กรุงเทพฯ--28 ต.ค.--ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย
นายประภาส ทองสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักสื่อสารองค์กร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารเดินหน้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยร่วมมือกับมูลนิธิที่อยู่อาศัยเพื่อมนุษยชาติ ประเทศไทย (Habitat for Humanity Thailand) ในการเปิดรับบริจาคเงินจากประชาชน ตลอดจนลูกค้าและพนักงาน เพื่อระดมเงินไปช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยน้ำท่วม โดยความช่วยเหลือจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ระยะ
สำหรับความช่วยเหลือระยะแรก ได้แก่ ความช่วยเหลือเฉพาะหน้า เช่น การจัดหาเรือเพื่ออพยพและขนย้ายผู้ที่กำลังได้รับความเดือดร้อนในกรณีเร่งด่วน หลังจากนั้น ระยะที่ 2 คือ การปรับปรุงที่อยู่อาศัยหลังน้ำลด เนื่องจากอุทกภัยครั้งนี้ร้ายแรงและเกิดความเสียหายในวงกว้าง โดยนอกจากการสนับสนุนด้านการเงิน ธนาคารจะเข้าไปช่วยเหลือด้านกำลังคนอีกด้วย โดยเตรียมระดมพนักงาน ลูกค้า และประชาชนลงพื้นที่ประสบภัย เพื่อช่วยกันคนละไม้คนละมือในการปรับปรุงและซ่อมแซมที่พักอาศัยให้แก่ผู้ประสบภัย
ทั้งนี้ ณ วันที่ 28 ตุลาคม 2554 มียอดเงินบริจาคเข้ามาแล้ว 492,545.50 บาท สำหรับผู้มีจิตศรัทธา สามารถสมทบทุนผ่านบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ "บมจ.ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เพื่อผู้ประสบอุทกภัย" บัญชีเลขที่ 053-2-23644 ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
นอกจากนี้ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ได้บริจาคเงิน 1 ล้านบาท ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ไทยอีก 12 ธนาคาร ในนามสมาคมธนาคารไทย เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยผ่าน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รวมเป็นเงิน 100 ล้านบาท ณ ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ท่าอากาศยานดอนเมือง
ก่อนหน้านี้ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ร่วมกับมูลนิธิซีไอเอ็มบี เดินสายมอบถุงยังชีพและน้ำดื่มเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในจังหวัดต่างๆ ได้แก่ บ้านบางชะนี และเกาะเรียน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 336 ครัวเรือน เทศบาลนครสวรรค์ และชุมชนหนองปลาแห้ง จังหวัดนครสวรรค์ 450 ครัวเรือน ตำบลหาดอาษา จังหวัดชัยนาท และ ตำบลจำปาหล่อ จังหวัดอ่างทอง 300 ครัวเรือน และ ตำบลบางขาม อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี 200 ครัวเรือน และร่วมสนับสนุนถุงยังชีพและน้ำดื่ม 140 ชุดให้แก่สำนักงานเขตปทุมวัน เพื่อส่งต่อไปยังผู้ประสบภัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
ขณะเดียวกัน เมื่อเร็วๆนี้ ธนาคารมอบทุนสนับสนุนการอนุรักษ์ผืนป่าจำนวน 79,900 บาท ให้แก่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญ ของการอนุรักษ์ป้าไม้และสัตว์ป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศไทยประสบกับปัญหาอุทกภัยน้ำท่วมรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทุกคนควรหันมาให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ป่าไม้ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำอย่างจริงจัง โดยมีรตยา จันทรเทียร ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียรเป็นตัวแทนรับมอบ สำหรับผู้ต้องการสนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร สามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.seub.or.th หมายเลขโทรศัพท์ 02-224-7838-9
ข้อมูลเกี่ยวกับธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)
ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เป็นธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศไทย มี 155 สาขาทั่วประเทศ และให้บริการผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่หลากหลายแก่ทั้งลูกค้าบรรษัทและลูกค้ารายย่อย ธนาคารยังให้บริการค้าหลักทรัพย์ ที่ปรึกษาทางการเงินให้แก่บริษัท ให้บริการกองทุนรวม การจัดการสินทรัพย์ และผลิตภัณฑ์ประกันภัย และบริการต่างๆผ่านทางบริษัทในเครือและสาขา หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม โปรดเข้าเว็บไซต์ www.cimbthai.com
ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เดิมรู้จักกันในชื่อ ไทยธนาคาร ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ กลุ่มซีไอเอ็มบี ในปี 2552 เมื่อกลุ่มซีไอเอ็มบี ได้เข้าถือหุ้น 93.15% โดย ณ วันที่ 30 เมษายน 2554 สินทรัพย์ของธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย มีมูลค่าคิดเป็น 142,081 ล้านบาท
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เป็น ‘BBB’ จาก ‘BBB-’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ แก่ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย สะท้อนเหตุผลหลักที่มาจากการเพิ่มขึ้นของระดับการเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจทั้งในเชิงกลยุทธ์และการดำเนินงานระหว่างธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย และซีไอเอ็มบี แบงก์ เบอร์ฮาด ของมาเลเซีย (ปัจจุบัน ฟิทช์ให้อันดับเครดิตที่ ‘BBB+’/ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) และมีเหตุผลรองมาจากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ในช่วง 12-18 เดือนที่ผ่านมาจากสภาวะของการดำเนินธุรกิจที่ดีขึ้น ซึ่งทำให้อันดับเครดิตของธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย สามารถปรับเข้าใกล้กับอันดับเครดิตของกลุ่มซีไอเอ็มบีมากขึ้น
ข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มซีไอเอ็มบี
CIMB Group Holdings Berhad มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ กัวลาลัมเปอร์ และเป็นบริษัทจดทะเบียนที่ให้บริการทางการเงินที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของมาเลเซีย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2554 กลุ่ม ซีไอเอ็มบี เป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในตลาดหลักทรัพย์ เบอร์ซ่า มาเลเซีย ด้วยมูลค่าเงินทุนหมุนเวียนในตลาด จำนวน 60.9 พันล้านริงกิต ตลาดหลักของกลุ่ม ซีไอเอ็มบี ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ไทย และกัมพูชา ปัจจุบัน กลุ่ม ซีไอเอ็มบี มีจำนวนพนักงานมากกว่า 38,000 คน ใน 14 ประเทศ และเป็นผู้ให้บริการและนำเสนอผลิตภัณฑ์การเงินอย่างครบวงจร ที่ครอบคลุมถึง บริการการธนาคารเพื่อลูกค้ารายย่อย บริการด้านบรรษัทธุรกิจและด้านวาณิชธนกิจ ธนาคารอิสลาม การบริหารจัดการสินทรัพย์ การบริหารความมั่งคั่งส่วนบุคคล บริการประกันภัย และ ตะกาฟุล รวมทั้งการให้บริการธนบดีธนกิจ ผ่านทางเครือข่ายรายย่อยที่มีมากกว่า 1,100 สาขาในอาเซียน หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม โปรดเข้าเว็บไซต์ www.cimb.com