ซีเอ็มเอ็มยูเปิดขุมทรัพย์และอานิสงส์สมรสเท่าเทียม โอกาสอัพจีดีพีไทยโต 0.3% กางผลวิจัย "Love Wins Marketing" ถอดรหัสตลาดหัวใจหลากสี

ข่าวทั่วไป Monday April 28, 2025 09:08 —ThaiPR.net

ซีเอ็มเอ็มยูเปิดขุมทรัพย์และอานิสงส์สมรสเท่าเทียม โอกาสอัพจีดีพีไทยโต 0.3% กางผลวิจัย

  • ถอดรหัสการตลาดหลัง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เอฟเฟกต์บวกต่อวงการเวดดิ้ง ท่องเที่ยว อสังหาฯ วางแผนครอบครัว ประกันและสุขภาพ และบริการทางกฎหมาย ช่วยสร้างรายได้เพิ่มกว่า 1.52 แสนล้านบาท แง้ม LGBTQIA+ ยอมจ่ายด้านการแต่งงาน 56% ด้านการมีบุตรและบ้าน 54% "LGBTQ+ อยากมีลูกสูงถึง 4 เท่า"
  • คาดหลังบังคับใช้ พ.ร.บ.ฯ นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 4 ล้านคน พร้อมดันไทยนั่งบัลลังก์เมืองท่องเที่ยวเป็นมิตรต่อ LGBTQIA+ จาก 213 ประเทศทั่วโลก

วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) เผยผลวิจัย "Love Wins Marketing: ถอดรหัสการตลาดหลัง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม" เจาะอินไซต์พฤติกรรมกลุ่ม LGBTQIA+ ซึ่งมีมากกว่า 5.9 ล้านคน คิดเป็น 9% ของประชากรไทย ชี้ชัดกำลังกลายเป็น "ขุมทรัพย์ทางเศรษฐกิจใหม่" ที่พร้อม "จ่ายหนัก-จ่ายจริง" ตั้งแต่เวดดิ้งสุดหรู ท่องเที่ยวสุดพรีเมียม จ่ายเพื่อการมีบุตรหลักล้าน พร้อมควักกระเป๋าซื้อบ้านเดี่ยว-คอนโด ดันอสังหาฯ โต 15-20% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ชี้ 6 ธุรกิจ เวดดิ้ง - ท่องเที่ยว - อสังหาฯ - วางแผนครอบครัว - ประกันและสุขภาพ และบริการทางกฎหมาย รับอานิสงส์เต็มๆ คาดกระตุ้น GDP ไทยโตกว่า 0.3% สร้างรายได้เพิ่มกว่า 152,000 ล้านบาท พร้อมแนะผู้ประกอบการเร่งปรับกลยุทธ์ให้ตอบโจทย์และเข้าใจความหลากหลายจะสร้างโอกาสให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน

อาจารย์ประเสริฐ ธนัชโชคทวี อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ สาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) กล่าวในงานสัมมนา "Love Wins Marketing: ถอดรหัสการตลาดหลัง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม" ว่า หลัง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้ในปี 2568 ส่งผลให้กลุ่มผู้บริโภค LGBTQIA+ ในประเทศไทยซึ่งมีจำนวนมากกว่า5.9 ล้านคน หรือคิดเป็น 9% ของประชากรทั้งประเทศ กลายเป็นขุมพลังทางเศรษฐกิจใหม่ที่น่าจับตา ทั้งในแง่พฤติกรรมการใช้จ่ายและค่านิยมในการเลือกแบรนด์หรือบริการที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ เนื่องจากเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อและมีแนวโน้มใช้จ่ายสูง โดยเฉพาะในหมวดที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคู่และการสร้างความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นการจัดงานแต่งงาน การท่องเที่ยวฮันนีมูน การวางแผนครอบครัวและการมีบุตร การซื้อที่อยู่อาศัย การวางแผนการเงิน การทำประกันและดูแลสุขภาพ ทั้งนี้ยังพบว่ากลุ่ม LGBTQIA+ ให้ความสำคัญกับการแสดงออกถึงตัวตน การได้รับการยอมรับ และเลือกซื้อสินค้าและบริการที่ไม่ได้มองเพียงแค่ "คุณภาพ" หรือ "ราคา" แต่ยังให้ความสำคัญกับ "ประสบการณ์" ที่ได้รับจากแบรนด์ที่มีความเข้าใจและเคารพความหลากหลายอย่างแท้จริง ซึ่งหากแบรนด์สามารถสร้างสินค้าหรือบริการที่ชาว LGBTQIA+ พึงพอใจและประทับใจได้ก็จะสามารถสร้างความภักดีต่อแบรนด์ในระยะยาวและช่วยให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน

เพื่อให้เข้าใจพฤติกรรมและความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคที่มีศักยภาพนี้ CMMU จึงได้จัดทำงานวิจัย "Love Wins Marketing: ถอดรหัสการตลาดหลัง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม" เจาะลึกพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าและบริการของชาว LGBTQIA+ใน 6 มิติหลัก ได้แก่ ด้านการแต่งงานและการใช้ชีวิตคู่ ด้านการท่องเที่ยวและฮันนีมูน ด้านการวางแผนครอบครัวและการมีบุตร ด้านการเงิน ที่อยู่อาศัย และการลงทุนร่วม ด้านสุขภาพและประกันภัย และด้านพฤติกรรมการบริโภคและทัศนคติต่อแบรนด์ โดยใช้กลุ่มตัวอย่าง LGBTQIA+ จาก Gen Y และ Z ทั้งหมด 374 คน เพื่อให้ผู้ประกอบการและนักการตลาดสามารถนำไปต่อยอดและพัฒนากลยุทธ์ทางธุรกิจให้ตอบสนองความต้องการของชาว LGBTQIA+ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้าน นายปกรณ์ รัตนชวนนท์ หัวหน้าทีมงานวิจัย "Love Wins Marketing: ถอดรหัสการตลาดหลัง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม" นักศึกษาสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ผลการศึกษาครั้งนี้จะทำให้เห็นความต้องการเฉพาะที่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่มย่อยของ LGBTQIA+ ทั้งในมิติของเจเนอเรชันและในมิติของความหลากหลายทางเพศ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการและนักการตลาดมองเห็นโอกาสในการพัฒนาสินค้าและบริการที่เจาะจงเฉพาะกลุ่มได้ พร้อมทั้งสามารถสร้างการสื่อสารทางการตลาดที่ตรงกลุ่มเป้าหมายอย่างเข้าใจและมีประสิทธิภาพ โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจจากผลการวิจัยใน 6 มิติ

ด้านการแต่งงานและการใช้ชีวิตคู่ จากผลสำรวจพบว่า 56.1% ของกลุ่ม LGBTQIA+ อยากจัดงานแต่งงาน โดยกลุ่มเลสเบี้ยนสนใจจดทะเบียนสมรสมากที่สุดถึง 50.4% และมากกว่า 66.4% ของคู่รักเพศเดียวกันต้องการจดทะเบียนสมรส ซึ่งสอดคล้องกับสถิติการจดทะเบียนสมรสในวันแรกของการบังคับใช้กฎหมาย ข้อมูลยังแสดงให้เห็นว่ากลุ่ม LGBTQIA+ นิยมจัดงานที่โรงแรม 48.7% ในจำนวนนี้พบว่าเป็นกลุ่ม Gay Gen Z มากที่สุดถึง 64.9% และนิยมจัดงานขนาดกลาง (50-100 คน) ถึง 54.4% โดยเฉลี่ยมีงบประมาณในการจัดงานประมาณ 300,000-500,000 บาท และที่น่าสนใจคือ 4.7% ของกลุ่มนี้มีการวางแผนใช้งบประมาณมากกว่า 1 ล้านบาท โดยเฉพาะกลุ่ม Gay Gen Z ซึ่งมีสัดส่วนสูงกว่ากลุ่ม Gay Gen Y

ด้านการท่องเที่ยวและฮันนีมูนพบว่า กลุ่ม LGBTQIA+ มีความสนใจและวางแผนไปฮันนีมูนหลังแต่งงาน 51.8% โดยมีเลสเบี้ยนสูงถึง 35.2% ที่ชื่นชอบการไปฮันนีมูน และเลสเบี้ยน Gen Y นิยมไปฮันนีมูนในเอเชียมากที่สุด 46.9% รองลงไปคือภายในประเทศ 32% และยุโรป 21.1% สำหรับที่พักที่นิยมสำหรับฮันนีมูน คือ Private Villa 40.6% ตามมาด้วยโรงแรมหรู 31.3% โดยกลุ่ม Gay Gen Y นิยมโรงแรมมากกว่ากลุ่มอื่น ผลวิจัยยังระบุอีกว่ากลุ่ม LGBTQIA+ ใช้จ่ายในการท่องเที่ยว 20,000-50,000 บาทต่อปี เฉลี่ยท่องเที่ยว 3-5 ครั้งต่อปี โดยกลุ่ม Gay Gen Y มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวระหว่าง 20,000-50,000 บาท สูงที่สุด ผลวิจัยยังพบว่า 54% ของกลุ่ม Gay Gen Z ชอบให้เอเจนซี่วางแผนฮันนีมูนให้มากกว่าวางแผนด้วยตัวเอง ขณะที่ 33% ของกลุ่ม Gay Gen Z นิยมเลือกจุดหมายปลายทางประเภท Beach & Sea share

ด้านการวางแผนครอบครัวและการมีบุตร พบว่า กลุ่ม LGBTQIA+ 54% วางแผนมีบุตรภายใน 2 ปี หลังแต่งงาน โดยกลุ่ม Lesbian Gen Z มีความต้องการมีบุตรสูงที่สุด และกลุ่ม Gay Gen Z 16.1% มีความคาดหวังที่จะมีบุตรมากกว่ากลุ่มอื่น ผลวิจัยยังพบว่า 12.9% ของกลุ่ม LGBTQIA+ ต้องการใช้บริการธนาคารฝากเซลล์สืบพันธุ์ในการมีบุตรโดยทางเลือกในการมีบุตรของกลุ่ม LGBTQIA+ มีหลากหลาย ทั้งการปฏิสนธินอกร่างกาย (IVF) ที่มีค่าใช้จ่าย อยู่ที่ประมาณ 300,000-500,000 บาท การตั้งครรภ์แทน ค่าใช้จ่ายสูงถึง 1-2.5 ล้านบาทหรือมากกว่า และการรับบุตรบุญธรรม ที่มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าที่ 5,000-10,000บาท งานวิจัยยังชี้ว่า ค่าใช้จ่ายในการมีบุตรของกลุ่ม LGBTQIA+ สอดคล้องกับงบประมาณที่วางแผนไว้ที่ประมาณ 500,000-1,000,000 บาท

ด้านการเงิน ที่อยู่อาศัย และการลงทุนร่วม จากผลสำรวจพบว่า 54% ของกลุ่ม LGBTQIA+ ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง โดยกลุ่มเลสเบี้ยนมีความต้องการสูงที่สุด ในจำนวนนี้พบว่า 79.1% ของกลุ่ม LGBTQIA+ เลือกซื้อที่อยู่เป็นบ้านเดี่ยว และ 20.9% เลือกย้ายไปอยู่กับคู่รัก โดยมีงบประมาณเฉลี่ย 3-5 ล้านบาท ในขณะที่กลุ่ม Lesbian Gen Z สนใจซื้อคอนโดมิเนียมสูงถึง 44% ส่วนกลุ่ม Gay Gen Z และ Others Gen Z สนใจบ้านเดี่ยวมากกว่าที่ 40% นอกจากนี้ 86% ของกลุ่ม LGBTQIA+ ยังมองหาสินเชื่อบ้านดอกเบี้ยต่ำกว่า 5% โดยกลุ่ม Lesbian Gen Y และ Gay Gen Z ยอมรับดอกเบี้ยได้สูงถึง 7.01-10%

สำหรับด้านการวางแผนการเงินพบว่า กลุ่ม Lesbian วางแผนการเงินเพื่อที่อยู่อาศัยสูงที่สุด ขณะที่กลุ่ม Gay วางแผนการเงินเพื่อยานพาหนะมากที่สุด และกลุ่ม Others วางแผนการเงินเพื่อการเกษียณอายุและแปลงเพศที่ 2.9% ผลการวิจัยยังพบว่า 55% ของชาว LGBTQIA+ ต่าง Gen เลือกที่อยู่อาศัยโดยให้ความสำคัญกับ "ทำเลและความปลอดภัย" เป็นหลัก โดย 30% ของ Gay Gen Z เลือกทำเลที่ใกล้รถไฟฟ้า และ 56% มีแนวโน้มกระจายตัวอาศัยนอกเขตธุรกิจ

ด้านสุขภาพและประกันภัย พบว่า 48.6% ของกลุ่ม LGBTQIA+ ใช้จ่ายกับประกันในช่วง 10,000-30,000 บาทต่อปี โดยประกันสุขภาพเป็นที่ต้องการของกลุ่ม Gay Gen Y มากที่สุด ประกันชีวิตแบบระบุผู้รับผลประโยชน์เป็นที่ต้องการของกลุ่ม Lesbian Gen Y มากที่สุด และประกันการเดินทางเป็นที่ต้องการของกลุ่ม Gay Gen Z มากที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการในการท่องเที่ยว ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่า กลุ่มเลสเบี้ยนสนใจบริการศัลยกรรมแปลงเพศ 8.7% มากกว่ากลุ่มเกย์ที่สนใจเพียง 3.5% และยังมีความต้องการบริการด้านสุขภาพจิต บริการด้านสุขภาพทางเพศสำหรับ LGBTQIA+และการตรวจสุขภาพทั่วไปอีกด้วย

ด้านพฤติกรรมการบริโภคและทัศนคติต่อแบรนด์ พบว่า 77% ของกลุ่ม LGBTQIA+ ใช้ปัจจัยด้านราคาและคุณภาพเป็นเหตุผลในการตัดสินใจซื้อโดยกลุ่ม Gay Gen Y เน้น "คุณภาพ" มากกว่า "ราคา" กลุ่ม Lesbian Gen Y มอง "ภาพลักษณ์" มากกว่า "ราคา" และกลุ่ม Others Gen Y กว่า 61% เป็นกลุ่ม "Price-Sensitive" ที่อ่อนไหวต่อราคา นอกจากนี้ยังพบอีกว่า 23% ของกลุ่ม LGBTQIA+ ใช้ประสบการณ์ด้านบริการเป็นเหตุผลในการตัดสินใจซื้อ โดยบริการที่เป็นที่ต้องการในกลุ่ม LGBTQIA+ ได้แก่ บริการให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย บริการการวางแผนครอบครัวและการมีบุตร และบริการแพทย์เฉพาะทาง/คลินิกพิเศษเฉพาะกลุ่ม ที่น่าสนใจคือ กลุ่ม Lesbian Gen Z นิยมออกเดทมากที่สุด โดย 77.8% ของกลุ่มนี้ออกเดท ส่วนที่เหลือไม่ออกเดท และยังพบว่ากลุ่ม LGBTQIA+ ใช้จ่ายเฉลี่ย 2,000-5,000 บาทต่อเดือนในการออกเดท โดย 22.46%มีการใช้จ่ายสูงกว่า 5,000 บาทต่อเดือน

อาจารย์ประเสริฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากผลการวิจัยสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของกลุ่ม LGBTQIA+ ในประเทศไทย และโอกาสทางธุรกิจที่จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยคาดว่าหลัง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมบังคับใช้ จะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 4 ล้านคน สร้างรายได้ 152,000 ล้านบาท และส่งผลให้ GDP ไทยเพิ่มขึ้น 0.3% ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่า ประเทศไทยยังติดอันดับใน Top Quartile ของสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อ LGBTQIA+ จาก 213 ประเทศทั่วโลก ซึ่งเป็นปัจจัยบวกที่จะช่วยส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจกลุ่มนี้ในประเทศไทย นอกจากนี้ ผลวิจัยยังพบว่ากลุ่ม LGBTQ+ อยากมีลูกสูงถึง 4 เท่า เมื่อเทียบกับคนทั่วไปและตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากของไทยมีมูลค่า 6.3 พันล้านบาท โตขึ้น 6.2% รวมถึงการซื้อคอนโดมิเนียมและบ้านจากคู่ LGBTQIA+ เพิ่มขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา 15-20%

"การศึกษาครั้งนี้ไม่เพียงแต่ช่วยให้เข้าใจพฤติกรรมและความต้องการของกลุ่ม LGBTQIA+ แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงโอกาสทางธุรกิจอันมหาศาลที่รออยู่ ธุรกิจที่เข้าใจและสามารถนำเสนอสินค้าหรือบริการที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะของกลุ่มนี้ได้ จะมีความได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญ" อาจารย์ประเสริฐ กล่าวสรุป

ทั้งนี้ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ได้จัดสัมมนาการตลาด "Love Wins Marketing ถอดรหัสการตลาดหลัง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม" ภายในงานยังได้เชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด และผู้แทนภาคธุรกิจ สื่อมวลชนและอินฟลูเอ็นเซอร์ อาทิ คุณณัฐพัชญ์ วงษ์เหรียญทอง ผู้ก่อตั้งบริษัท Dots Consultancy และผู้เชี่ยวชาญและวิทยากรด้านการตลาด คุณธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ปี 2565 คุณระบิล สิริมนกุล Chief Marketing Officer แบรนด์ศรีจันทร์ แพทย์หญิง ภัทริกา ศรีนราวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย จากบริษัท เอสเอ็มดีสัปปายะ จำกัด คุณประณยา นิถานานนท์ Hea d of Credit Card Marketing Krungthai Card PCL. (KTC) คุณต๋อง ธนายุทธ ฐากูรอรรถยา ดารานักแสดง และคณะอนุกรรมการ THACCA ผู้ขับเคลื่อนวงการละครและซีรีส์ไทยและคุณเติร์ก รัชกฤต ปริยปุณยภา Influencer และวิทยากร/ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาภาษาอังกฤษในองค์กร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ