กรุงเทพฯ--26 ต.ค.--กองประชาสัมพันธ์ กทม.
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงสถานการณ์อุทกภัยในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร เนื่องจากขณะนี้ปรากฏว่าน้ำเหนือได้ไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่องด้วยความเร็วและมีปริมาณจำนวนมาก ประกอบกับน้ำทะเลหนุนในระดับที่มากกว่าปกติ ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีระดับสูงขึ้นมากกว่าปกติอีก 20-30 ซม. จากวันที่ 25 ต.ค.54 ไปถึงช่วงวันที่ 28-29 ต.ค.54 และอาจจะเอ่อท่วมพื้นที่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยวานนี้ ระดับน้ำทะเลหนุนสูง 1.11 เมตร ส่งผลให้ระดับน้ำเจ้าพระยาสูง 2.40 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง และหากเป็นเช่นนี้ต่อเนื่องจนถึงช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูงสุดปลายเดือนนี้ อาจส่งผลให้ระดับน้ำเจ้าพระยาสูง 2.60 เมตร ซึ่งสูงกว่าคันกั้นน้ำ 10 ซม. ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน อย่างไรก็ตามในวันนี้ตั้งแต่ช่วงบ่าย 2 โมงจนถึง 4 โมงเย็นโดยประมาณ ระดับน้ำทะเลจะหนุนสูงสุด กทม.จึงสั่งการให้ 13 เขตประจำในพื้นที่เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนโดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้ กทม.ได้ออกประกาศขอความร่วมมือให้ประชาชนที่มีบ้านเรือนอาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วยกันดูแล ซ่อมบำรุง หรือเสริมความแข็งแรงของรั้วเขื่อน และกำแพงตามแนวเขื่อนที่ใช้งานมานานปี อาจมีสภาพทรุดโทรม หรือมีจุดรั่วซึมและมีการไหลย้อนกลับของน้ำตามท่อระบายน้ำไหลเข้าบ้านเรือน นอกจากนี้ ได้ประสานกระทรวงการต่างประเทศดูแลและชี้แจงสถานการณ์แก่คณะทูตานุทูต รวมถึงสั่งการให้สำนักงานเขตบางรัก ดูแลสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส และโปรตุเกส ซึ่งตั้งอยู่ริมน้ำเจ้าพระยาเป็นพิเศษด้วย
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวด้วยว่า จากภาพถ่ายทางอากาศล่าสุด พบว่า มวลน้ำในกทม.ลดลง และ ที่ จ.นครสวรรค์ ลดลงจาก 1,922 ล้านลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 1,899 ล้านลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งมีแนวโน้มลดลง ขณะที่ อยุธยา 4,175 ล้านลบ.ม.ต่อวินาที ลดลงเหลือ 4,163 ล้านลบ.ม.ต่อวินาที อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท 424 ล้านลบ.ม.ต่อวินาที ลดลงเหลือ 401 ล้านลบ.ม.ต่อวินาที
นอกจากนี้ กทม.ได้รับคำสั่ง ศปภ. 22/2554 ลงวันที่ 24 ต.ค.มอบหมายภารกิจหลายเรื่อง ให้กทม. ดำเนินการ ซึ่งเรื่องสำคัญ คือ ให้ผู้ว่าฯ กทม.รับผิดชอบหลักในพื้นที่เศรษฐกิจและสถานที่สำคัญภาคเอกชน ดังนั้น ในวันพรุ่งนี้ (27 ต.ค.) เวลา 13.30 น. กทม.จึงได้เชิญหอการค้าไทยทั้งในและต่างประเทศ สภาอุตสาหกรรม สมาคมโรงแรม อสังหาริมทรัพย์ ศูนย์การค้า สมาคมธุรกิจขนาดใหญ่ ร้านขายเครื่องอุปโภคบริโภคขนาดใหญ่ เพื่อ แจ้งให้ทราบถึงปัญหา สถานการณ์ล่าสุด รวมถึงความต้องการ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้องค์กรและกลุ่มบริษัท เพื่อหาวิธีดูแลภาคเอกชนให้ปลอดภัยมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ขณะนี้มีประชาชนเข้าไปพักยังศูนย์พักพิงของกทม. 6,013 คน โดยศูนย์ของกทม. 189 แห่งได้สั่งปิดไป 5 แห่งเนื่องจากอยู่ในพื้นที่ประสบภัย ได้แก่ ศูนย์พักพิงรร.เวฬุราชิณ รร.พหลโยธิน รร.เปรมประชา รร.ประชาอุทิศ และรร.บำรุงระวิวรรณ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตดอนเมือง และให้เคลื่อนย้ายผู้พักพิงไปอยู่ รร.ไทยนิยมสงเคราะห์ นอกจากนี้ กทม.ยังได้การสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยหลายแห่งเพื่อเปิดเป็นศูนย์พักพิงเพิ่มเติม อีก 6 แห่ง รับคนได้ 12.000 คน ได้แก่ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระเจ้าเกล้าพระนครเหนือ