3 สุดยอดยังก์ดีไซเนอร์ชาวไทยจากเวที “คอตตอน ยูเอสเอ ดีไซน์ ชาเล้นจ์ 2011” ชมการแข่งขัน “สุพีม่า ดีไซน์ คอมเพตติชั่น” ณ ใจกลางมหานครนิวยอร์ก ที่สุดแห่งเส้นใยฝ้ายคุณภาพเยี่ยม บนเส้นทางรันเวย์ระดับโลกในมหานครแห่งแฟชั่น

ข่าวทั่วไป Thursday October 27, 2011 14:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ต.ค.--เวิรฟ คอตตอน ยูเอสเอ จัดทริป “U.S. Cotton Fashion Inspired Trip” พายังก์ดีไซเนอร์ไทยผู้ชนะการแข่งขัน “คอตตอน ยูเอสเอ ดีไซน์ ชาเล้นจ์ 2011” ไปเปิดประสบการณ์ด้านแฟชั่น ณ ใจกลางมหานครแห่งแฟชั่นอย่างนิวยอร์กซิตี้ เพื่อร่วมสัมผัสบรรยากาศตำนานแห่งโลกแฟชั่นในงานนิวยอร์ก แฟชั่นวีค และ เข้าร่วมชมการแสดงผลงานแฟชั่นโชว์ชุดราตรีฝีมือเยี่ยมของ 8 สุดยอดยังก์ดีไซเนอร์ผู้เข้ารอบสุดท้ายของเวทีการแข่งขัน “สุพีม่า ดีไซน์ คอมเพตติชั่น 2011” ซึ่งนับเป็นการผสมผสานที่สุดแห่งเส้นใยฝ้ายคุณภาพเยี่ยมของโลก กับการเฟ้นหาที่สุดแห่งยังก์แฟชั่นดีไซเนอร์ฝีมือเยี่ยมของมหานครแห่งแฟชั่นอย่างนิวยอร์กซิตี้เข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืนและลงตัว นายไกรภพ แพ่งสภา ตัวแทนคอตตอน ยูเอสเอ ประเทศไทย กล่าวว่า หลังจากเวทีการแข่งขันออกแบบและตัดเย็บเสื้อผ้าจากผ้าฝ้ายแท้ 100% ที่มีส่วนผสมของฝ้ายสหรัฐอเมริกาไม่น้อยกว่า 50% “คอตตอน ยูเอสเอ ดีไซน์ ชาเล้นจ์ 2011” เสร็จสิ้นลง “คอตตอน ยูเอสเอ” (COTTON USA) ได้โอกาสจัดทริป “U.S. Cotton Fashion Inspired Trip” นำน้องๆยังก์ดีไซเนอร์เจ้าของรางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศ รวม 3 คน คือ นายณัฐกิตติ์ แป้นถึง นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชานฤมิตศิลป์ เอกแฟชั่นและสิ่งทอ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายชนิศ ศรีอาจ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชานฤมิตศิลป์ เอกแฟชั่นและสิ่งทอ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนางสาวปิยะรัตน์ พรศักดิ์พัฒนกุล นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาการออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ร่วมทริปเดินทางสู่ประเทศสหรัฐอเมริกา “ไฮไลท์พิเศษของการเดินทางในทริปนี้คือ การเข้าชมแฟชั่นโชว์การแข่งขันรอบตัดสินของ “สุพีม่า ดีไซน์ คอมเพตติชั่น” (Supima Design Competition) ที่ได้รับคัดเลือกให้อวดโฉมเป็นโชว์ในวันแรกบนแคตวอล์กของ นิวยอร์ก แฟชั่นวีคในปีนี้ “สุพีม่า ดีไซน์ คอมเพตติชั่น” (Supima Design Competition)เป็นเวทีการแข่งขันออกแบบเสื้อผ้าจากฝ้ายพิม่าของสหรัฐอเมริกา ซึ่งฝ้ายสุพีมานี้นับว่าเป็นเส้นใยฝ้ายที่ถูกยอมรับว่ามีคุณภาพดีที่สุดในโลกจากแหล่งเพาะปลูกสำคัญในรัฐอริโซน่า แคลิฟอร์เนีย นิวเม็กซิโก และเท็กซัส ด้วยเอกลักษณ์ของเส้นใยที่มีความยาวเป็นพิเศษ เมื่อถูกถักทอเป็นผ้าจะมีความละเอียด มีสัมผัสที่เนียนนุ่ม ลื่น และมีความทนทานกว่าเส้นใยชนิดอื่นๆ โดยเวทีการแข่งขัน สุพีม่า ดีไซน์ คอมเพตติชั่น วางโจทย์ให้ เหล่าดีไซเนอร์นำเสนอการออกแบบชุดราตรีสุดหรูที่ตัดเย็บจากผ้าฝ้ายสุพีมา ดังนั้น ชุดราตรีที่ถูกนำมาจัดแสดงในครั้งนี้จึงไม่เพียงโดดเด่นด้วยสัมผัสแห่งการสวมใส่ที่นุ่ม สบาย ทนทาน แต่ยังแลดูเงางามสวยโดดเด่นเกินใคร” นายไกรภพ กล่าว แฟชั่นโชว์ชุดราตรีที่ตัดเย็บจากผ้าฝ้ายสุพีมา จากผลงานฝีมือของ 8 สุดยอดดีไซเนอร์ผู้เข้ารอบสุดท้ายของเวทีการแข่งขัน “สุพีม่า ดีไซน์ คอมเพตติชั่น 2011” โดยผู้เข้ารอบสุดท้ายของการแข่งขันทั้ง 8 คนในปีนี้ล้วนแล้วจบการศึกษาและได้รับการเสนอชื่อจากโรงเรียนสอนการออกแบบและตัดเย็บชื่อดังของนิวยอร์กรวม 4 แห่ง ได้แก่ Fashion Institute of Technology, Pratt Institute, Rhode Island School of Design และ the Savannah College of Art and Design “สุพีม่า (Supima) เป็นอีกหนึ่งองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ที่สนับสนุนการค้นคว้าเพื่อพัฒนาคุณภาพของฝ้ายพิม่าอเมริกา ตลอดจนดำเนินกิจกรรมสนับสนุนเพื่อกระตุ้นให้มีการใช้ฝ้ายพิม่าของสหรัฐอเมริกาเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก ซึ่งร่วมถึงการจัดเวทีการแข่งขัน “สุพีม่า ดีไซน์ คอมเพตติชั่น” (Supima Design Competition) ขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 เพื่อส่งเสริมโอกาสในการฝึกฝนทักษะการออกแบบและตัดเย็บเสื้อผ้าแก่สุดยอดยังก์ดีไซเนอร์ผู้มีพรสวรรค์และเดินทางมาแสวงหาโอกาส ณ มหานครแห่งแฟชั่น และ อวดโฉมคุณสมบัติอันแตกต่าง และโดดเด่นไม่เหมือนใครของเส้นใยฝ้ายแก่เหล่าดีไซเนอร์จากทั่วทุกมุมโลก” นายไกรภพ กล่าว นายไกรภพ กล่าวต่อว่า “สุพีม่า ดีไซน์ คอมเพตติชั่น 2011” เปรียบได้กับเวทีแข่งขัน “คอตตอน ยูเอสเอ ดีไซน์ ชาเล้นจ์ 2011” ในประเทศไทยที่มุ่งส่งเสริมให้ยังก์ดีไซเนอร์ชาวไทยมีโอกาสพัฒนาทักษะความสามารถ และปฏิภาณไหวพริบในด้านความคิดสร้างสรรค์ เพื่อเฟ้นหาสุดยอดยังก์ดีไซเนอร์หน้าใหม่มาประดับวงการแฟชั่นไทย โดยที่ผ่านมา ยังก์ดีไซเนอร์ไทย “ยอด โยโกะ” ในฐานะรุ่นพี่ผู้คว้ารางวัลชนะเลิศจากโครงการคอตตอน ยูเอสเอ ดีไซน์ ชาเล้นจ์ 2008 ยังได้มีโอกาสมาสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยด้วยการคว้ารางวัลชนะเลิศจากเวทีการแข่งขันออกแบบและตัดเย็บชุดราตรี “สุพีม่า ดีไซน์ คอนเทสต์ 2009” ที่จัดขึ้น ณ มหานครนิวยอร์กอีกด้วย” นายณัฐกิตติ์ แป้นถึง หรือ น้องมิค นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชานฤมิตศิลป์ เอกแฟชั่นและสิ่งทอ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ชนะเลิศจากโครงการคอตตอน ยูเอสเอ ดีไซน์ ชาเล้นจ์ 2011 กล่าวถึงความประทับใจกับการร่วมทริปในครั้งนี้ว่า “การร่วมเดินทางไปกับ คอตตอน ยูเอสเอ ใน U.S. Cotton Fashion Inspired Trip ในครั้งนี้ทำให้ผมได้รู้จักฝ้าย เส้นใยธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และได้เห็นงานแฟชั่นและงานออกแบบระดับโลก โดยเฉพาะเมื่อได้เข้าชมการแข่งขันรอบตัดสินของ “สุพีม่า ดีไซน์ คอมเพตติชั่น” แล้วทำให้ผมได้ไอเดียใหม่ๆที่จะกลับไปต่อยอดผลงานวิทยานิพนธ์ของผมเอง นั่นคือ เทคนิคการสกรีนผ้าฝ้ายเพื่อทำให้เนื้อผ้าดูมีราคายิ่งขึ้น เช่น การสกรีนฟอยด์ หรือ การตีเกล็ด เป็นต้นครับ ทั้งนี้ ผมอยากแนะนำให้น้องๆรุ่นใหม่ที่อยากเข้าแข่งขันในโครงการ “คอตตอน ยูเอสเอ ดีไซน์ ชาเล้นจ์” ให้ศึกษาเรื่องผ้าฝ้ายให้ถ่องแท้ เช่น คุณสมบัติของผ้าฝ้ายแต่ละชนิด รวมถึงต้องจัดเวลาให้ดีเพราะการแข่งขันไม่ได้จบแค่การออกแบบและย้อมผ้าให้เสร็จ แต่ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากที่น้องๆต้องให้ความสำคัญครับ” นางสาวปิยะรัตน์ พรศักดิ์พัฒนกุล หรือ น้องหวาน นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาการออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ รองชนะเลิศอันดับสองจากโครงการคอตตอน ยูเอสเอ ดีไซน์ ชาเล้นจ์ 2011 กล่าวว่า “รู้สึกดีใจมากที่ได้มาร่วมทริปกับคอตตอน ยูเอสเอในครั้งนี้ ทำให้หวานได้แรงบันดาลใจ อยากทำผลงานของตัวเองออกมาให้ดีขึ้น และให้เป็นที่รู้จักในวงการแฟชั่น คิดเอาไว้ว่าถ้าวันหนึ่งมี แบรนด์เสื้อผ้าเป็นของตัวเองจะใช้ผ้าฝ้ายเป็นวัตถุดิบหลักในการตัดเย็บทั้งหมด เพราะผ้าฝ้ายนำมาตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าได้หลากหลายรูปแบบ เหมาะกับทั้งผู้หญิงและผู้ชาย สวมใส่ได้ทุกคนและทุกฤดู อยากแนะนำน้องๆที่สนใจอยากเข้าแข่งขันในโครงการ “คอตตอน ยูเอสเอ ดีไซน์ ชาเล้นจ์” ว่า ควรจะศึกษาคุณสมบัติของผ้าฝ้ายให้เยอะๆ เพราะผ้าฝ้ายทำอะไรได้มากกว่าที่คิด และที่สำคัญคือ ต้องเรียบเรียงกระบวนการทางความคิด ถ่ายทอดแรงบันดาลใจนำมาผลิตเป็นชิ้นงานที่สำเร็จออกมาให้ได้ค่ะ” “ณ มหานครนิวยอร์กแห่งนี้ น้องๆทั้งสามยังได้เข้าร่วมชมสำนักงาน “คอตตอน อินคอร์ปอเรท” (Cotton Incorporated) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งองค์กรไม่แสวงผลกำไร ที่ทำหน้าที่ในการศึกษาวิจัยและคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆที่เกี่ยวข้องกับผ้าฝ้าย รวมถึงศึกษาและคาดคะเนเทรนด์แฟชั่นล่วงหน้าด้วยการส่งนักวิจัยเทรนด์แฟชั่นเดินทางไปยังประเทศสำคัญๆในทวีปต่างๆทั่วโลกเพื่อศึกษาวิถีการดำเนินชีวิต และไลฟ์สไตล์ของผู้คนในเมืองนั้นๆแล้วนำข้อมูลที่ได้มาศึกษาและวิเคราะห์ แล้วจึงคาดคะเนเป็นเทรนด์แฟชั่นล่วงหน้าในอีก 18-24 เดือนข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นโทนสี ลวดลาย และโครงสร้างของผ้า เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาเผยแพร่ให้กับผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตในอุตสาหกรรมสิ่งทอเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป” นายไกรภพ กล่าวทิ้งท้าย เกี่ยวกับคอตตอน ยูเอสเอ (COTTON USA) เครื่องหมาย “คอตตอน ยูเอสเอ” (COTTON USA) ได้รับการออกแบบและเผยแพร่ในปี ค.ศ. 1989 โดย คอตตอน เคาน์ซิล อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ ซีซีไอ (COTTON COUNCIL INTERNATIONAL: CCI) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของ เนชั่นนัล คอตตอน เคาน์ซิล (National Cotton Council) ประเทศสหรัฐอเมริกา เครื่องหมาย “คอตตอน ยูเอสเอ” เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงผลิตภัณฑ์แห่งคุณภาพ ผลิตจากฝ้ายธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ และมีส่วนผสมของฝ้ายจากสหรัฐอเมริกาอย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบัน คอตตอน ยูเอสเอมีตัวแทนกว่า 26 แห่ง ทั่วโลก ในประเทศไทย “คอตตอน ยูเอสเอ” ทำหน้าที่ขยายฐานกลุ่มไลเซนซี (Licensees) ของคอตตอน ยูเอสเอ ในประเทศไทย โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มผู้ผลิต แบรนด์ และผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ใช้ฝ้ายจากสหรัฐอเมริกาเป็นวัตถุดิบหลัก นอกจากนี้ “คอตตอน ยูเอสเอ” ยังมุ่งเน้นสร้างความพึงพอใจเกี่ยวกับฝ้ายจากสหรัฐอเมริกาในกลุ่มผู้บริโภคให้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงให้ความรู้เกี่ยวกับฝ้าย เส้นใยธรรมชาติ ที่สามารถปลูกทดแทน และให้ความสบายเมื่อสวมใส่ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ: เวิรฟ อมรเทพ อักษร (ตื้น) โทร.0-2204-8509 / 08-1489-4242 เบญจพร บรรเจิดกิจ (เบญ) โทร. 0-2204-8551 / 08-1684-5843

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ