
ช่วงที่ผ่านมา ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ได้เริ่มอ่อนค่าลงอีกครั้ง โดยมีปัจจัยกดดันจากหลายด้านที่สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนทั่วโลก หนึ่งในปัจจัยสำคัญคือความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเรื่อง Tariff หรือภาษีนำเข้า ที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งในด้านการเติบโตและความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก
นอกจากนี้ สถานะทางการคลังของรัฐบาลสหรัฐฯ เริ่มส่งสัญญาณเปราะบางมากขึ้น โดยมีความเป็นไปได้ที่หากเศรษฐกิจชะลอตัว อาจจำเป็นต้องกลับมาใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing หรือ QE) อีกครั้ง ขณะที่ท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เกี่ยวกับการปรับอัตราดอกเบี้ยยังคงไม่ชัดเจน ซึ่งยิ่งเพิ่มระดับความไม่แน่นอนในตลาดเงินให้สูงขึ้น
คณะนักวิเคราะห์ บริษัท เมอร์เคิล แคปปิตอล จำกัด ระบุว่า ด้วยปัจจัยเหล่านี้ นักลงทุนจำนวนไม่น้อยจึงเริ่มทยอยลดการถือครองเงินดอลลาร์ และเปลี่ยนไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ถือว่าปลอดภัยมากกว่า อาทิ ทองคำ หรือ Bitcoin ซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้นในฐานะเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงในภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน
ทั้งนี้ กระแสการซื้อทองคำได้เพิ่มสูงขึ้นในประเทศไทยเช่นกัน โดยนักลงทุนรายย่อยจำนวนมากนำทองคำมาขายให้กับร้านทอง ซึ่งร้านทองจะส่งต่อไปยังผู้ค้าส่ง ก่อนจะส่งออกทองคำไปยังตลาดต่างประเทศ กระบวนการนี้จำเป็นต้องแปลงเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อใช้ในการค้าระหว่างประเทศ และเมื่อนำเงินดอลลาร์ที่ได้มาแปลงกลับเป็นเงินบาท จะเกิดแรงซื้อเงินบาทในระบบ ส่งผลให้เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ราคาทองคำสูง
ขณะเดียวกัน Bitcoin ก็ยังคงแสดงความแข็งแกร่ง แม้จะอยู่ภายใต้แรงกดดันจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ โดยข้อมูล On-Chain ระบุว่า นักลงทุนระยะสั้น (Short-Term Holders) มีการขายขาดทุนจำนวนมากในช่วงที่ตลาดผันผวน ขณะที่นักลงทุนระยะยาว (Long-Term Holders) ที่ถือเหรียญมานานกว่า 155 วัน ยังคงสามารถทำกำไรได้เมื่อมีการขายออก
แม้ว่าปริมาณเงินทุนใหม่ที่ไหลเข้าตลาดคริปโทเคอร์เรนซีจะเริ่มชะลอตัว แต่สัญญาณที่น่าสนใจคือการกลับมาเพิ่มขึ้นของปริมาณการถือครอง Bitcoin โดยกลุ่มนักลงทุนระยะยาว ซึ่งสะท้อนถึงระยะเริ่มต้นของการสะสมรอบใหม่
การเคลื่อนไหวเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงบทบาทของ Bitcoin ที่ไม่ได้เป็นเพียงสินทรัพย์ทางเลือก แต่ยังสามารถตอบโจทย์ทั้งในเชิงการเติบโตของมูลค่าในระยะยาว และการกระจายความเสี่ยงในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกเผชิญกับความไม่แน่นอนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เสริมสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนสถาบันที่ยังคงเลือกลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล แม้จะอยู่ในช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยแรงกดดันจากภาพรวมเศรษฐกิจโลก
การโยกย้ายของเม็ดเงินลงทุนจากเงินดอลลาร์ไปยังสินทรัพย์ปลอดภัย ไม่เพียงแต่แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของนักลงทุน แต่ยังสะท้อนแนวโน้มสำคัญของเศรษฐกิจโลกที่กำลังอยู่ในช่วงปรับตัวครั้งสำคัญ ซึ่งนักลงทุนทั้งรายใหญ่และรายย่อยควรติดตามอย่างใกล้ชิด
หมายเหตุ
คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ท่านอาจสูญเสียเงินลงทุนได้ทั้งจำนวน โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสม กับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัลในอดีตมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัลในอนาคต
**บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอข้อมูลเท่านั้น ไม่ใช่คำแนะนำในการลงทุนแต่อย่างใด การลงทุนมีความเสี่ยง ควรวิเคราะห์อย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน