
วันที่ 23 เมษายน 2568 นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้การต้อนรับคณะกลุ่มครอบครัวเหล็ก Generation 2 เพื่อหารือแนวทางการส่งเสริมและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเหล็กไทย โดยมีนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ประธานคณะที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ด้านยุทธศาสตร์ นางสาวไพลิน เทียนสุวรรณ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม นายบรรจง สุกรีฑา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายภัทรพล ลิ้มภักดี รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมเข้าร่วม ณ ห้องประชุม อก.1 ชั้น 2 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
ที่ประชุมได้หารือแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กไทยให้แข่งขันได้อย่างยั่งยืน ทั้งในด้านคุณภาพ มาตรฐานสินค้า และการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ผู้ผลิตหันมาใช้เตาอาร์คไฟฟ้า (Electric Arc Furnace - EAF) แทนเตา IF ซึ่งมีข้อจำกัดในการควบคุมคุณภาพ และสร้างมลพิษมากกว่า รวมถึงส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้ใช้สินค้าที่ได้มาตรฐานเพื่อความปลอดภัยซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
รัฐมนตรีฯ เอกนัฏ กล่าวว่า ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง ได้เร่งขับเคลื่อนนโยบาย "ชุดปฏิบัติการตรวจสุดซอย" ได้ดำเนินการตรวจสอบและอายัดเหล็กไม่ได้มาตรฐานจากหลายบริษัท รวมถึงกรณีของ SKY ที่แม้ได้รับ มอก. ตั้งแต่ปี 2561 แต่พบว่าเป็นเหล็กที่ผลิตจากเตา IF ซึ่งควบคุมคุณภาพได้ยาก และจากข้อมูลสมาคมผู้ผลิตเหล็กและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พบว่า ปี 2567 ประเทศไทยมีกำลังการผลิตเหล็กด้วย EAF ถึง 4.3 ล้านตัน มากกว่าความต้องการใช้เหล็กเส้นในประเทศที่อยู่ที่ 2.8 ล้านตัน จึงเห็นพ้องร่วมกันว่าถึงเวลาที่ควรพิจารณายกเลิกการใช้และรับรองเหล็กจากเตา IF นอกจากนี้ อีกหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่ซ่อนอยู่ในระบบอุตสาหกรรมไทย คือ "ธุรกิจ 0 เหรียญ" ซึ่งเป็นธุรกิจที่อาศัยช่องโหว่ของระบบภาษีและกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อดำเนินกิจการโดยไม่เสียภาษี หรือขายสินค้าในราคาต่ำกว่าทุนอย่างผิดปกติ ซึ่งธุรกิจลักษณะนี้บิดเบือนกลไกตลาด สร้างการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม และที่สำคัญคือ ทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสทางธุรกิจและรายได้มหาศาล รวมถึงบั่นทอนความมั่นคงของภาคการผลิตในประเทศ
"ผมขอเป็นกำลังใจให้ผู้ประกอบการเหล็กไทยทุกท่าน ที่ยังยืนหยัดพัฒนาคุณภาพสินค้าท่ามกลางการแข่งขันที่ท้าทาย และขอให้มั่นใจว่ารัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรมจะไม่ละเลยทุกปัญหา เราเต็มที่กับทุกเรื่อง เพื่อให้ทุกกิจการสามารถแข่งขันกันได้อย่างเท่าเทียม โปร่งใส และยั่งยืน" นายเอกนัฏ กล่าว
ด้าน ดร.เพิ่มศิลป์ ยงวงศ์ไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพิ่มสินสตีลเวิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PERM ในฐานะประธาน "กลุ่มครอบครัวเหล็ก Generation 2" และตัวแทนอุตสาหกรรมเหล็กรุ่นใหม่ ย้ำถึงความพร้อมของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่จะร่วมมือกับภาครัฐในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเหล็กไทยสู่อนาคตอย่างยั่งยืน ด้วยการลงทุนในเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการผลักดันมาตรฐานคุณภาพอย่างจริงจัง เพื่อให้สินค้าเหล็กไทยสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล พร้อมเน้นย้ำบทบาทสำคัญของการกำจัดธุรกิจผิดกฎหมาย "0 เหรียญ" ที่บิดเบือนกลไกตลาดและทำลายความยั่งยืนของอุตสาหกรรม
