กรุงเทพฯ--13 ม.ค.--อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์
ประเทศไทยมีทิศทางการเติบโตที่สดใสที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่ภูมิภาคเอเชีย ยกเว้นญี่ปุ่น จะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก
เลห์แมน บราเดอร์ส บริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุนระดับโลก ได้พยากรณ์ทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2547 โดยในรายงานเรื่อง "Outlook 2004 : Two Cheers for the Recovery" เลห์แมน บราเดอร์ส คาดการณ์ไว้ว่า ปัจจัยในเชิงบวกต่างๆ จะผลักดันให้เศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงขาขึ้นในอีก 6-12 เดือนข้างหน้า โดยจะมีการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งภายใต้สภาวะเงินเฟ้อในระดับต่ำ ขณะที่ธนาคารกลางชั้นนำจะรักษาสถานการณ์ดังกล่าว โดยอาจจะมีการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยอย่างช้าๆ อย่างไรก็ตาม เลห์แมน บราเดอร์ส ได้ส่งสัญญาณเตือนถึงความไม่สมดุลทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลให้เกิดภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2547
นอกจากนี้ เลห์แมน บราเดอร์ส ยังคาดการณ์การเติบโตของจีดีพีทั่วโลกว่า จะเป็นไปในแนวทางเดียวกับที่ได้มีการคาดหมายทั่วไป หากแต่ได้ประเมินความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อในระดับต่ำกว่าที่ได้มีการคาดการณ์ในปัจจุบันของประเทศต่างๆ โดยเลห์แมน บราเดอร์ส เล็งเห็นว่า ธนาคารกลางจะรักษาอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำเป็นระยะเวลายาวนานกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้
นายจอห์น เลอเวลลัน หัวหน้าคณะนักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจโลกของเลห์แมน บราเดอร์ส กล่าวว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชีย ขณะนี้ จะทำให้เกิดลู่ทางในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งร่วมกันเพื่อช่วยหนุนเสริมให้เศรษฐกิจของโลกมีการเติบโตที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มที่จะถดถอยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจของยุโรปและญี่ปุ่นขยายตัวเพิ่มขึ้นในระดับปานกลางเท่านั้น และยังเป็นอุปสรรคต่อการลบช่องว่างของกำลังการผลิตที่แท้จริงกับกำลังการผลิตที่ตั้งเป้าไว้ ซึ่งอยู่ในระดับสูงสุดมานานกว่าทศวรรษ"
ทั้งนี้ เลห์แมน บราเดอร์ส คาดการณ์ว่า จีดีพีของสหรัฐอเมริกาจะมีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยร้อยละ 4 ในปี 2547 ซึ่งต่ำกว่าช่วงระยะเวลาการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาในปีที่ผ่านมา อยู่ร้อยละ 2
ภูมิภาคเอเชีย ยกเว้นญี่ปุ่น เป็น "ภูมิภาคที่โดดเด่นสูงสุด"
ภูมิภาคเอเชีย ยกเว้นญี่ปุ่น เป็นภูมิภาคที่มีโอกาสจะได้รับประโยชน์จากการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจซึ่งได้ดำเนินมาเป็นระยะเวลา 6 ปี โดยเลห์แมน บราเดอร์ส ชี้ว่า ความต้องการภายในประเทศในภูมิภาคเอเชียที่แข็งแกร่ง ภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น และอัตราแลกเปลี่ยนที่ดีดตัวสูงขึ้น จะส่งผลให้ความต้องการในภูมิภาคแห่งนี้เพิ่มขึ้นถึงระดับที่เทียบเท่ากับความต้องการในประเทศญี่ปุ่นเมื่อคิดเป็นสกุลเงินเหรียญสหรัฐภายในปี 2549
ทั้งนี้ เลห์แมน บราเดอร์ส ได้พยากรณ์การเติบโตของจีดีพีในภูมิภาคเอเชีย ยกเว้นญี่ปุ่นว่า จะเพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 5.7 ในปี 2546 เป็นร้อยละ 6.8 ในปี 2547 ขณะที่การเติบโตของจีดีพีในจีน จะลดลงเล็กน้อยเหลือเพียงร้อยละ 8 ในปี 2547 และคาดว่า ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคแห่งนี้จะมีการเติบโตของจีดีพีเพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 3.6 เป็นร้อยละ 5.9 ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของการบริโภคและการลงทุน
นายร็อบ ซับบาราแมน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำภูมิภาคเอเชียของเลห์แมน บราเดอร์ส กล่าวว่า แม้ว่าในปี 2546 ภูมิภาคเอเชียจะประสบภาวะวิกฤติหลายครั้ง แต่ความต้องการภายในประเทศยังคงอยู่ในระดับที่ดี
"เราเล็งเห็นแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยหลายประการ ได้แก่ นโยบายระดับมหภาคที่ผ่อนคลาย ภาคการเงินและธุรกิจที่มีความแข็งแกร่งมั่นคงหลังจาก การปรับโครงสร้างทางธุรกิจ การใช้จ่ายในภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นโดยมีอัตราการออมที่ลดลง และสภาพคล่องในแต่ละประเทศที่เพิ่มขึ้น สำหรับในปี 2547 เราคาดว่า เศรษฐกิจของไทย ไต้หวัน เกาหลีใต้ ฮ่องกงและมาเลเซีย จะมีทิศทางการเติบโตที่สดใส" นายร็อบกล่าวเสริม
สำหรับประเทศไทย เลห์แมน บราเดอร์ส ระบุว่า ไทยเป็นประเทศที่มีการฟื้นคืนทางเศรษฐกิจอย่าง ชัดเจน" โดยในปี 2547 ไทยจะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายระดับ มหภาคที่ผ่อนคลาย สินเชื่อผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น อัตราการว่างงานที่ลดต่ำลง และการส่งออกที่เพิ่มขึ้น โดยเลห์แมน บราเดอร์ส คาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะมีอัตราการเติบโตของจีดีพีเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 7 ในปี 2547
ทิศทางการเติบโตของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย
อัตราการเติบโตของจีดีพีที่แท้จริง (เพิ่มขึ้นร้อยละต่อปี)
ล่าสุด* 2546 2547 2548
จีน 9.1 8.5 8.0 8.0
ฮ่องกง 4.0 3.0 5.5 4.5
อินโดนีเซีย 3.9 4.0 4.5 5.0
มาเลเซีย 5.1 5.2 6.3 6.0
ฟิลิปปินส์ 4.4 4.0 3.0 4.0
สิงคโปร์ 1.7 1.0 5.2 4.0
เกาหลีใต้ 2.3 3.2 6.5 5.5
ไต้หวัน 4.2 3.3 6.0 5.0
ไทย 6.5 6.3 7.0 6.0
เอเชีย ยกเว้นญี่ปุ่น 6.0 5.7 6.8 6.4
*ข้อมูลจีดีพี เป็นข้อมูลในไตรมาส 3
สำหรับภูมิภาคเอเชียโดยรวม เลห์แมน บราเดอร์ส ได้ส่งสัญญาณเตือนถึงปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจในปี 2547 ซึ่งได้แก่ การกลับมาแพร่ระบาดของโรคซาร์ส สถานการณ์ที่เลวร้ายในเกาหลีเหนือ และความขัดแย้งระหว่างจีนและไต้หวันที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา
ภาวะกดดันของตลาดที่มีต่ออัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของโลกจะยังคงปรากฏต่อไปในปี 2547 โดยสหรัฐอเมริกาจะมีปริมาณผลผลิตสูงกว่าประเทศคู่ค้าของตนอีกหลายประเทศ แต่สัดส่วนที่เพิ่มขึ้นนี้ยังไม่มีความพอเพียง เนื่องจากการใช้จ่ายในสหรัฐอเมริกาที่เพิ่มมากขึ้น คาดว่า จะส่งผลให้มี การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงขึ้น ขณะที่ค่าใช้จ่ายสาธารณะที่เพิ่มขึ้นสำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะมีขึ้นในปีนี้ จะส่งผลให้งบประมาณของสหรัฐอเมริกาประสบภาวะขาดดุลเพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนสกุลเงินเหรียญสหรัฐอ่อนตัวลง และอัตราดอกเบี้ยในระยะยาวเพิ่มสูงขึ้น
นายร็อบ กล่าวว่า ปัจจุบัน สกุลเงินในเอเชียมีความแข็งแกร่งขึ้นอย่างมาก โดยส่วนใหญ่จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 15 หากแต่ก็ยังต่ำกว่าค่าเงินก่อนที่จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในเอเชีย ทั้งนี้เป็นผลจาก การแทรกแซงของธนาคารกลาง ทั้งนี้ เลห์แมน บราเดอร์ส คาดว่า สกุลเงินในภูมิภาคเอเชียจะมีความแข็งแกร่งต่อไปอย่างต่อเนื่อง
"ในความเห็นของเรา ภูมิภาคเอเชียมีการสะสมเงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่สูงเกินกว่าที่ พวกเขาต้องการ และการแทรกแซงของธนาคารกลางในการเพิ่มเงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศอย่างมากนั้นจะเป็นตัวเร่งการเติบโตของปริมาณเงินที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อในภูมิภาคเอเชีย" นายร็อบกล่าว
เลห์แมน บราเดอร์ส ยังคาดการณ์ต่อไปอีกว่า การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อดังกล่าวจะส่งผลให้ธนาคารกลางต้องรีรอในการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่ม ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเกิดภาวะเงินตึงเนื่องจากค่าเงินที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนการที่หลายประเทศมีแผนการเลือกตั้งในปีหน้า โดยคาดว่าการขาดดุลงบประมาณในระดับสูงจะเป็นสิ่งแรกที่จะเกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้ง
สำหรับสำเนารายงานเรื่อง "Outlook 2004 : Two Cheers for the Recovery" พร้อมนำออกเผยแพร่แก่ สื่อมวลชน โดยสามารถติดต่อขอรับได้ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท เลห์แมน บราเดอร์ส เอเชีย โทร. 02 252 9871 หรืออีเมล์ s_waraporn@th.bm.com
เลห์แมน บราเดอร์ส (ตัวย่อในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ค: LEH) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2393 เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมในธุรกิจการเงินของโลก โดยเป็นผู้ให้บริการด้านการเงินแก่บริษัทเอกชน รัฐบาล และองค์กรของรัฐ ตลอดจนกลุ่มลูกค้าประเภทสถาบันและประเภทบุคคลชั้นนำทั่วโลก เลห์แมน บราเดอร์ส ยังเป็นผู้นำในด้านการขายหุ้นทุนและตราสารหนี้ การซื้อขายและวิเคราะห์หลักทรัพย์ การเป็นที่ปรึกษาด้านการลงทุน กรให้บริการปรึกษาเพื่อร่วมทุน และการให้บริการลูกค้าส่วนบุคคลระดับสูง เลห์แมน บราเดอร์ส มีสำนักงานใหญ่ ในนิวยอร์ก ลอนดอน และโตเกียว และมีการดำเนินงานในรูปแบบของเครือข่ายสำนักงานซึ่งมีอยู่ทั่วโลก สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเลห์แมน บราเดอร์ส สามารถเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของบริษัทได้ที่ www.lehman.com
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์
วราพร สมบูรณ์วรรณะสาธิดา ศรีธัญญาธรณ์โทร 0 2252 9871--จบ--
-รก-