ไอแบงก์เปิดงาน Thailand Islamic Finance Forum 2025 (TIFF 2025) ผลักดันระบบนิเวศน์ของการเงินอิสลามในประเทศไทย สู่ความยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Monday April 28, 2025 09:00 —ThaiPR.net

ไอแบงก์เปิดงาน Thailand Islamic Finance Forum 2025 (TIFF 2025) ผลักดันระบบนิเวศน์ของการเงินอิสลามในประเทศไทย สู่ความยั่งยืน

ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) โดย ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการและผู้จัดการธนาคาร และ ผศ.ดร.วรวิทย์ บารู ผู้แทนจุฬาราชมนตรี และประธานเครือข่ายสหกรณ์อิสลามแห่งประเทศไทย ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีร่วมเปิดงาน Thailand Islamic Finance Forum 2025 (TIFF 2025) "มากกว่าธนาคาร : การเงินอิสลาม รากฐานเศรษฐกิจที่แท้จริง" โดยมี นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายชาครีย์อมร ติรชุลีสุนทร กรรมการธนาคาร คณะผู้บริหารธนาคาร ผู้บริหารสหกรณ์อิสลาม หน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมงานกว่า 300 ท่าน

การจัดงานในครั้งนี้ มีหัวข้อที่น่าสนใจ รวม 9 เรื่อง อาทิ มาตรฐาน ESG สู่การพัฒนาระบบการเงินอิสลามในประเทศไทยอย่างยั่งยืน, สหกรณ์อิสลาม : สร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สู่สถาบันการเงินฐานคุณธรรมในประเทศไทย, การส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานชะรีอะห์ภิบาลของระบบการเงินอิสลามในประเทศไทย, ก้าวนำระบบการเงินภาคสหกรณ์ไทย สู่การสร้างฐานเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรม, โอกาสและความท้าทายของการศึกษา การเงินอิสลาม และธุรกิจฮาลาล สร้างการเติบโตของเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวภูเก็ต, การเงินอิสลาม รากฐานเศรษฐกิจที่แท้จริง อย่างยั่งยืน, การเงิน การลงทุน และธุรกิจอิสลาม : แนวทางสู่การเติบโตในยุคดิจิทัล, การเงิน การลงทุนอิสลาม มองผ่านเลนส์ คนรุ่นใหม่ และการสร้างแบรนด์ แนบศรัทธา Marketing แบบจริงใจ

ในการนี้ ดร.ทวีลาภ ได้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อที่น่าสนใจ เรื่อง "มาตรฐาน ESG สู่การพัฒนาระบบการเงินอิสลามในประเทศไทยอย่างยั่งยืน" บ่งบอกถึงความคาดหวังที่ต้องการผลักดันให้ระบบนิเวศน์ของการเงินอิสลามในประเทศไทยได้มีการเติบโต ขยายตัว และมีบทบาทมากยิ่งขึ้น ประกอบไปด้วย 3 แนวทาง

- การจัดวางโครงสร้างหลักการทางการเงินอิสลาม ตามเจตนารมณ์แห่งกฎหมายอิสลาม หรือ Maqasid Al-Shariah โดยธนาคารจะร่วมมือกับสหกรณ์อิสลาม และสถาบันการศึกษา ร่วมกันตั้งคณะทำงานกลุ่มย่อยเพื่อศึกษากรอบการดำเนินงานในเบื้องต้น

- การนำ ESG มาใช้ในกระบวนการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบการเงินอิสลาม และระบบการเงินกระแสหลักที่มุ่งไปสู่เป้าหมายและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้เกิดพลังทางสังคมที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น

- การสร้างการเชื่อมโยงระบบเครือข่ายช่องทางของระบบทางการเงินอิสลามภายในประเทศกับภูมิภาคให้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศมาเลเซียที่มีองค์ความรู้ทางการเงินและการศึกษาที่เข้มแข็งที่สามารถเชื่อมโยงกับตะวันออกกลาง ผ่านกระบวนการทางความคิด ผ่านนักการธนาคารและนักการศาสนา เพื่อให้แน่ใจได้ว่าระบบการเงินอิสลามได้ดำเนินการสอดคล้องไปกับโลกสมัยใหม่ที่เข้าถึงได้มากยิ่งขึ้น ดร.ทวีลาภ กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ การส่งเสริมพัฒนามาตรฐานชะรีอะห์ภิบาลของระบบการเงินอิสลามในประเทศไทย ปัจจุบันมีสินทรัพย์โดยรวมของทั้งระบบมากถึง 150,000 ล้านบาท ถือเป็นสิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ในการสร้างความร่วมมือ และขับเคลื่อนระบบการเงินอิสลามในประเทศไทย และการที่ภาคีเครือข่ายการเงินอิสลามประเทศไทยได้ร่วมกันกำหนดนโยบาย ทิศทางการดำเนินงานในการขับเคลื่อนการเงินอิสลาม สู่ความมั่นคง สร้างความมั่งคั่ง อย่างยั่งยืน นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในการรวมตัวด้านการเงินอิสลาม และหวังว่า ทุกภาคส่วนทุกภาคีเครือข่ายจะได้ร่วมมือกันผลักดัน และพัฒนาด้านการเงินอิสลาม การเงินฐานคุณธรรม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนและประเทศชาติ ให้มีฐานรากที่มั่นคงและยั่งยืนต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ