ฟิทช์คงอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันของบริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน)

ข่าวทั่วไป Monday January 12, 2004 13:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ม.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย)
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด คงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ของบริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) ("MBK") ระยะยาวที่ A(tha) และระยะสั้นที่ F1(tha) และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ชนิดทยอยคืนเงินต้นของ MBK ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2551 มูลค่า 2.5 พันล้านบาท ที่ A(tha) แนวโน้มมีเสถียรภาพ
อันดับเครดิตของ MBK สะท้อนถึงความเป็นผู้นำตลาดในกลุ่มธุรกิจหลัก 3 ประเภท คือ ธุรกิจศูนย์การค้า ธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ท และ ธุรกิจผลิตและจำหน่ายข้าวสาร MBK สามารถสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งและมีเสถียรภาพจากการดำเนินธุรกิจศูนย์การค้า เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์และยังได้รับประโยชน์จากการถือหุ้นในสัดส่วน 30.6% ในบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ("SP") ซึ่งเป็นเจ้าของศูนย์การค้า สยามดิสคัฟเวอรี่, สยามเซ็นเตอร์และอาคารสยามทาวเวอร์ ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมือง SP ยังเป็นผู้ร่วมลงทุนในศูนย์การค้า สยาม พารากอน ซึ่งประกอบด้วยศูนย์การค้าระดับ Premium-end และโรงแรมระดับห้าดาว โดยมีกำหนดเปิดดำเนินงานในช่วงต้นปี 2549
อันดับเครดิตของ MBK ยังสะท้อนถึงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ถึงแม้ว่าระดับหนี้สินของ MBK จะสูงขึ้นอันเป็นผลจากการลงทุนใหม่ที่เพิ่มขึ้นก็ตาม ระดับหนี้สินรวมของ MBK เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 4.0 พันล้านบาท ณ สิ้นไตรมาสแรกของปีงบการเงิน 2546/47 จากระดับ 1.9 พันล้านบาท ณ สิ้นปีงบการเงิน 2544/45 MBK มีสัดส่วนหนี้สินสุทธิ(ไม่รวมค่าสิทธิการเช่าระยะยาวของธุรกิจศูนย์การค้าในส่วนของหนี้สิน) ต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (Net Debt/EBITDA) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2.4 เท่า ณ สิ้นไตรมาสแรกของปีงบการเงิน 2546/47 เทียบกับ 0.6 เท่า ณ สิ้นปีงบการเงิน 2544/45 ในขณะที่ อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ต่อดอกเบี้ยจ่าย (EBITDA/Interest Expense) อยู่ที่ระดับ 11.5 เท่า ถึงแม้ MBK จะมีความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง ระดับของ Net Debt/EBITDA น่าจะคงอยู่ที่ระดับ 2.0-3.0 เท่าในระยะปานกลาง อันเป็นผลจากการขยายการลงทุนที่ต่อเนื่องในธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ท โดยผลตอบแทนที่จะได้รับจากการลงทุนใหม่ น่าจะช่วยลดระดับสัดส่วนหนี้สินของ MBK ลงได้ในช่วงปี 2548/49 อย่างไรก็ตาม หากในอนาคต MBK มีการขยายการลงทุนที่ต้องระดมทุนโดยมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันหรือผลประกอบการที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย อาจส่งผลให้อันดับเครดิตของ MBK ไม่สามารถคงอยู่ในระดับปัจจุบันได้
MBK ยังมีความเสี่ยงที่เกิดจากการที่ธุรกิจศูนย์การค้ามีสัดส่วนของสัญญาเช่าระยะสั้นที่เพิ่มสูงขึ้น ถึงแม้ความเสี่ยงดังกล่าวจะได้รับการลดทอนลงจากปัจจัยหนุนจากภาวะดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำและความสามารถในการเพิ่มค่าเช่าของศูนย์การค้า เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ นอกจากนี้ MBK ยังมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางการเมืองระหว่างประเทศซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจศูนย์การค้าและธุรกิจโรงแรม อีกทั้งธุรกิจโรงแรมในประเทศไทยยังมีการแข่งขันสูง ขณะที่ความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจผลิตและจำหน่ายข้าวสารของ MBK อาจได้รับผลกระทบจากความผันผวนของวัฏจักรราคาข้าว นอกจากนี้ MBK ยังมีเงินลงทุนในธุรกิจที่มิใช่ธุรกิจหลักอยู่จำนวนมากรวมถึงการลงทุนใหม่ในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัย
MBK ถูกก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2517 และได้พัฒนาเป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ของประเทศไทย MBK ประกอบธุรกิจหลัก 3 ประเภท คือ ธุรกิจศูนย์การค้า ธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ท ธุรกิจผลิตและจำหน่ายข้าวสาร บริษัท เงินทุนธนชาติ จำกัด (มหาชน) ("NFS") เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับสองของ MBK และมีสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 19.6 ในขณะที่ บริษัท ปทุมไรซ์มิล แอนด์ แกรนารี จำกัด (มหาชน) ("PRG") ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทย่อยของ MBK มีสัดส่วนการถือหุ้นใน MBK อย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับรายงานฉบับสมบูรณ์ของบริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) หาได้จาก www.fitchresearch.com หรือ ติดต่อ
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
วสันต์ ผลเจริญ, นักวิเคราะห์ ภาคอุตสาหกรรม +662 655 4763
เลิศชัย กอเจริญรัตนกุล, ผู้ช่วยกรรมการ ภาคอุตสาหกรรม +662 655 4760
Vincent Milton, กรรมการผู้จัดการ +662 655 4759--จบ--
-รก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ