
มหาวิทยาลัยมหิดลได้มีนโยบายส่งเสริมการสร้างความเป็นมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ (Eco University) เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) โดยมีโครงการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยมหิดลสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน พ.ศ. 2563-2566 เพื่อให้เกิดความสัมฤทธิ์ของการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว วิทยาลัยการจัดการ (CMMU) จึงดำเนินการพัฒนาและเสริมสร้างองค์ความรู้เพื่อการป้องกันและลดการเกิดขยะที่มาจากอาหารซึ่งนับเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก ปัญหาด้านนี้มาจากการสูญเสียทรัพยากร การเพิ่มปริมาณคาร์บอนจากการผลิตและการบริโภค และ การส่งเสริมให้เกิดความไม่ยั่งยืนในระบบอาหาร และองค์ความรู้เรื่องนี้มีสอนที่ CMMU
ดังนั้นทางวิทยาลัยการจัดการ จึงเริ่มจากการฝึกอบรมพนักงานและอาจารย์จำนวน ๓๒ คนในหัวข้อ กลยุทธ์เพื่อการจัดการขยะจากอาหารและความยั่งยืนทางอาหาร โดย รองศาสตราจารย์ ณัฐวุฒิ พิมพา จากวิทยาลัยการจัดการเป็นวิทยากรผู้อบรมให้กับทีมงานของวิทยาลัยการจัดการในวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๖๘ เวลา ๑๓.๓๐ ถึง ๑๖.๓๐ โดยวัตถุประสงค์หลักของการอบรมคือ การสร้างการตระหนักรู้ถึงปัญหาด้านขยะจากอาหาร การร่วมกันวางแผนการรับประทานอาหาร และเลือกซื้ออาหารที่พอเหมาะกับการบริโภคและการวาฃแผนในการลดคาร์บอน เพื่อแสดงถึงความรับผิดชอบในการบริโภค รวมไปถึงการพัฒนากลยุทธ์พื้นฐานสำหรับวิทยาลัยการจัดการเพื่อการเป็น Zero Food Waste Business School โดยกิจกรรมได้จัดในรูปแบบการบรรยาย การออกแบบนโยบายร่วม และ การระดมความคิดเห็นของสมาชิกของวิทยาลัยการจัดการ เพื่อการบรรลุเป้าประสงค์การพัฒนาอย่างยั่งยืนในข้อ ๑๒ คือการผลิตและบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ (sustainable Production and Consumption) โดยในการอบรมครั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ปรารถนา ปุณณะกิตติเกษม คณบดีวิทยาลัยการจัดการได้มาเปิดการอบรมและให้นโยบายหลักถึงบทบาทของวิทยาลัยการจัดการในการเป็นโรงเรียนธุรกิจและการจัดการที่สอน วิจัย และปฏิบัติงานอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและใส่ใจในผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อนึ่ง กิจกรรมในครั้งนี้ได้มุ่งเป้าสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมของผู้ปฎิบัติงานภายในวิทยาลัยการจัดการ
นอกจากนี้ ทางวิทยาลัยการจัดการยังเริ่มพัฒนาให้องค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่นำไปสู่ประเด็นความยั่งยืนทางอาหาร การผลิตและบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ และ การลดขยะจากอาหาร ร่วมไปถึงแนวทางการพัฒนาอาหารที่มีคาร์บอนต่ำได้เป็นหนึ่งในประสบการณ์การเรียนรู้ของนักศึกษาของวิทยาลัยการจัดการ โดยคณะนักศึกษาในสาขาภาวะผู้ประกอบการและนวัตรกรรมได้จัดการเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ ธุรกิจอาหาร Plant-Based: ทางเลือกหรือทางรอด ในวันที่ ๒๗ เมษายน โดยนักศึกษาในกลุ่มนี้เป็นผู้เรียนในวิชา สัมมนาธุรกิจ โดย รองศาสตราจารย์ ณัฐวุฒิ พิมพา การสัมมนาในครั้งนี้เน้นประเด็นการพัฒนาธุรกิจที่ส่งเสริมอาหารแห่งอนาคตที่ลดขยะ และ ลดคาร์บอนจากกระบวนการผลิต และส่งผลกระทบในเชิงบวกต่อระบบนิเวศน์และต่อสุขภาพของผู้บริโภค นอกจากนี้ ตัวแทนจากอุตสาหกรรมอาหารภายใต้แบรนด์ ฟีค โยเกิร์ต ได้เข้าร่วมเสนอมุมมองในการจัดการอาหารสำหรับอนาคตพร้อมถอดรหัสอุตสาหกรรมอาหารปลอดคาร์บอนในอนาคต การเสวนาในครั้งนี้สามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=MOEqrg6h6hI โดยงานครั้งนี้มีเป้าหมายในการเสริมสร้างความเข้าใจและเผยแพร่ความรู้ในปัญหาด้านธุรกิจอาหารในกลุ่มนักศึกษาของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล
กิจกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นหมุดหมายหลักสำหรับวิทยาลัยการจัดการในการพัฒนา เผยแพร่องค์ความรู้ด้านการจัดการเพื่อความมั่นคงทางอาหาร และ การลดขยะจากอาหาร ที่สำคัญกิจกรรมเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อพนักงาน บุคลากร อาจารย์ และ นักศึกษาของวิทยาลัยการจัดการในการส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนรับทราบและเข้าใจถึงแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน อันเป็นการส่งเสริมการผลิตและบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อ ๑๒ และการปฎิบัติงานตามแนวทางหลักของมหาวิทยาลัยมหิดลที่ส่งเสริมแนวคิดเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน
