ทั่วโลกมากขึ้น ทั้งทางด้านการจัดเก็บสินค้า การขนส่งสินค้า และการจัดจำหน่าย ดังนั้น สถาบันรหัสสากลจึงได้จัดทำโครงการฯ ดังกล่าวเพื่อให้นิสิต นักศึกษา และบุคคลทั่วไป ได้รับความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีและระบบบาร์โค้ดมาตรฐานสากลGS1 ร่วมไปถึงได้ใช้ความรู้ความสามารถทางด้านศิลปะการออกแบบ ตลอดจนเทคโนโลยีการพิมพ์บาร์โค้ด มาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสร้างสรรค์ และสามารถประยุกต์ใช้งานกับภาคธุรกิจต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง สวยงาม และมีประสิทธิภาพเป็นไปตามมาตรฐานสากล GS1 ทั้งนี้ โครงการประกวดและออกแบบบาร์โค้ดบนบรรจุภัณฑ์ยังช่วยสร้าง และพัฒนาทักษะด้านการออกแบบ ความคิดสร้างสรรค์ให้กับนิสิตนักศึกษาตลอดจนบุคคลทั่วไป รวมทั้งยังเป็นการสนับสนุนและยกระดับสังคมเยาวชนไทยให้มีศักยภาพพร้อมทั้งสร้างประสบการณ์ในการแข่งขันระดับประเทศ”
นางพิชญา กล่าวอีกว่า ที่มาของคอนเซ็ปต์ “Amazing Barcode Design for Food Package” ซึ่งเป็นโจทย์ของการประกวดในปีนี้ คิดขึ้นมาตามแนวความคิดของคอนเซ็ปต์ “ประเทศไทย แหล่งอาหารที่สำคัญของโลก ครัวของโลก” ที่ได้เล็งเห็นว่าธุรกิจอาหารในประเทศเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้ปีละหลายพันล้านบาท และเพื่อให้ได้ผลงานที่มีคุณภาพ จะคัดเลือกผลงานทั้งหมด 30 ชิ้น จากผลงานที่ส่งเข้ามาประกวดทั้งหมด เพื่อนำผลงานทั้ง 30 ชิ้นดังกล่าวไปตัดสินหาผลงานที่ได้รับรางวัล โดยเกณฑ์การตัดสินผลงานในครั้งนี้จะยึดหลักเกณฑ์ที่ว่า บาร์โค้ดจะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติต่างๆ ดังนี้ สามารถใช้งานได้จริงมีประโยชน์ใช้สอยและถูกต้องตามมาตรฐานสากล GS1, มีความคิดสร้างสรรค์, มีความสวยงาม, มีความเหมาะสม/ประสิทธิภาพ และมีความประทับใจโดยภาพรวม
“โดยผลงานที่ได้รางวัลชนะเลิศ จะได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 จะได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เงินรางวัล 10,000 บาท และรางวัลชมเชยทั้งสิ้น 3 รางวัลๆ ละ 5,000 บาท โดยผลงานทั้งหมดทางสถาบันรหัสสากล หรือ GS1 Thailand จะนำไปพัฒนาต่อยอด เพื่อนำไปใช้ในบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ในการพัฒนาภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมต่าง ๆ ในประเทศไทยและในระดับสากล ซึ่งจากจุดนี้สถาบันรหัสสากลเชื่อว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาทางความคิด และเป็นจุดที่ริเริ่มสร้างสรรค์ผลงาน และนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพของบุคลากรไทย อีกทั้งยังถือเป็นเวทีในการเปิดความคิด สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคตของภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น รวมทั้งภาคการศึกษาในประเทศไทยที่สนับสนุน ส่งเสริมให้มีการบรรจุเข้าเป็นส่วนหนึ่ง หรือ project หนึ่งในการเรียนการสอนในระดับอุคมศึกษาด้วย” นางพิชญา กล่าวสรุป
ติดต่อ:
สถาบันรหัสสากล (GS1 Thailand) / ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โซน C ชั้น 3
60 ถ.รัชดาภิเษกตัดใหม่ แขวงคลองเตย
เขตคลองเตย กรุงเทพฯ 10110
Tel. 02-345-1200 , 02-345-1210 Fax. 02-345-1217-8