กรุงเทพฯ--27 ต.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
ธ.ก.ส.เดินหน้าออกบัตรสินเชื่อเกษตรกร โดยการเช่าเหมาบริการระบบบัตรเป็นระยะเวลา 3 ปี วงเงินงบประมาณ 300 ล้านบาท ประเดิมให้บริการกับเกษตรกรในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล จำนวน 2 ล้านราย
นายธีรชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลังและประธานคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ ธ.ก.ส. ได้มีมติเห็นชอบโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกรเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรลูกค้าในการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์การเกษตร หรือชำระค่าบริการต่างๆ โดยไม่ต้องนำเงินสดจำนวนมากติดตัวไปเพื่อชำระค่าสินค้าหรือบริการให้กับทางร้านค้า ช่วยป้องกันและรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน พร้อมกับเห็นชอบให้จัดหาระบบบัตรสินเชื่อเกษตรกร โดยการเช่าเหมาบริการระบบงานบัตรสินเชื่อเกษตรกร เพื่อบริหารจัดการบัตรและวางระบบความคุมวงเงินและระบบการบริหารจัดการร้านค้า เป็นระยะเวลา 3 ปี วงเงินงบประมาณ 300 ล้านบาท
สำหรับเงื่อนไขการให้บริการบัตรสินเชื่อเกษตรกรในเบื้องต้นจะจำกัดวัตถุประสงค์การใช้เฉพาะชำระค่าปัจจัยการผลิต ได้แก่ ค่าเมล็ดพันธุ์ข้าว ค่าปุ๋ย และค่ายาปราบศัตรูพืชที่เกษตรกรซื้อจาก สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้าธ.ก.ส. (สกต.) และร้านค่าเครือข่าย จำนวนประมาณ 3,000 ร้านค้า โดยเกษตรกรที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการบัตรสินเชื่อ ต้องเป็นเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ไม่มีหนี้ค้างชำระและไม่เป็นลูกค้าตามโครงการพักชำระหนี้ ประกอบอาชีพทำนาข้าวและมีผลผลิตข้าวส่วนเหลือเพื่อขาย และต้องนำผลผลิตข้าวของตนเองมาจำนำตามโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล เป้าหมายลูกค้า 2 ล้านราย
ด้านวงเงินสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการผลิตของเกษตร ธ.ก.ส. กำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 70 ของผลผลิตส่วนเหลือเพื่อขาย แต่ทั้งนี้ในส่วนของบัตรสินเชื่อเกษตรกร ธ.ก.ส. จะกำหนดวงเงินตามความจำเป็นและเหมาะสมในการผลิตข้าวของเกษตรกรแต่ละรายไม่เกินร้อยละ 30 ของร้อยละ 70 ตามวงเงินสินเชื่อ อัตราดอกเบี้ย MRR ปัจจุบันเท่ากับร้อยละ 7 ปลอดดอกเบี้ย 30 วัน โดยจะตัดยอดการใช้บัตรสินเชื่อเกษตรกรในวันที่ 31 ธันวาคม ของทุกปี และกำหนดชำระคืนในวันที่ 31 มีนาคม ของทุกปี กรณีเกษตรกรใช้บัตรช่วงระยะเวลาเดือนมกราคม — กุมภาพันธ์ และมีนาคม ให้กำหนดชำระคืนในวันที่ 31 มีนาคมของปีถัดไป ในกรณีเกษตรกรไม่สามารถชำระหนี้ตามบัตรสินเชื่อเมื่อถึงกำหนดชำระได้ทั้งหมดหรือ บางส่วน ธ.ก.ส. จะปรับดอกเบี้ยเป็นอัตราสูงสุดตามประกาศของธนาคาร คือ MRR+3 หรือร้อยละ 10 ต่อปีรวมทั้งเบี้ยปรับอีกไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี รวมเป็นอัตรา MRR+3+3 หรือร้อยละ 13 ต่อปีจนกว่าจะชำระคืนเสร็จสิน