สภากทม. เห็นชอบ 3 ร่างข้อบัญญัติควบคุมอาคารบริเวณสะพานพระราม 8 สวนหลวง ร.9 และริมถนน ช. 2

ข่าวทั่วไป Monday January 12, 2004 12:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ม.ค.--กทม.
ที่ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 1 (ครั้งที่ 1) ประจำปี พ.ศ.2547 ได้มีการพิจารณา ญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง ใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท บริเวณโดนรอบสะพานพระราม 8 ในท้องที่แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด และแขวงอรุณอมรินทร์ แขวงศิริราช แขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร พ.ศ…. ในวาระที่สอง และวาระที่สาม
นายสกุล โตโสภณ ประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดห้าม ก่อสร้าง ดัดแปลง ใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท บริเวณโดยรอบสะพานพระราม 8 ในท้องที่แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด และแขวงอรุณอมรินทร์ แขวงศิริราช แขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร พ.ศ…. กล่าวว่า เนื่องจากได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยในเรื่องดังกล่าวขึ้นออกใช้บังคับ เพื่อประโยชน์ในการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมือง การผังเมือง การอำนวยความสะดวกแก่จราจร การสถาปัตยกรรม และการควบคุมความหนาแน่นของอาคาร ด้วยการกำหนดมาตรการควบคุมความสูง ชนิด และประเภทอาคาร โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ซึ่งมีผลใช้บังคับเป็นการชั่วคราวมีกำหนด 1 ปี และหากไม่มีการออกกฎกระทรวงหรือข้อบัญญัติท้องถิ่น ภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยมีผลใช้บังคับ จะทำให้ประกาศดังกล่าวถูกยกเลิกไป ดังนั้น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครขึ้น
ทั้งนี้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบญัตติร่างข้อบัญญัติดังกล่าว โดยจะนำเสนอผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพิจารณาลงนามและประกาศใช้เป็นข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครต่อไป
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มีการพิจารณาญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง ใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท บริเวณโดยรอบสวนหลวง ร.9 ในท้องที่ แขวงหนองบอน แขวงประเวศ เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ …) พ.ศ… ในวาระที่สอง และวาระที่สาม
นายกิตพล เชิดชูกิจกุล ประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง ใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท บริเวณโดยรอบสวนหลวง ร.9 ในท้องที่แขวงหนองบอน แขวงประเวศ เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร (ฉบับที่..) พ.ศ…. กล่าวว่า ปัจจุบันสภาพพื้นที่โดยรอบสวนหลวง ร.9 มีการขยายตัวของเมือง ทำให้เกิดความเจริญเติบโตของชุมชน พื้นที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ประกอบกับเป็นพื้นที่รองรับกิจกรรมต่อเนื่องสนามบินสุวรรณภูมิ ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบันและข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินในผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร จึงจำเป็นต้องตราข้อบัญญัตินี้ขึ้น เพื่อเป็นประโยชน์ในด้านการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การผังเมือง และการสถาปัตยกรรม อนึ่ง คณะกรรมการวิสามัญฯ มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะว่า กรุงเทพมหานครควรกำหนดมาตรการควบคุมการก่อสร้างป้ายโฆษณาขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อความปลอดภัย ความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความสวยงาม โดยเฉพาะความสูงของป้ายไม่ควรเกินระยะที่วัดจากจุดที่ตั้งไปถึงขอบเขตที่ดินแปลงที่ติดตั้งป้าย และกำหนดมาตรการเพื่อควบคุมมิให้มีการก่อสร้างป้ายโฆษณาภายในระยะ 15 เมตร จากเขตถนนทั้งสองฟากตามถนนสายสำคัญทุกสายในเขตกรุงเทพมหานครด้วย ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบญัตติร่างข้อบัญญัติ ดังกล่าว โดยจะนำเสนอผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพิจารณาลงนามและประกาศใช้เป็นข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครต่อไป
ในวันเดียวกัน ที่ประชุมสภากทม.ได้พิจารณาญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง ใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท ริมถนนสายเชื่อมระหว่างถนนเพชรเกษม — ติวานนท์ - รัตนาธิเบศร์ (ถนนสาย ช.2) ทั้งสองฟาก ในท้องที่แขวงตลิ่งชัน แขวงฉิมพลี แขวงบางระมาด แขวงบางพรหม แขวงบางเชือกหนัง เขตตลิ่งชัน แขวงบางแวก แขวงบางจาก แขวงคูหาสวรรค์ และแขวงปากคลองภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร พ.ศ…. โดย นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครเห็นว่าถนนสายเชื่อมต่อระหว่างถนนเพชรเกษม - ติวานนท์-รัตนาธิเบศร์(ถนนสาย ช.2) เป็นถนนที่ก่อสร้างในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของกรุงเทพมหานครในแนวเหนือ — ใต้ เพื่อเชื่อมกับถนนสายหลักที่สำคัญ ซึ่งจะช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในปัจจุบันบริเวณริมถนนสายนี้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยการปลูกสร้างอาคารยังไม่หนาแน่น พื้นที่ส่วนใหญ่ยังเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ดังนั้น เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง การผังเมือง การอำนวยความสะดวกแก่จราจร การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการควบคุมความหนาแน่นของอาคาร จึงเห็นสมควรควบคุมการก่อสร้าง ดัดแปลงใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท ภายในระยะ 15 เมตร ในการนี้ที่ประชุมสภา กทม. ได้มีมติเห็นชอบร่างข้อบัญญัติดังกล่าว--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ