กรุงเทพฯ--26 ต.ค.--กองประชาสัมพันธ์ กทม.
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ช่วงนี้สถานการณ์น้ำน่าเป็นห่วงจากระดับน้ำทะเลหนุนสูง ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงที่ระดับ 2.40 เมตรจากระดับ น้ำทะเลปานกลาง และทำลายสถิติระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ กทม.ขอยืนยันคำเตือนตามที่แจ้งให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองเชื่อมโยงแม่น้ำเจ้าพระยาเฝ้าระวังเป็นพิเศษ และดำเนินการด้านต่างๆ เพื่อให้พร้อมรับมือกับระดับน้ำเจ้าพระยาที่จะสูงขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์ที่จะถึงนี้ ขณะที่ระดับน้ำในคลองสอง คลองหกวา เพิ่มขึ้น 5 ซม. ทำให้ระดับน้ำในคลองดังกล่าวสูง 2.43 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง คลองทวีวัฒนาสูงเพิ่มอีก 7 ซม. รวมเป็น 2.11 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งประเมินแล้วว่าระดับน้ำในคลองจะไม่ลดลงต่อจากนี้ไป
อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก และขอให้ทุกฝ่ายเตรียมตัวให้พร้อมรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น โดยพื้นที่ที่จะต้องเฝ้าระวังและดูแลเป็นพิเศษ คือ 13 เขตริมเจ้าพระยา และพื้นที่กรุงเทพเหนือ รวมถึง 4 เขตด้านตะวันออก ได้แก่ ลาดกระบัง หนองจอก มีนบุรี คลองสามวา คันนายาว บางเขน สายไหม ดอนเมือง จตุจักร บางซื่อ หากมีพื้นที่อื่นๆ จะแจ้งในทราบในโอกาสต่อไป นอกจากนี้ กทม.ได้เสริมแนวคันกั้นน้ำบริเวณโรงพยาบาลศิริราช จาก 3 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็น 3.5 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง และบริเวณหน้าพระบรมมหาราชวังซึ่งสร้างคันกั้นบริเวณท่าราชวรดิษฐ วางแนวป้องกันสูง 3 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยกทม.จะเน้นเฉพาะบางพื้นที่เท่านั้น เนื่องจากไม่สามารถสร้างแนวป้องกันตลอดสองฝั่งเจ้าพระยา 80 กิโลเมตรได้
ทั้งนี้ กทม.แจ้งไปยังกระทรวงการต่างประเทศถึงข้อห่วงใยในความปลอดภัยและความเป็นอยู่ของเอกอัครราชทูต และทูตานุทูต ประจำกรุงเทพมหานคร และทำเนียบเอกอัครราชทูตประจำกรุงเทพมหานคร โดยกทม.จะทำงานร่วมกับกรมการกงสุล โดยให้สำนักงานเขตเข้าพบทูตานุทูตและเจ้าหน้าที่กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อชี้แจงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและซักซ้อมความเข้าใจกับสิ่งที่จะต้องปฏิบัติในระหว่างนี้
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวด้วยว่า กทม.ได้ยกร่างหนังสือถึง ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย (ศปภ.) ในความร่วมมือหลายเรื่อง ซึ่งเป็นวิธีการที่จะดูแลแก้ไขปัญหาต่างๆ ในพื้นที่กทม.อย่างครบวงจร ไม่ได้เลี่ยงว่าไม่ให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ แต่สิ่งสำคัญคือ จะต้องมีวิธีบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้น้ำผ่านพื้นที่กรุงเทพฯ ไปยังพื้นที่อื่นอย่างสมเหตุสมผล รวมถึงการยืนยันให้กรมชลประทาน เปิดประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำให้ครบทุกแห่งเพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเร็ว ทั้งนี้ กทม.ขอขอบคุณ ศปภ.ที่ตอบสนองข้อเรียกร้องของกทม. เช่น การเปิดประตูระบายน้ำหนองจอก และประตูระบายน้ำประเวศบุรีรมย์ของกรมชลประทาน เพื่อช่วยระบายน้ำพื้นที่ทางเหนือให้ออกไปยังพื้นที่ตะวันออกมากที่สุด