นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันโรคลิชมาเนียในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมทั้งการรณรงค์ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับวิธีป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโรคลิชมาเนียว่า สนอ. ได้ประสานความร่วมมือสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขเพื่อติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังการเจ็บป่วยของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ จากโรคลิชมาเนีย (Leishmaniasis) รวมทั้งการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ของศูนย์บริการสาธารณสุข โดยมีมาตรการเชิงรุกในการเฝ้าระวังและป้องกันโรค และมาตรการควบคุมการระบาดของลิชมาเนีย ซึ่งจะตรวจสอบประวัติผู้ป่วย ค้นหาผู้ป่วยรายอื่น ๆ และอาจเจาะเลือดค้นหาผู้ไม่ปรากฏอาการ พร้อมให้การรักษาจนหายขาด ค้นหาสัตว์รังโรคและกำจัดสัตว์ที่มีเชื้อลิชมาเนียทุกตัว รวมทั้งควรป้องกันสัตว์เลี้ยงไม่ให้ถูกแมลงริ้นฝอยทรายกัด หากมีพาหะในบริเวณดังกล่าวให้พ่นเคมีกำจัดทั้งในบ้าน นอกบ้าน และคอกสัตว์
รวมทั้งดำเนินการ Big cleaning day ในชุมชน ส่วนมาตรการป้องกันโรคต้องดำเนินการควบคุม กำจัดพาหะนำโรค ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมในบ้านและนอกบ้านให้สะอาดและเป็นระเบียบ กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์แมลงริ้นฝอยทราย กำจัดสัตว์รังโรค โดยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมควรอยู่ห่างจากตัวบ้านอย่างน้อย 10 เมตร สัตว์ที่มีเชื้อลิชมาเนียต้องกำจัดโดยปรึกษาสัตวแพทย์ หรือผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานปศุสัตว์ และประชาชนควรระมัดระวังและป้องกันตนเองไม่ให้แมลงริ้นฝอยทรายกัด เช่น ทายากันยุง สวมเสื้อผ้าปกปิดทั่วร่างกาย
สำหรับอาการของโรคดังกล่าว มักพบตุ่มนูนพองใสและแดง แผล ซึ่งอาจเป็นแผลเปียก หรือแผลแห้ง แผลมักมีขอบ อาจแผลเดียว หรือหลายแผล แผลลุกลามรวมกันเป็นแผลใหญ่ได้ หรืออาจเป็นตุ่มกระจายทั่วตัว หรือแผลที่เยื่อบุบริเวณปาก จมูก หากมีอาการรุนแรงจะมีไข้เรื้อรังมากกว่า 10 วัน ผอม ซีด ตับม้ามโต ซึ่งการแพร่ของโรคจะนำโดยแมลงชื่อริ้นฝอยทราย (sandfly) และริ้นปีกลายที่อยู่ตามบ้านที่มีสัตว์เลี้ยง คอกสัตว์ มูลสัตว์ กองดิน หรือกองขยะ