กรุงเทพฯ--28 ต.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
นางสาวสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ เครดิตบูโร กล่าวว่า ตามที่ได้เกิดเหตุภัยพิบัติจากอุทกภัยในหลายพื้นที่รวมทั้งกรุงเทพมหานคร จนเป็นเหตุให้ประชาชนทั่วไป ผู้ประกอบการอยู่ในสภาพที่ยังไม่สามารถชำระหนี้ตามเวลาที่กำหนดโดยเฉพาะในช่วงเดือนสิงหาคม — กันยายนและลูกหนี้ต่างมีความกังวลว่าสถานะทางบัญชีสินเชื่อของตนเองจะเป็นหนี้เสีย (NPL) หรือติด Black list กับเครดิตบูโร จนทำให้การขอสินเชื่อหลังน้ำลดเพื่อการเยียวยา แก้ไข ฟื้นฟู หรือเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนนั้นจะทำได้ยาก และจะเป็นเหตุไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อ
ขณะนี้ กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทยตลอดจน สถาบันการเงินต่างๆ ต่างเห็นพ้องต้องกันที่จะให้การช่วยเหลือในการร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว คือ
? เมื่อลูกหนี้ได้เข้ามาติดต่อกับสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ และสถาบันการเงินได้พิจารณาและอนุมัติให้แก้ไขหรือปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ก็ให้ถือว่าบัญชีสินเชื่อนั้นมีสถานะปกติทันทีในฐานข้อมูลเครดิตบูโร โดยไม่ต้องรอให้มีการปฏิบัติชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไขติดต่อกัน 3 เดือนก่อน
? ในการพิจารณาว่าจะผ่อนผัน ผ่อนปรน หรือการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้นั้นให้พิจารณาครอบคลุมทั่วประเทศ ไม่กำหนดเฉพาะจังหวัดที่มีอุทกภัย เพราะกิจการหรือ SME ที่ทำธุรกิจต่างมีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกัน (Supply chain)ทั้งการเป็นผู้กระจายสินค้า หรือเป็นแหล่งวัตถุดิบ หรือเป็นลูกค้าของผู้ประกอบการนั้น เมื่อเกิดปัญหาที่รายหนึ่งรายใดย่อมส่งผลต่อ Supply chain ทั้งกระบวนการ การปรับโครงสร้างหนี้จึงต้องทำให้ทั้งลูกหนี้และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
? สำหรับประชาชนทั่วไปที่มีหนี้บัตรเครดิตนั้น เกณฑ์ผ่อนผันจำนวนเงินที่ชำระหนี้ขั้นต่ำจากเดิมที่กำหนดไว้อย่างต่ำ 10%ของหนี้บัตรเครดิตที่ค้างในเดือนนั้นๆให้พิจารณาตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้และสถาบันการเงินผู้ออกบัตรจะพิจารณาต่ำกว่า 10%ก็ได้ มาตรการนี้จะลดผลกระทบได้มาก เพราะลูกหนี้ผู้ถือบัตรสามารถทำได้ตามความเป็นจริงและสถานะบัญชีในฐานข้อมูลของเครดิตบูโรจะเป็นบัญชีปกติ ไม่มีการค้างชำระแต่อย่างใด
“ขอย้ำว่าทั้งผู้ถือบัตรเครดิต , ผู้ประกอบการ, SME และผู้ที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกันจะได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรม เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากความไม่มีวินัยในการชำระหนี้ แต่เกิดจากปัญหาภัยพิบัติที่ไม่สามารถควบคุมได้ จึงอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งเจ้าหนี้-ลูกหนี้ได้เข้าใจตรงกันว่า มาตรการทั้ง 3 นี้จะช่วยรักษาประวัติของลูกหนี้ผู้ประสบภัย ไม่ให้มีประวัติค้างชำระ หรือ NPL ในระบบของสถาบันการเงินและในฐานข้อมูลเครดิตบูโรอย่างแน่นอน” นางสาวสุภา กล่าวในตอนท้าย