รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนกันยายน 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 31, 2011 09:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ต.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง เศรษฐกิจไทยในเดือนกันยายน 2554 ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้จ่ายภายในประเทศทั้งจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน แม้ว่าการส่งออกมีสัญญาณการชะลอตัวบ้างหลังจากที่ปรับตัวสูงขึ้นมากในช่วงก่อนหน้า นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า “เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนกันยายน 2554 บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้จ่ายภายในประเทศ สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ มีการขยายตัวร้อยละ 13.3 เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 13.8 สอดคล้องกับยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งที่ขยายตัวร้อยละ 29.6 เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 26.4 สะท้อนการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ภายหลังจากได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิในประเทศญี่ปุ่นที่ส่งผลให้การผลิตในช่วงไตรมาสที่ 2 หดตัวลง สำหรับการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ดีต่อเนื่องเช่นกัน สะท้อนจากยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ขยายตัวร้อยละ 25.7 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 15.7 ขณะที่การส่งออกในเดือนสิงหาคม 2554 ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐมีมูลค่า 21.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.1 จากเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าส่งออกที่ขยายตัวได้ดีมาจากยางพารา เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์” นายบุญชัย จรัสแสงสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายเศรษฐกิจมหภาค กล่าวชี้แจงเพิ่มเติมว่า “เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจทางด้านการผลิตในเดือนกันยายนยังขยายตัวได้ โดยเฉพาะการผลิตในภาคบริการยังขยายตัวได้ดี สะท้อนได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนกันยายน 2554 มีจำนวน 1.5 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 22.7 จากเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ขณะที่การผลิตในภาคอุตสาหกรรมมีการบ่งชี้ถึงการชะลอตัวลง โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของเดือนกันยายนคาดว่าจะชะลอตัวลงเล็กน้อยจากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจของสหภาพยุโปและสหรัฐที่ยังมีแนวโน้มชะลอตัว” ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากเหตุการณ์อุทกภัยว่า “เหตุการณ์อุทกภัยส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในวงกว้าง ทั้งในด้านการใช้จ่ายภายในประเทศและในด้านการผลิต โดยในด้านการใช้จ่ายภายในประเทศมีแนวโน้มที่การบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวในอัตราชะลอลงจากการที่การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในพื้นที่ที่ประสบปัญหาอุทกภัยมีการหยุดชะงักลง โดยเฉพาะการจับจ่ายใช้สอยในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม และหมวดโรงแรมและภัตตาคาร ซึ่งมีความสำคัญต่อการบริโภคภาคเอกชนรวมในสัดส่วนร้อยละ 32.0 และ 9.3 ตามลำดับ ประกอบกับรายได้ที่ลดลงของผู้ใช้แรงงานจากการหยุดการจ้างงานของสถานประกอบการที่ประสบภัย รวมถึงการสูญเสียรายได้ของเกษตรกรเนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหายในวงกว้าง ล้วนส่งผลกระทบให้การบริโภคภาคเอกชนโดยรวมชะลอตัวลงในอนาคต สำหรับการลงทุนภาคเอกชนก็ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมเช่นกันเนื่องจากอุตสาหกรรมทั้งที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมและนอกนิคมอุตสาหกรรมต่างก็ได้รับความเสียหาย อย่างไรก็ดี คาดว่าการลงทุนภาคเอกชนจะกลับมาเร่งตัวขึ้นหลังจากปัญหาน้ำท่วมคลี่คลาย เนื่องจากต้องมีการลงทุนในการซ่อมแซมถนน อาคารสถานที่ และที่พักอาศัย รวมไปถึงการสั่งซื้อเครื่องจักร อุปกรณ์ ชิ้นส่วนอะไหล่ ของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อแทนที่เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ได้รับความเสียหาย” ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ได้คาดการณ์ถึงผลกระทบต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรมว่าจะชะลอตัวลงโดยเฉพาะในเขตนิคมอุตสาหกรรมของจังหวัดอยุธยาและปทุมธานี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และจะกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ในการผลิตสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง และจะส่งผลให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบโดยตรงจากการหยุดการผลิต โดยคาดว่าจะทำให้มูลค่าการส่งออกลดลง 77,172 ล้านบาท (2,489.4 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ) โดยมูลค่าการส่งออกรวมในปี 2554 จะลดลงเหลือ 234,411 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือขยายตัวร้อยละ 21.0 นอกจากนี้ ยังมีความเสียหายในภาคการเกษตรและภาคบริการด้วย ทั้งนี้ สศค. คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศจะลดลงเนื่องจากผลของวิกฤตอุทกภัยเป็น มูลค่า 189,822 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ -1.80 โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2554 จะขยายตัวเหลือร้อยละ 2.72 ต่อปี ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั้งปีคาดว่าจะเร่งขึ้นมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 4.0 จากการปรับเพิ่มของราคาสินค้าในหมวดอาหาร เช่น ผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ โดยคาดว่าจะเป็นผลในระยะสั้น”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ