กรุงเทพฯ--27 ต.ค.--สำนักประชาสัมพันธ์กรมส่งเสริมการส่งออก
ซาอุฯปรับแรงดันไฟฟ้ามีผลกลางปี 2555 แอร์ ตู้เย็น เครื่องซักผ้าหนาวซ้ำน้ำท่วม ทูตพาณิชย์การันตีไม่มีผลกระทบต่อเครื่องใช้ไฟฟ้า ชี้กลับเป็นผลดีช่วยลดต้นทุนสินค้าส่งออกของไทย เหตุไม่ต้องปรับไลน์การผลิต
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยว่าตามที่นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รมช.พาณิชย์ ให้เกาะติดสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศนั้นมีรายงานจาก สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเจดดาห์ ประเทศซาอุดิอาระเบียว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ซาอุฯ จะห้ามการนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟต่ำกว่า 220 โวลต์ ข้อกำหนดดังกล่าว เป็นผลจากการที่รัฐบาลซาอุดีอาระเบีย มีมติให้เปลี่ยนแปลงแรงดันของระบบไฟฟ้าของซาอุฯ ไปเป็น 220/400 โวลต์ ซึ่งรัฐบาลจะให้ระยะเวลาในการปรับตัว 25 ปี (แบ่งเป็นช่วงเตรียมตัว 10 ปี และช่วงดำเนินการ 15 ปี) แต่จะมีผลบังคับใช้ทันที สำหรับผู้ที่ขอใช้ไฟรายใหม่
ปัจจุบัน ซาอุดีอาระเบียเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลก ที่ใช้ไฟฟ้า 2 ระบบ (Dual-Voltage System) กล่าวคือ ในที่พักอาศัยจะมีระบบไฟฟ้าทั้ง 127 และ 220 โวลต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไปในบ้าน ใช้ไฟ 127 โวลต์ แต่สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ เช่น เครื่องปรับอากาศ ลิฟต์โดยสาร และเครื่องสูบน้ำ ใช้ไฟ 220 โวลต์ การปรับเปลี่ยนใช้กระแสไฟระบบเดียวจะส่งผลดีต่อผู้บริโภค และผู้ให้บริการระบบไฟฟ้า ผู้บริโภคสามารถลดความยุ่งยากในการเลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าลง ลดอุบัติเหตุ ความเสียหายจากการต่อเครื่องใช้ไฟฟ้ากับปลั๊กไฟฟ้าต่างแรงดัน เป็นต้น
สำหรับผู้ให้บริการระบบไฟฟ้า สามารถลดต้นทุนในส่วนของอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องลงได้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการเปลี่ยนแรงดันของกระแสไฟฟ้าฯ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ซาอุฯ จะห้ามการนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้กระแสไฟต่ำกว่า 220 โวลต์ อย่างไรก็ตาม เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟ 127 โวลต์ ยังสามารถจำหน่ายในประเทศได้อีก 5 ปี (ถึงปี พ.ศ. 2560) ซึ่งหลังจากช่วงระยะเวลาดังกล่าว เครื่องใช้ไฟฟ้าที่จำหน่ายในซาอุฯ ทั้งหมด ต้องใช้ไฟ 220 โวลต์
นายศิวะลักษณ์ นาคาบดี ผอ.สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเจดดาห์ ให้ความเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวของซาอุฯ ไม่น่าจะมีผลกระทบด้านลบต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยไปซาอุฯ แต่น่าจะช่วยลดต้นทุนในการส่งออกสินค้าดังกล่าวให้กับผู้ประกอบการไทย เนื่องจากไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลง/ปรับปรุงสินค้า ไลน์การผลิต ให้เหมาะกับกระแสไฟ 127 โวลต์ ที่จะส่งไปซาอุฯ อีกต่อไป
ในปี พ.ศ. 2553 ไทยและซาอุฯ มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 7,764 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 2.06 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย จำแนกเป็นการนำเข้า 5,646 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และส่งออก 2,118 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าที่ไทยนำเข้าเกินกว่าร้อยละ 80 ได้แก่ น้ำมันดิบ เคมีภัณฑ์ และน้ำมันสำเร็จรูป สินค้าที่ไทยส่งออกไปซาอุฯ มากที่สุด ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน 1,099 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เหล็กและผลิตภัณฑ์ 98 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ข้าว 93 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน 88 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ ตู้เย็น/ตู้แช่และชิ้นส่วน 68 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ปี พ.ศ. 2554 (ม.ค.-ส.ค.) ไทยและซาอุฯ มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 6,576 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.11 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย แยกเป็นการนำเข้า 5,006 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และส่งออก 1,570 ล้านเหรียญสหรัฐฯ การส่งออกขยายตัวถึงร้อยละ 8.21 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาสินค้าที่ซาอุฯ นำเข้าจากไทยมากที่สุด 5 อันดับแรกในปี พ.ศ. 2554 (มค.-สค.) ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน เคมีภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน เครื่องจักรและชิ้นส่วน และสินค้าข้าว ตามลำดับ
สำหรับสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ไทยส่งออกไปซาอุฯ ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน คิดเป็นมูลค่า 101 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตู้เย็น/ตู้แช่และชิ้นส่วน 62 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เครื่องซักผ้าและชิ้นส่วน 41 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ และชิ้นส่วน 20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เครื่องรับวิทยุ/โทรทัศน์และชิ้นส่วน 16 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ คอมเพรสเซอร์และชิ้นส่วน 9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ