Mango Art Festival 2025 เทศกาลศิลปะที่ครบเครื่องที่สุด ชวนสำรวจโลกในจินตนาการ ผ่าน 4 นิทรรศการพิเศษ 6 ศิลปินนักสร้างสรรค์ และ 3 ภัณฑารักษ์นักเล่าเรื่อง

ข่าวปฏิทินข่าว Monday April 28, 2025 16:40 —ThaiPR.net

Mango Art Festival 2025 เทศกาลศิลปะที่ครบเครื่องที่สุด ชวนสำรวจโลกในจินตนาการ ผ่าน 4 นิทรรศการพิเศษ 6 ศิลปินนักสร้างสรรค์ และ 3 ภัณฑารักษ์นักเล่าเรื่อง

นับถอยหลังสู่เทศกาลศิลปะที่ครบเครื่องที่สุดในเมืองไทย ที่คนรักงานศิลปะและนักสะสมจะได้เสพศิลป์กันให้ฉ่ำไปกับ Mango Art Festival 2025 หรือ MAF ที่มาพร้อมคอนเซ็ปต์ "Connected Worlds" เชื่อมโยงแนวคิดและวัฒนธรรมจากศิลปิน แกลเลอรี ภัณฑารักษ์ นักสะสม และผู้เชี่ยวชาญในแวดวงศิลปะไว้ครบในที่เดียว โดยอีกหนึ่งไฮไลท์ของงานที่ไม่ควรพลาดคือ Special Exhibition โซนที่รวบรวมผลงานสดใหม่จาก 6 ศิลปินไทย บอกเล่าเรื่องราวเหนือจินตนาการผ่านมุมมองของ 3 ภัณฑารักษ์คนพิเศษ เพื่อมอบประสบการณ์ทางศิลปะที่ลึกซึ้งและแตกต่างให้กับผู้ชม

MAF 2025: ท่องไปในโลกแห่งจินตนาการและศิลปะอันไร้ขีดจำกัด

Special Exhibition หรือโซนนิทรรศการพิเศษของ MAF คัดสรรผลงานสดใหม่และงานที่น่าสนใจของศิลปินไทยไว้อย่างพิถีพิถัน เพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่ในการรับชมงานศิลปะที่หลากหลายได้อย่างลึกซึ้ง พร้อมนำเสนอผลงานอันโดดเด่นและมีสไตล์ของศิลปินไทย ภายใต้การตีความและวิธีการนำเสนอที่ไม่เหมือนใครโดย 3 ภัณฑารักษ์มากความสามารถ พร้อมนำพาผู้ชมเดินทางสู่โลกแห่งเรื่องราวเหนือจินตนาการ ได้แก่

  • Ephemeral Echoes - เสียงสะท้อนของความชั่วขณะ

ศิลปิน: ปิยะ เจริญเมือง

ภัณฑารักษ์: เซน เสน่ห์งามเจริญ

นิทรรศการที่จะพาผู้ชมไปสำรวจความเปราะบางของช่วงเวลา เสียงสะท้อนของความทรงจำ และความงามที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว สะท้อนผ่านผลงานที่ทั้งงดงาม ลึกซึ้ง และชวนให้ครุ่นคิดถึงธรรมชาติของสิ่งที่ไม่จีรัง การทำงานร่วมกันของศิลปินและภัณฑารักษ์ในครั้งนี้ ถือเป็นการผสมผสานมุมมองและเทคนิคที่แตกต่างกันอย่างลงตัว พร้อมบอกเล่าเรื่องราวที่ซับซ้อน น่าสนใจ และเต็มไปด้วยมิติที่เหนือความคาดหมาย ผู้ชมจะได้สัมผัสกับผลงานศิลปะที่เปี่ยมด้วยพลัง ทั้งภาพวาด ประติมากรรม และผลงานจัดวาง ที่ได้รับการนำเสนอในรูปแบบที่จะกระตุ้นให้เกิดการตีความและสร้างแรงบันดาลใจ

"เสียงสะท้อนของความชั่วขณะเป็นนิทรรศการแสดงเดี่ยวในรอบ 10 ปีของปิยะ เจริญเมือง ผลงานชุดนี้ถ่ายทอดแนวคิดเรื่อง "ช่วงเวลาที่เปลี่ยนแปลงอย่างไม่คงที่" ผ่านผลงานจิตรกรรมกึ่งนามธรรมที่ศิลปินสร้างสรรค์ขึ้นมาระหว่าง พ.ศ. 2560 - 2563 ทุกชิ้นงานเปรียบเสมือนการบันทึกชีวิตในแต่ละห้วงเวลา การถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึก และการตระหนักรู้ของศิลปินต่อสิ่งที่อยู่รอบตัว ผ่านภาษาทัศนศิลป์อย่างเส้น สีและรูปฟอร์ม ที่เปลี่ยนแปลงไปตามจังหวะของเวลาและบรรยากาศ เหมือนเสียงสะท้อนของความรู้สึกที่เกิดขึ้นในชั่วขณะหนึ่ง"

เซน เสน่ห์งามเจริญ ภัณฑารักษ์ ยังได้กล่าวเสริมว่า แม้ผลงานชุดนี้จะไม่ได้พูดถึงประเด็นทางสังคม แต่สิ่งที่ศิลปินต้องการสื่อสารคือ "การตระหนักรู้ถึงคุณค่าของช่วงเวลาเล็กๆ ที่มักถูกมองข้าม" ผ่านภาษาของจิตสำนึก ความเปลี่ยนแปลงภายใน และการอยู่กับปัจจุบัน ผลงานของศิลปินจึงเต็มไปด้วยอารมณ์ที่ละเอียดอ่อน แฝงด้วยแง่คิดเชิงปรัชญาเกี่ยวกับความไม่จีรังและการไหลเวียนของชีวิต ซึ่งผู้ชมสามารถตีความได้อย่างอิสระตามประสบการณ์ของตนเอง

"กระบวนการทำงานของปิยะมีลักษณะเฉพาะที่เน้น "การฟังเสียงจากภายใน" ศิลปินไม่ได้เริ่มต้นจากแบบร่างหรือแนวคิดที่ตายตัว แต่ปล่อยให้ความรู้สึกในช่วงเวลานั้นๆ เป็นผู้นำทางการเคลื่อนไหวของมือ สี และเส้น การใช้เทคนิคเลเยอร์ซ้อนทับ การปล่อยให้สีไหลซึมและเคลื่อนไหวอย่างเป็นธรรมชาติ คือส่วนหนึ่งของกระบวนการที่เปิดให้สิ่งที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นอย่างเป็นอิสระ ซึ่งทำให้แต่ละชิ้นงานมีลมหายใจของตัวเองและเชื่อมโยงกับภาวะภายในของศิลปินในช่วงเวลานั้น"

  • VAYUPAD Solo Exhibition: The Sculptor's Room

ศิลปิน: วายุพัด รัตนเพชร

ภัณฑารักษ์: อวภาส์ เผยศิริพัฒน์

วายุพัด ชวนคุณไปสำรวจพื้นที่แห่งจินตนาการและประติมากรรมสุดสร้างสรรค์ ที่เชื้อเชิญให้ผู้ชมได้สัมผัสและตีความผ่านความงามและความหมายที่ซ่อนอยู่ในมิติทางกายภาพ ประติมากรรมแนว Figurative ของศิลปินเกิดจากการผสมผสานความสมจริงตามแนวAcademic Realism เข้ากับความงามในอุดมคติ ที่ได้แรงบันดาลใจจากศิลปะตะวันตกคลาสสิกและศิลปะไทยประเพณี ประติมากรรมของวายุพัดจึงเป็นให้ความรู้สึกราวกับการสำรวจสมดุลระหว่างความจริงและอุดมคติ ซึ่งถ่ายทอดอารมณ์ ประสบการณ์ และความซับซ้อนของการเป็นมนุษย์

"ผมเกิดมาในครอบครัวศิลปินครับ คุณพ่อ (อาจารย์ สมชาย ศุภลักษณ์อัมไพพร) ทำงานเกี่ยวกับศิลปะไทย ส่วนคุณลุงสร้างประติมากรรมชิ้นใหญ่อย่างอนุสาวรีย์ ผมเลยซึมซับเทคนิคการสร้างงานศิลปะแบบไทยๆ และศิลปะตะวันตกมาตั้งแต่เด็ก นิทรรศการในครั้งนี้ผมนำความเชื่อเรื่องเทพเจ้าของคนไทยมาสร้างสรรค์ในรูปแบบประติมากรรมตะวันตก โดยมีผลงานไฮไลท์คือ 'Vishnu' (วิษณุ) ได้แรงบันดาลใจมาจากรูปปั้นสัมฤทธิ์กรีกโบราณที่เพิ่งค้นพบในทะเลของกรีซ ผมจึงนำเทคนิคในการสร้างรูปปั้นเทพเจ้ากรีกโรมันโบราณมาผสมผสานกับเทพเจ้าของฮินดูตามความเชื่อของคนไทย"

รายละเอียดทางกายวิภาคของรูปปั้นกรีกโบราณถูกแสดงออกมาด้วยความแม่นยำ ไม่ว่าจะเป็นริมฝีปาก เส้นเลือดและหลอดเลือดแดงก็ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัด กล้ามเนื้ออันทรงพลังของรูปปั้นสะท้อนให้เห็นทั้งความแข็งแกร่งและความสมบูรณ์แบบของรูปร่างมนุษย์ เมื่อนำมาผสมผสานกับเทพเจ้าตามหลักความเชื่อของฮินดู ผลงานของวายุพัดจึงแตกต่างจากนิทรรศการอื่นๆ ภายในงานอย่างเห็นได้ชัด ดังจะเห็นได้จากการเลือกประติมากรรมต้นแบบจากปูนปลาสเตอร์ นำมาจัดแสดงในบรรยากาศจำลองความเป็นสตูดิโอทำงานของศิลปิน บอกเล่าผ่านมุมมองของภัณฑารักษ์ที่ว่า

"ศิลปินได้นำโต๊ะปั้นงาน ตะไบ เครื่องมือปั้น และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้งานจริงมาจัดแสดง ให้ความรู้เหมือนคุณก้าวเข้าสู่โลกในการทำงานและจินตนาการของศิลปิน ผลงานของวายุพัดให้ความรู้สึกตอบโต้โดยตรงกับจินตนาการและความรู้สึกของผู้ชม จึงแตกต่างจากการชมผลงานประติมากรรมของตะวันตกทั่วไปค่ะ ซึ่งเราจะสัมผัสได้ผ่านความสดใหม่ของประติมากรรมต้นแบบ (ปูนปลาสเตอร์) จึงมองเห็นรอยนิ้วมือและร่องรอยต่างๆ ที่ศิลปินหลงเหลือไว้บนชิ้นงาน"

  • 'Escapeeeeeee' Duo Exhibition

ศิลปิน: รักฟ้า ชาตินรินทร์ และ ทวีศักดิ์ รอมนี

ภัณฑารักษ์: วิชชาพร ต่างกลาง

นิทรรศการที่มีชื่อไทยเท่ๆ ว่า "หนีเพื่ออยู่" สื่อถึงศิลปะเพื่อการเยียวยาจิตใจในวันที่โลกทั้งใบใจร้ายกับเรา เมื่อเสียงจากภายนอกดังพอที่จะกลบเสียงจากภายใน ศิลปินจึงชวนคุณหลบไปฮีลใจแล้วกลับมาดิ้นรนใหม่ในโลกอันโหดร้าย การขอเวลานอกมาสร้างโลกเสมือนเพื่อ "หลีกหนี" สำหรับบางคน ไม่ใช่ว่าพวกเขาขี้แพ้ แต่มันคือวิธีการที่เขาจะรักษาสมดุลสภาพจิตใจเขาให้อยู่รอดได้โดยไม่แตกสลาย

"สิ่งที่เราเจอมาตลอด คือต่อให้พูดความจริงก็ไม่น่ารักอยู่ดีถ้าอีกฝ่ายไม่อยากรับฟัง เราเลยเลือกที่จะนิ่งเฉยแทนการตอบโต้ และเก็บความรู้สึกเจ็บปวดเหล่านั้นมาสร้างสรรค์งานศิลปะ เพราะการใช้เวลาอยู่กับงานศิลปะช่วยให้เราฮีลใจตัวเองให้ดีขึ้น ครั้งนี้ผมเลยใช้เทคนิค Pointillism (ศิลปะที่สร้างจากการจุด) เป็นเหมือนโปรเจ็กต์ทดลองของตัวเองด้วยครับ"

ทวีศักดิ์ เล่าถึงแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์คาแร็กเตอร์ 'Lazy Man' ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากคำกระทบกระเทียบ เขาจึงนำความเจ็บปวดนั้นมาแปรเปลี่ยนเป็นผลงานศิลปะที่มีคาแร็กเตอร์โดดเด่น ขณะที่ รักฟ้า เจ้าของฉายา 'Laliryn' ผู้สร้างโลกในจินตนาการ โลกที่มนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั้งหลายต่างก็มีรูปร่างผิดเพี้ยนไปจากความจริง

"เราอยากสร้างโลกอีกใบขึ้นมาเป็นพื้นที่ที่เราสามารถเป็นตัวเองได้ 100% และเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่สามารถเยียวยาจิตใจของเราให้ดีขึ้น นิทรรศการในครั้งนี้เราเปลี่ยนเทคนิคจากภาพพิมพ์เป็นภาพเพนท์ที่ทำให้มีอิสระในการทำงานศิลปะมากขึ้น มีการใช้สีไม้ในบางจุดที่ไม่ค่อยมีใครใช้ เพื่อให้เกิดความแปลกใหม่ในผลงาน เราจึงอยากให้ผู้ชมสังเกตคาแร็กเตอร์ของตัวละครและพฤติกรรมของพวกเขา ซึ่งเกิดจากการผสมผสานบางสิ่งที่ไม่น่าอยู่ร่วมกันได้"

ต้องขอบคุณ นนนี่-วิชชาพร ต่างกลาง ภัณฑารักษ์ผู้หลงใหลในศาสตร์ละครเวที คนต้นเรื่องที่ทำให้ 'รักฟ้า' และ 'ทวีศักดิ์' โคจรมาพบกันเป็นครั้งแรก ด้วยความบังเอิญที่โลกในจินตนาการของทั้งคู่ดูจะสอดประสานเข้ากันได้ดี ในวันที่ทวีศักดิ์เจ็บปวดจากโลกแห่งความเป็นจริง รักฟ้าก็สร้างโลกในจินตนาการขึ้นมา เพื่อเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่เราทุกคนต่างสามารถหลบเข้าไป 'ฮีลใจ' เพื่อให้พร้อมออกมาเผชิญกับโลกอีกครา

"ศิลปินทั้งสองมีคอนเซ็ปต์ในการสร้างสรรค์ผลงานที่คล้ายกัน Lazy Man นำคำพูดกระทบกระทั่งและ Toxic จากโลกภายนอกมาแปลงเป็นตัวตนในผลงาน ส่วนรักฟ้าสร้างตัวละครแปลกๆ และกฎเกณฑ์ในโลกของตัวเองขึ้นมา ในเมื่อเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกแห่งความจริง รักฟ้าจึงใช้ศิลปะในการสร้างโลกเสมือนจริงขึ้นมา เพื่อใช้เยียวยาบำบัดความรู้สึกของผู้คน ที่ได้รับความเจ็บปวดและเหนื่อยล้าจากโลกแห่งความจริง เหมือนเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ศิลปินทั้งสองสร้างขึ้นมาสำหรับทุกคน เพื่อหลีกหนีและอยู่รอดต่อไปในแบบของตัวเอง"

สำหรับบางคนแล้ว พื้นที่ภายในกรอบเฟรมเล็กๆ อาจเป็นพื้นที่เดียวที่ศิลปินจะยังคงสามารถเป็นตัวเองได้อย่างมีอิสระ นี่อาจเป็นวิธีการหนึ่งของมนุษย์ที่ตั้งใจมีชีวิตอยู่ ในโลกที่ไม่เคยบอกเราวา เราควรอยู่ตอไปอย่างไร

นอกจากนี้ ภายในโซน Special Exhibition ยังจัดแสดงนิทรรศการของ 2 ศิลปินสาวที่มีสไตล์การทำงานที่โดดเด่นและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่าง วัณณิตา ตันเก่ง พร้อมผลงานภาพเขียนสีน้ำมันที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเจ้าหญิงในดิสนีย์ ได้แก่ Snow White, Ariel, Jasmine และ Belle รวมถึงผลงานของ สุชญา ทองรมย์ ศิลปิน Creative Artist ยุคใหม่ที่มีแนวความคิดแตกต่างและสะท้อนตัวตนออกมาได้อย่างชัดเจน ผ่านคาแร็กเตอร์ที่มีชื่อว่า 'byBamBam' เน้นการใช้สีสันสดใส การคัดเลือกพาเลตต์สีที่สัมพันธ์ไปกับเรื่องราวและคอนเซ็ปต์ในการสร้างสรรค์ผลงาน หรือแม้แต่การสร้าง meme เชิงเสียดสีและจิกกัดเบาๆ จนได้รับความสนใจในโซเชียลได้อย่างรวดเร็ว

ผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการพิเศษได้ในงาน Mango Art Festival 2025 จัดแสดงที่ River City Bangkok ระหว่างวันที่ 7 - 11 พฤษภาคม 2568 เข้าชมฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย เพียงลงทะเบียนหน้างาน พร้อมอัปเดตทุกความเคลื่อนไหวของงานได้ที่https://www.facebook.com/MangoArtFestival และ IG:


แท็ก ศิลปิน   ศิลปะ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ