
วันที่ 30 เมษายนของทุกปี ถือเป็น "วันยุติการลงโทษทางกายต่อเด็กสากล" (International Day to End Corporal Punishment of Children)" ซึ่งเป็นวันที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับผลร้ายของการลงโทษทางร่างกายต่อเด็ก และส่งเสริมการเลี้ยงดูเด็กที่ไม่ใช้ความรุนแรง เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจว่าเด็กทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมถึงเป็นการสนับสนุนให้มีการเผยแพร่แนวทางในการเลี้ยงดูเด็กเชิงบวกที่สามารถช่วยส่งเสริมความอยู่ดีมีสุขของเด็กได้
ทำไมเราควรยุติการลงโทษเด็ก?
จากงานวิจัยทั่วโลกพบว่า ผลกระทบของการลงโทษนั้น ส่งผลโดยตรงต่อพัฒนาการและพฤติกรรมในเชิงลบที่ติดตัวเด็กไปจนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งรวมถึงการมีความบกพร่องทางสุขภาพจิต พัฒนาการทางสมอง มีพฤติกรรมก้าวร้าวเพิ่มขึ้น และมีพฤติกรรมต่อต้านสังคมมากขึ้น
ทั้งนี้ การลงโทษด้วยการทำร้ายร่างกายเป็นการละเมิดสิทธิเด็กซึ่งควรได้รับความเคารพต่อศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์และความปลอดภัยต่อร่างกาย สิทธิที่จะมีชีวิตรอด มีสุขภาพที่ดี มีพัฒนาการที่ดี ได้รับการพัฒนา ได้รับการศึกษาที่ดี ได้รับการปกป้องคุ้มครองและปลอดภัยจากการถูกทรมาน รวมถึงการถูกปฏิบัติหรือถูกลงโทษที่เป็นการทารุณ ไร้มนุษยธรรม และลดทอนคุณค่าในตนเอง
มูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทยฯ เป็นหนึ่งในองค์กร ขับเคลื่อนประเด็น "ยุติการลงโทษทางร่างกายต่อเด็ก" มาโดยตลอด เพราะเด็กไม่สมควรได้รับความรุนแรงใด ๆ ทั้งสิ้น โดยในปี 2567 มูลนิธิเด็กโสสะฯ ร่วมกับเครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย และสมาชิกองค์กรภาคประชาสังคม ได้มีการประชุมเพื่ออภิปรายเชิงวิชาการ หัวข้อ การยุติการลงโทษทางกายทุกรูปแบบต่อเด็ก เพื่อเสนอความเห็นสนับสนุนสภาผู้แทนราษฎรแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567 (2) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอความเห็นสนับสนุนสภาผู้แทนราษฎรแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567 (2) เพื่อให้ผู้ปกครองเลี้ยงดูเด็ก โดยไม่ใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบต่อเด็ก
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2568 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 25) พ.ศ. 2568 หรือกฎหมายไม่ตีเด็ก โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศใช้ราชกิจจานุเบกษา หรือ 25 มีนาคม 2568 เป็นต้นไป โดยสาระสำคัญของกฎหมายดังกล่าว มาตรา 1567 (2) กำหนดให้ ผู้ใช้อำนาจปกครอง (พ่อแม่) มีสิทธิทำโทษบุตรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอนหรือปรับพฤติกรรม โดยต้องไม่เป็นการกระทำทารุณกรรมหรือทำร้ายด้วยความรุนแรงต่อร่างกายหรือจิตใจ หรือกระทำโดยมิชอบ แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เก่าในมาตรา 1567 (2) เพียงอนุมาตราเดียวเท่านั้น
อ้างอิง : https://www.matichon.co.th/lifestyle/children-teenagers/news_5118419
