กรุงเทพฯ--26 ต.ค.--The 9th International Congress of Tropical Pediatrics
ระวัง “เชื้อเอ็นทีเอชไอ” แบคทีเรียร้ายในโพรงจมูกเด็กเล็กต้นเหตุการติดเชื้อรุนแรงที่หูชั้นกลาง เสี่ยงหูพิการ-เสียชีวิตได้ผลการสำรวจพบ 80% ของพ่อแม่ และเด็กๆ ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อรุนแรงที่หูชั้นกลาง
แพทย์โสต ศอ นาสิก เตือนระวังเชื้อเอ็นทีเอชไอ แบคทีเรียร้ายในโพรงจมูกเด็กเล็ก หนึ่งในต้นเหตุสำคัญของการติดเชื้อรุนแรงในหูชั้นกลาง อาจทำให้สูญเสียความสามารถในการได้ยิน หรือเสียชีวิตได้ หากเชื้อลุกลามไปยังอวัยวะที่สำคัญ ย้ำเชื้อแบคทีเรียมีอัตราดื้อยาสูง ทำให้รักษายาก และนานกว่าปกติ พร้อมเผยผลสำรวจ 80% ของพ่อแม่ และเด็กๆ ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อรุนแรงที่หูชั้นกลาง นอกจากยังพบอีกว่าพ่อแม่ยังไม่มีความรู้ในการป้องกันการติดเชื้อในหูชั้นกลางของลูกน้อยเพียงพอ
จากงานประชุมวิชาการนานาชาติกุมารเวชศาสตร์เขตร้อน ครั้งที่ 9 (The 9th International Congress of Tropical Pediatrics หรือ 9th ICTP) ซึ่งสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ร่วมกับ The International Society of Tropical Pediatrics (ISTP), Thailand Chapter of International Society of Tropical Pediatrics (TCISTP) โดยการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลก องค์การยูนิเซฟ กระทรวงสาธารณสุข คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ได้จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความก้าวหน้าวิทยากรทางการแพทย์ใหม่ๆ ตลอดจนร่วมกันหาแนวทางป้องกันและเฝ้าระวังโรคติดเชื้อในเด็กที่เป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศในเขตร้อน รวมทั้งโรคติดเชื้อรุนแรงของหูชั้นกลางในเด็กเล็ก ที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญของเด็กเล็กทั่วโลก โดยวิทยากรที่มีชื่อเสียงจากทั่วโลกกว่า 80 ท่าน และมีกุมารแพทย์ จากนานาชาติ ทั่วโลกเข้าร่วมประชุมมากกว่า 1,000 คน ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ในงานประชุมดังกล่าว ได้มีเปิดเผย “ผลการสำรวจผลกระทบของการติดเชื้อรุนแรงของหูชั้นกลางในเด็กทั่วโลก” โดย ผศ.นพ.โอฬาร พรหมาลิขิต ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในฐานะกรรมการจัดงานประชุมฯ ระบุว่า การติดเชื้อรุนแรงของหูชั้นกลาง ถือเป็นปัญหาที่พบบ่อยในเด็กเล็กทั่วโลก และมีผลกระทบต่อพ่อแม่เด็กทั่วโลก เนื่องจากพบว่ากว่า 80% ของเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 ขวบต้องเป็นโรคนี้อย่างน้อย 1 ครั้ง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องก็จะกลายเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง หรือที่คนทั่วไปรู้จักกันในนามของ “โรคหูน้ำหนวก” มีผลต่อการได้ยินและเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กมีพัฒนาการเรียนรู้ต่ำกว่าเด็กทั่วไป อีกทั้งหากปล่อยให้ปัญหานี้รุนแรงถึงขั้นประสาทหูเสื่อมลง ก็จะทำให้เป็นโรคหูหนวกไม่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้ และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ เช่น ใบหน้าเป็นอัมพาต เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ฝีในสมอง และติดเชื้อรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
ผศ.พญ.เกรดเชน นาวาโร-ลอคซิน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโสต ศอ นาสิก วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์
เซนต์ลุค แห่งประเทศฟิลิปปินส์ เปิดเผยถึงผลการศึกษา “the Ear infections Attitudes Research (EAR) Study” ซึ่งเป็นผลการศึกษาถึงผลกระทบทางร่างกาย อารมณ์ และเศรษฐกิจ ที่มาจากการติดเชื้อรุนแรงของหูชั้นกลางในเด็กเล็ก และพ่อแม่ทั่วโลกกว่า 3,000 ครอบครัว ในทุกภูมิภาคทั่วโลก ว่า พ่อแม่ 8 ใน 10 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 80 คิดว่าการติดเชื้อในหูชั้นกลางของลูกน้อยเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบที่สำคัญกับเด็กๆ และครอบครัว ทั้งนี้เนื่องจากในช่วงที่เกิดการติดเชื้อที่หูชั้นกลาง จะส่งผลให้ลูกน้อยนอนหลับไม่สนิท มีผลต่ออารมณ์และความเครียดของพ่อแม่ นอกจากนี้ยังมีผลทางด้านเศรษฐกิจ เพราะพ่อแม่ต้องหยุดงาน หรือต้องจัดสรรเวลาในการดูแลลูกน้อยเพิ่มขึ้น รวมทั้งพ่อแม่บางส่วนยังระบุว่าการลางานเนื่องจากลูกน้อยติดเชื้อในหูชั้นกลางนั้น เป็นผลทำให้สูญเสียรายได้ด้วย
การศึกษาดังกล่าว ยังได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับทัศนคติของพ่อแม่ต่อการป้องกันโรคหูชั้นกลางอักเสบ และความใส่ใจต่ออัตราการดื้อยาปฏิชีวนะของเชื้อแบคทีเรียที่เพิ่มสูงขึ้นทุกขณะ เนื่องจากการรักษาการติดเชื้อในหูชั้นกลาง คือสาเหตุสำคัญของการใช้ยาปฏิชีวนะในเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ซึ่งจากการศึกษาดังกล่าวพบว่า พ่อแม่ทั่วโลกให้ความสำคัญและใส่ใจกับอัตราการดื้อยาปฏิชีวนะของเชื้อแบคทีเรียที่เพิ่มสูงขึ้น แต่พ่อแม่ยังคงขาดข้อมูลที่เพียงพอเกี่ยวกับการติดเชื้อในหูชั้นกลางและยังต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันเพิ่มมากขึ้น โดยพ่อแม่ร้อยละ 25 ยังไม่ทราบว่าปัจจุบันมีวัคซีนที่ช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อในหูชั้นกลางที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเอ็นทีเอชไอได้แล้ว ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญในการช่วยลดอัตราการดื้อยาปฏิชีวนะของเชื้อแบคทีเรียได้ อย่างไรก็ตาม ที่น่าสนใจคือ พ่อแม่กว่าร้อยละ 50 ระบุว่า หากมีโอกาสจะไม่ลังเลที่จะฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อในหูชั้นกลางให้ลูกน้อย
ด้าน ผศ.พญ.นันทิการ์ สันสุวรรณ แพทย์โสต ศอ นาสิก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยถึงโรคหูชั้นกลางอักเสบในเด็กไทยว่า พ่อแม่ส่วนใหญ่ยังมองข้ามอันตรายของโรคนี้ เพราะเข้าใจผิดว่าแค่เด็กเจ็บหู ประกอบกับโรคหูชั้นกลางอักเสบมักมาพร้อมกับโรคหวัด โดยเฉพาะในช่วงฝนตกบ่อยๆ หรืออากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย พ่อแม่และกุมารแพทย์มักมุ่งไปที่การรักษาอาการไข้หวัด และมองว่าอาการเจ็บหูเป็นเพียงอาการข้างเคียง และเมื่อเด็กหายจากโรคหวัดแล้ว พ่อแม่ก็มักลืมติดตามรักษาโรคหูอักเสบของเด็ก
“การติดเชื้อในหูชั้นกลางเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุทั้งจากเชื้อไวรัส และเชื้อแบคทีเรีย แต่หากเกิดจากแบคทีเรียจะมีความรุนแรงมากกว่าเชื้อไวรัส เนื่องจากเชื้อมีอัตราการดื้อยาสูง และเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อในหูชั้นกลางจากเชื้อแบคทีเรียมากกว่า เช่น เชื้อเอ็นทีเอชไอ เป็นต้น เพราะเชื้อดังกล่าวจะอาศัยอยู่ในโพรงจมูก และเยื่อบุลำคอ โดยเชื้อนี้มีความชุกในโพรงจมูกของเด็กเล็กสูงกว่าผู้ใหญ่” ผศ.พญ.นันทิการ์ กล่าวและเสริมว่า
เชื้อเอ็นทีเอชไอ สามารถแพร่กระจายจากจมูก และลำคอผ่าน “ท่อยูสเตเชี่ยน” ซึ่งเป็นท่อเล็กๆ ที่เชื่อมต่อระหว่างช่องคอและหูชั้นกลาง และก่อให้เกิดการติดเชื้อรุนแรงในหูชั้นกลาง มีอาการบวมแดง มีน้ำและมีหนองในเยื่อแก้วหู เป็นต้น ทำให้เด็กเล็กหูอื้อ ปวดหู ซึ่งจะมีอาการคล้ายๆ อาการแทรกซ้อนของโรคไข้หวัด ดังนั้นพ่อแม่หลายคนละเลยและมองข้ามอาการของการติดเชื้อในหูชั้นกลาง อีกทั้งเด็กเล็กยังไม่สามารถอธิบายอาการได้ ดังนั้นพ่อแม่จึงควรสังเกตลูกน้อยใกล้ชิด หากเด็กไม่ดูดนม งอแงมากกว่าปกติ เอามือกุมหู หรือจับหูบ่อยๆ ให้สงสัยไว้ก่อน และให้รีบพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจต่อไป